การปกครองชาติบ้านเมืองนั้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่จะทำให้ชาติอยู่รอดปลอดภัยและราษฎรอยู่อย่างเป็นสุขนั้น ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้อง ปกป้องบ้านเมือง มีความรู้ความสามารถ มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ ซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพื่อให้สังคมของความเป็นชาติเป็นสังคมที่สงบสุขและชาติมีความเจริญก้าวหน้า
หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะพบว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองชาติตั้งแต่การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันนี้ เกือบจะทุกพระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยความที่จะเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ที่ได้รับสมัญญานามว่า มหาราช
ในยุคแรกของการก่อตั้งชาติไทยนั้น พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานทั้งในเรื่องของความรู้ความสามารถ ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวในการรบ ความมีพระวิสัยทัศน์
รวมทั้งพระมหากรุณาธิคุณ ในการที่จะทำให้ประชาชนในชาติอยู่อย่างเป็นสุข และชาติมีความเจริญรุ่งเรือง คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชพระองค์แรกของชาติไทย
พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้ทรงก่อตั้ง อาณาจักรสุโขทัย ดำรงพระชนม์ชีพตั้งแต่ ปีพ.ศ ๑๘๘๒ ถึง ๑๘๔๑ พระองค์ทรงสร้างอาณาจักรสุโขทัยซึ่งถือเป็นอาณาจักรแรกของชาติให้เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ มีอาณาเขตประเทศกว้างขวาง มีความเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งการค้ากับต่างประเทศ และความเจริญของศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมเป็นช่วงที่อาณาประชาราษฎร์อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขยิ่ง
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของชาติไทยที่ดำรงมามากกว่า ๗๐๐ ปีโดยคณะบุคคลที่เรียกว่าคณะราษฎร์ ได้ก่อการปฏิวัติยึดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ทำให้บทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ปกครองประเทศเปลี่ยนไป ถึงแม้รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติที่เขียนไว้ว่าประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ตาม
นับจนถึงปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีผู้ที่นำบริหารบ้านเมืองที่เรียกกันว่านายกรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น ๓๑ คน เป็นสตรีเพศ ๒ คน รวมทั้งคนที่มาจากตระกูลเดียวกันอีก ๑ คน เมื่อนับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาประมาณ ๙๐ ปีเศษนั้นมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ๑๓ ครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าระบอบประชาธิปไตยโดยการนำของนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาของการบริหารของนายกฯ บางคนนั้น ได้เกิดปัญหาบางประการขึ้น จนต้องมีรัฐประหาร
จึงมีประเด็นว่าคณะรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ แต่ละสมัย ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนได้ปฏิบัติตาม “หน้าที่ของรัฐ” ด้วยความรับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
กำหนดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉะบับนี้ได้ระบุถึงหน้าที่ไว้ ๒ เรื่องใหญ่ ดังนี้
๑.๑ “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน”
๑.๒ “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”
๒. หน้าที่ของรัฐในการทำให้สิทธิของประชาชนเกิดผลได้จริง ดังนี้
๒.๑ “หน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการศึกษา” เป็นเวลา ๑๒ ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐ ยังมีทำหน้าที่ พัฒนาเด็กเล็กก่อนเข้ารับการศึกษาภาคบังคับในด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัย
๒.๒ “หน้าที่ด้านบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน” รัฐต้องให้บริการสาธารณสุข ที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและมีมาตรฐาน พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค
๒.๓ “หน้าที่ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน” รัฐต้องดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง พัฒนาโครงสร้างหรือเครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงของรัฐ และรัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ ๕๑ มิได้ ทั้งต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชน
๒.๔ “หน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม” ให้เป็นหน้าที่ของรัฐและรับรองสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๒.๕ “หน้าที่ด้านการพิจารณาอนุญาตต่อการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชน” รัฐต้องดำเนินการเรื่องนี้โดยประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม กรณีที่มีผลกระทบเกิดขึ้นรัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้อย่างเป็นธรรม
๒.๖ “หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ” ทั้งนี้ไม่รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือความลับของทางราชการ โดย ประชาชนมีสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูล
๒.๗ “หน้าที่รักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ” โดยการจัดการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ ภายใต้การรับผิดชอบขององค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระ ในส่วนของวงโคจรของดาวเทียมถือเป็นสมบัติของชาติ ที่รัฐต้องดูแลให้เกิดประโยชน์ด้วย
๒.๘ “หน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค” ให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลที่เป็นจริงด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญาหรือด้านอื่นใด คุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ
๒.๙ “หน้าที่รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลัง ของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ จัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม
๒.๑๐ “หน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน” จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้
ฉะนั้นผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามจะต้องศึกษาเรื่องหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ให้ครบถ้วน จะเชื่อได้หรือไม่ว่าคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันทุกคนรวมทั้งผู้ที่เป็นนายกฯด้วยได้เคยอ่านศึกษาเรื่องนี้ เพราะเมื่อพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาประมาณ ๔ เดือน ที่ได้มีการแถลงไปแล้วนั้น ไม่ได้เห็นถึงความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ในเรื่องเหล่านี้
ในส่วนของ“หน้าที่พื้นฐาน” ได้แก่การรักษาเอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิ์อธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ อย่างเช่นกรณี MOU ๔๔ ซึ่งเกี่ยวกับพื้นที่ของเกาะกูด ที่ประชาชนคนไทยเห็นควรให้ยกเลิก ก็ยังคงมุ่งจะดำเนินการ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องที่โยงไปถึงผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ของชาติด้วยหรือไม่
ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนว่าได้มีความพยายามออกกฎระเบียบ เพิ่มเติมเพื่อเอื้ออดีตนักการเมืองที่มีปัญหาเรื่อง ทุจริตคอร์รัปชั่นต่อบ้านเมือง ให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษโดยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ไม่สาสมกับการโกงกินประเทศชาติ
ในส่วนของ “หน้าที่ของรัฐในการทำให้สิทธิของประชาชนเกิดผลได้จริง” ก็เป็นประเด็นอยู่หลายเรื่อง เช่น ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าที่ยังเป็นภาระของประชาชน รวมทั้งค่าน้ำมันและแก๊ส ซึ่งถึงแม้จะมีแหล่งขุดเจาะในประเทศ แต่ก็ยังมีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น และถึงแม้จะมีรัฐมนตรีบางท่านที่รับผิดชอบ พยายามจะปรับลดในส่วนนี้ กลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกต่อต้าน
และที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการกระทำที่ดูเหมือนจะไม่รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งทำให้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่ไม่อาจจะได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงและเป็นผลดีกว่าที่เคยเป็นอยู่
ปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๖๘ กำลังจะมาถึง ก็หวังว่ารัฐบาลจะกลับไปย้อนมองตัวเอง และทบทวนว่าได้ปฏิบัติในส่วนหน้าที่ของรัฐตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ หากท่านกำลังทำเพื่อชาติจริง ก็หวังว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาจะถูกนำมาดำเนินการให้ดีขึ้นในปี ๒๕๖๘ ซึ่งน่าจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดต่อประเทศชาติและประชาชน
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี