การทูตตามแบบแผนประเพณีต้องมีกรอบมีกฎและมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะการทูตคือการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติขั้นสูงสุดเอาไว้ กล่าวโดยสรุปคือนักการทูตเป็นผู้สร้างสันติภาพ สร้างความร่วมมือ และยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เป็นคู่เจรจาโดยผ่านการเจรจาอย่างสันติ โดยมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้เกิดผลดีสูงสุดต่อประเทศ และขณะเดียวกันก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศคู่เจรจาดำเนินการ และดำเนินนโยบาย แล้วปฏิบัติการ รวมถึงมีทัศนคติที่ไปในแนวทางสนับสนุนประเทศต้นสังกัดของนักการทูต แต่ในขณะเดียวกันนั้น หากเกิดความขัดแย้งใดๆ ขึ้นมา ก็ต้องยึดหลักการเจรจาเพื่อหาหนทางลดและขจัดความขัดแย้งลงโดยยึดหลักการเจรจาด้วยสันติวิธีและการประนีประนอม
แต่จากข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนบางแขนงในขณะนี้ว่าทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ได้เปลี่ยนสภาพเป็นนักโทษคดีอาญาแผ่นดินที่อยู่ในระหว่างการพักโทษได้พบปะหารือกับอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยข่าวระบุว่าทั้งคู่น่าจะหารือกันในเรื่องที่อันวาร์เชิญทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวเรื่อง ASEAN เพราะว่าอันวาร์จะขึ้นไปรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของ ASEAN ในช่วงปี 2568
ถามว่าผิดไหมที่อันวาร์เชิญทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ตอบว่าไม่ผิด แต่หากถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องตอบตรงๆ ว่าเรื่องนี้ดูทะแม่งๆ และค่อนข้างพิลึกมาก เพราะอันที่จริงแล้วทักษิณมีสถานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย แต่ก็มีอีกสถานะหนึ่งคือเป็นนักโทษคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพักโทษ แต่หากอันวาร์ต้องการคำแนะนำจากทักษิณในเรื่อง ASEAN ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว เพราะสามารถโทรศัพท์หารือกันและกันได้ตลอดเวลา เพราะต่อให้ตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของอันวาร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าทักษิณจะมีอำนาจใดๆ ในการเข้าไปจัดการหรือกำหนดทิศทางของ ASEAN ได้ เนื่องจากประธานโดยตำแหน่งหมุนเวียนของ ASEAN เป็นเพียงการสลับสับเปลี่ยนเวียนกันขึ้นไปเป็นประธานของ ASEAN โดยประเทศสมาชิกในแต่ละปี ซึ่งไล่ตามลำดับอักษรชื่อประเทศ
ส่วนข่าวที่ว่าทักษิณไปพบอันวาร์ในเขตมหาสมุทรอินเดีย โดยทั้งคู่พบปะหารือกันในเรือ ก็เป็นข่าวที่ต้องบอกว่าสุดแสนพิสดาร เพราะดูเสมือนว่าลักลอบพบปะเจรจากัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าสาเหตุที่ต้องทำเสมือนลักลอบพบกัน ก็เพราะทักษิณไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตพระราชอาณาจักรไทยได้ เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากศาล เนื่องจากทักษิณยังมีสถานภาพนักโทษ แต่ครั้นจะให้อันวาร์เดินทางเข้ามาในไทยเพื่อมาเจรจากับทักษิณ ก็ดูเป็นการลดตัวมากไป เนื่องจากอันวาร์มีสถานภาพนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าข่าวนี้เป็นเรื่องสุดพิสดารจริงๆ เพราะเป็นการกระทำที่เสมือนลักลอบ ราวกับว่ากำลังกระทำเรื่องผิดกฎหมาย แต่ที่เป็นประเด็นคำถามอีกข้อหนึ่งคือ ทำไมอันวาร์จึงตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์การตั้งที่ปรึกษานั้นไม่มีใครเขาตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีของอีกประเทศหนึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีของอีกประเทศ แต่สำหรับกรณีของทักษิณนั้นก็พอเข้าใจได้ เพราะทักษิณเคยรับตำแหน่งที่ปรึกษาของฮุนเซน แห่งกัมพูชามาแล้ว แต่นั่นเป็นการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งในสมัยที่ทักษิณยังหนีคดีอาญาแผ่นดิน ซึ่งคอการเมืองก็เข้าใจว่าเหตุที่ฮุนเซนตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาเพราะจะได้ให้ทักษิณใช้เป็นข้ออ้างได้ในเวลาที่ทักษิณเดินทางเข้าไปในกัมพูชา แล้วใช้กัมพูชาเป็นแหล่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อหวังก่อเหตุปลุกระดมพลพรรคคนเสื้อแดงในประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี