กฎหมายของเผด็จการในยุคแรก
ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ตั้งแต่ ๒๐ ตุลาคม ปี ๒๕๐๑ ถึงวันก่อนประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรลงวันที่ ๒๘ มกราคม ปี ๒๕๐๒ มีการประกาศคณะปฏิวัติรวมทั้งสิ้น๕๗ ฉบับ
ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ถึงวันที่๑๕ ธันวาคม ปี ๒๕๑๕ อันเป็นวันประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๑๕ มีประกาศของคณะปฏิวัติจำนวนมากถึง ๓๖๔ ฉบับ
ยุค พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า“คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” โดยมี คำสั่งและประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนับเข้าด้วยกันแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๔๙ ฉบับ
ตามประกาศและคำสั่งตั้งแต่ยุคที่ ๑, ๒ และ ๓ สามารถนับได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๔๗๐ ฉบับด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดีประกาศบางฉบับหรือบางคำสั่งก็มีฐานะเป็นเพียงแถลงการณ์หรือประกาศนโยบายมิได้มีสภาพเป็นกฎหมายในลักษณะเช่น พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี มีข้อที่ควรจะสังเกตได้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ดังนี้
ในประกาศของคณะปฏิวัติยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้านั้นประกาศของคณะปฏิวัติมีจำนวนถึง ๓๖๔ ฉบับ และในจำนวน ๓๖๔ ฉบับนี้มีประกาศคณะปฏิวัตินับได้จำนวนมากมายหลายสิบฉบับที่คณะปฏิวัติได้รวบรัดรีบเร่ง ประกาศใช้ให้ทันเวลาก่อนที่จะมีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้าประกาศช้าไป จะต้องนำประกาศต่างๆ ดังกล่าวนั้นผ่านขบวนการนิติบัญญัติซึ่งได้แก่สภานิติบัญญัติปแห่งชาติตามธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เผด็จการนั้นมีความรังเกียจกลัว และไม่ไว้ใจพยายามหลีกเลี่ยงระบบรัฐสภา แม้ว่าองค์ประกอบของสภานั้นคณะของตนจะเป็นผู้วางรูปแบบและแต่งตั้งขึ้นมาก็ตาม
จากพยานหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการ คือราชกิจจานุเบกษาแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคมถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ปี ๒๕๑๕ ระยะเวลาเพียง ๑๐ วัน คณะปฏิวัติใช้ความสามารถเป็นพิเศษประกาศกฎหมายออกมาได้ถึงจำนวน ๗๔ ฉบับ กล่าวคือตั้งแต่ฉบับที่ ๒๙๑ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ถึงฉบับที่ ๓๖๔ อันเป็นฉบับสุดท้าย ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
และจะต้องจารึกไว้เป็นประวัติถึงความสามารถในการบัญญัติกฎหมายของคณะปฏิวัติชุดนี้ เพราะในวันที่๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ เพียงวันเดียว คณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ใช้ความสามารถอันเป็นอัศจรรย์ ประกาศใช้คำสั่งของคณะปฏิวัติได้ถึง๖๔ ฉบับ
และมีข้อสังเกตอันควรบันทึกไว้ในวงการตุลาการด้วยว่า เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๕ จอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ประกาศกฎหมายของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๙ แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งในวงการกฎหมายได้ขนานนามกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายโบว์ดำ” เพราะประกาศของคณะปฏิวัติฉบับ “โบว์ดำ” นี้เองได้สร้างความสั่นสะเทือนในความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งจะต้องถูกก้าวก่ายโดยอำนาจของฝ่ายบริหาร ตามประกาศของคณะเผด็จการนั้น ผลที่สุดสภานิติบัญญัติได้ตราพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายโบว์ดำฉบับนั้น เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ปี ๒๕๑๕ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้จึงมีอายุเพียง ๑๔ วันเท่านั้น เพราะมีหลักการที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย ในอันที่จะปรับปรุงกิจการศาลยุติธรรมให้เจริญก้าวหน้า และขัดกับหลักความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของตุลาการ
๕.ข้อเสนอการสังคายนาในเนื้อหา
การเสนอให้มีการสังคายนาประกาศของคณะปฏิวัติและของคณะปฏิรูปนั้น มิได้หมายความว่าจะประสงค์ให้ยกเลิกบทกฎหมายในรูปแบบของประกาศดังกล่าวนั้นเสียทั้งหมด เพราะบทบัญญัติส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นกฎหมายที่ได้มีการผ่านการกลั่นกรองตรวจสอบมาจากองค์กรที่เกี่ยวข้องและยังอาจใช้เป็นหลักกฎหมาย เพื่อนำมาบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่อย่างไรก็ดี โดยที่ประกาศคณะปฏิวัติบางส่วนได้มีการรวบรัดประกาศใช้ เพื่อความประสงค์เป็นพิเศษของอำนาจเผด็จการอันมีส่วนหนึ่งที่มีผลเป็นการกำจัดเสรีภาพของประชาชน หรือเป็นการขัดขวางการขาดความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นประกาศใช้ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนเองของบริวารอันขอหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างบางเรื่อง เช่น
(๑) ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๙ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้ยกเลิกบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน-โดยจำนวนจำกัด ผลของการยกเลิกจึงเป็นว่าในปัจจุบันนี้ผู้มีเงินก็อาจจะเป็นเจ้าของตำบล อำเภอ จังหวัดและในที่สุดเป็นเจ้าของประเทศไทยได้
(๒) ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๔ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ อันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินมีส่วนที่สมควรจะได้รับการปรับปรุงในเรื่องการขาดความคล่องตัวในการรักษาราชการแทน และในการปฏิบัติราชการแทน ตลอดจนอำนาจและโครงสร้างของผู้ว่าราชการจังหวัด
(๓) ในสมัยของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อันมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปนั้นก็มีคำสั่งของคณะปฏิรูปบางฉบับที่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนสากล เช่น คำสั่งของคณะปฏิรูป ฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกัน การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
(๔) คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๘ และฉบับที่ ๑๔ ที่กำหนดให้บรรดาคดีที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ซึ่งทำให้จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกาตามหลักประกันที่กฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้
และยังมีประกาศของคณะปฏิรูปฉบับที่ ๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ได้จำกัดและบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ
ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยที่ควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในส่วนของเนื้อหา
ข้อเสนอการสังคายนาโดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ
ในเรื่องรูปแบบนั้น ดังได้กล่าวไว้แต่ตอนต้นแล้วว่า ประกาศของคณะปฏิวัติหรือคำสั่งของคณะปฏิรูป แม้มีผลบังคับในทางกฎหมาย แต่รูปแบบนั้นได้ผิดแผกแตกต่างกับธรรมเนียมประเพณีอันเป็นนิติตามหลักพระธรรมศาสตร์ ถ้าเรายังเคารพหลักพระธรรมศาสตร์อันเป็นโบราณราชนิติเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล และสอดคล้องกับหลักการนิติบัญญัติสากลแล้ว เราก็ควรที่จะเปลี่ยนชื่อประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติและของคณะปฏิรูปนั้นให้เป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาสุดแล้วแต่รูปแบบของประกาศเหล่านั้น
การสังคายนาทั้งเนื้อหา และรูปแบบของประกาศของคณะปฏิวัติและของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรจะทำเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยังเป็นการยืนยันว่า ชาติไทยไม่สมควรลดเกียรติของบทกฎหมายอันมีชื่อตามโบราณราชนิติมาเป็นเพียงประกาศของเผด็จการ ทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพและพระราชปรารภในการตรากฎหมายตราสามดวงของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ที่มีข้อความอัญเชิญมาดังนี้
“ทรงพระอุตสาหะ ทรงชำระดัดแปลง ซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรม”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
หมายเหตุ
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งและประกาศของ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น การรัฐประหารครั้งนี้เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ได้มีการออกแถลงการณ์ และประกาศของคณะรสช. เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งและบางฉบับก็มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งมีทั้งที่ประกาศใช้เป็นกฎหมายใหม่ การยกเลิก การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติและการออกคำสั่งทางกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๕๖ ฉบับ
คำสั่งของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”(คปค.) มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ระหว่าง คปค. บริหารประเทศ มีการออกแถลงการณ์และคำสั่งทั้งหมด ๓๗ ฉบับ
คำสั่งและประกาศ ของ“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะ อีกจำนวนหลายร้อยฉบับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี