ศึกยึดวังบางขุนพรหมผ่านพ้นปี 2567 ฝ่ายการเมืองยังเข้าไปยึดครองไม่ได้เบ็ดเสร็จ แบงก์ชาติยังรอดไปได้
การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ยังต้องเริ่มกันใหม่ในปี 2568
น่าคิดว่า อนาคตธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?
ฝ่ายการเมืองยังมีเป้าหมายจะเข้าไปครอบงำ ยึดครอง ธปท. อย่างไร? และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประเทศไทยโดยรวมอย่างไร?
1. ตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. เป็นเพียงก้าวแรกสำหรับฝ่ายการเมืองเท่านั้น
ถ้ามองย้อนกลับไป จะเห็นท่าที คำพูด และพฤติการณ์ที่สะท้อนความต้องการของฝ่ายการเมืองเครือข่ายระบอบทักษิณ พุ่งเป้าใส่ ธปท.มาโดยตลอด
ไล่มาตั้งแต่ระดับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือ นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ ก็เคยโจมตีแบงก์ชาติรุนแรงมาก่อน คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง คุณพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลังคนปัจจุบันก็แสดงความประสงค์ทั้งเรื่องดอกเบี้ย ทุนสำรองฯ ฯลฯ
มองว่า ฝ่ายการเมืองย่อมหวังแทรกแซงครอบงำเพื่อใช้กลไกที่ ธปท.ดูแลอยู่ (อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ทุนสำรองฯ ผ่อนคลายการคุมสินเชื่อ ฯลฯ) ผลักดันนโยบายประชานิยม หวังผลทางการเมืองก่อนเลือกตั้งปี 2570
ปี 2568 แน่นอนว่า หากฝ่ายการเมืองยังไม่ลดละ ก็คงจะสุ่มเสี่ยง เกิดข้อขัดแย้ง เกิดเงื่อนไขบางอย่างต่อเนื่อง
2. ในปี 2568 นอกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตาม อาทิ
การกำหนดนโยบายการเงิน ฝ่ายการเมืองต้องการดอกเบี้ยต่ำ ลดลงแรงและเร็วกว่านี้ เพื่อลดต้นทุนของผู้กู้ และต้องการให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อประโยชน์แก่ภาคส่งออก
ท่องเที่ยว
การแก้กฎหมาย ธปท. โดยต้องการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่บัญชีบริหารหนี้ของ ธปท. แทนการอยู่กับกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลกู้ หรือตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น เพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้รัฐบาลกู้เงินมาทำโครงการต่างๆ อีกหลายแสนล้านบาท
การนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ประโยชน์อื่น อาทิ นำมาทำกองทุนลงทุนแสวงหาผลประโยชน์ หรือนำมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือนำมาทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ฯลฯ ถึงขั้นมีการพูดว่าทุนสำรองฯที่มีอยู่ตอนนี้เยอะเกินไปเกิดผลเสีย
การสรรหาผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ หลัง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒ จะครบวาระตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ในปี 2568 โดยตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
ต้องติดตามว่า ฝ่ายการเมืองจะสนับสนุนใครขึ้นมาเป็น ผู้ว่าการ ธปท. (แม้ ดร.เศรษฐพุฒิจะเป็นได้อีกวาระ)
3. ความจริง ธปท.ไม่ได้เป็นรัฐอิสระ ไม่ได้อิสระจากรัฐบาลแบบที่ไม่สามารถประสานทำงานร่วมได้
เพียงแต่ ธปท.จะไม่ถูกสั่งการได้เหมือนหน่วยงานอื่นๆ เพราะถ้าให้นักการเมืองสั่ง ธปท.พิมพ์ธนบัตรเพิ่มได้ หรือสั่งให้ลดดอกเบี้ยยังไงก็ได้ หรือสั่งให้เอาเงินทุนสำรองฯ ออกมาใช้ประชานิยมโดยไม่สนใจเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ประเทศชาติก็คงจะฉิบหายแน่นอน
ระบบและกฎหมายที่มีอยู่ ธปท.กับรัฐบาล ก็มีกลไกประสานเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง
3.1 ล่าสุด ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง ยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “คุณสู้ เราช่วย”
เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ
ก่อนหน้านี้ ธปท.ก็มีมาตรการคลินิกแก้หนี้สำหรับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการพิเศษช่วยเหลือในช่วงโควิด อาทิ มาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF), มาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility : MFLF)
3.2 การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
รัฐบาลไม่สามารถไปสั่งให้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง
แต่ระบบมีกลไกลการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. โดยให้มีการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2568 ที่เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมานี้เอง ครม.ก็เพิ่งจะมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2568 ไปสดๆ ร้อนๆ เนื้อหาบางส่วนระบุว่า
“...รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2568
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะมีการดูแลเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในช่วงดังกล่าวอย่างเหมาะสมและไม่อยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง โดยให้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในระดับกึ่งกลางของช่วงดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การมีเสถียรภาพด้านราคาจะช่วยเอื้อให้ภาคเอกชนวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และระบบการเงินมีเสถียรภาพในระยะยาว…”
ถ้าหากช่วงใด เงินเฟ้ออยู่นอกกรอบเป้าหมาย กนง.ก็จะต้องออกจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงข้อมูล และหากมีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
นี่คือกลไกที่ให้รัฐบาลมีบทบาทในการบริหารนโยบายการเงินของ กนง. และ ธปท.อย่างถูกต้อง มีอยู่แล้ว
3.3 การบริหารทุนสำรองฯ ไม่ได้กองอยู่เฉยๆ
ธปท. มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ในการบริหารจัดการเงินทุนสำรอง โดยต้องยึดหลักการบริหารตามที่กฎหมายระบุไว้ 3 ประการ คือ
“1. รักษามูลค่าของเงินสำรองทางการในรูปเงินตราต่างประเทศ (Security)
2. มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (Liquidity)
3. ได้รับผลตอบแทนสูงสุดภายในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk-Adjusted Return)วัตถุประสงค์ของเงินสำรองทางการ”
เพราะฉะนั้น การจะเอาทุนสำรองฯ ส่วนใดก็ตามไปใช้จ่าย จะต้องไม่ขัดหลักตามกฎหมายข้างต้น
วัตถุประสงค์ของเงินสำรองฯ มีไว้ทำไม? เงินทุนสำรองฯคือ เงินตราและ/หรือสินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทย มีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และเพื่อรักษาอำนาจในการซื้อ (Global Purchasing Power) ของไทย
ทำหน้าที่เป็น “กันชน” ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ บรรเทาผลกระทบของความผันผวนจากภายนอกต่อธุรกิจไทย และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่นักลงทุนต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยยอดเงินทุนสำรองฯ มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตลอด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของดุลการชำระเงิน หากนักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทย หรือดุลบัญชีเดินสะพัด
ขาดดุล เงินทุนสำรองฯจะถูกนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินและรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power) ดังนั้น การมีเงินสำรองทางการในระดับสูงจะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของวิกฤตค่าเงินของประเทศได้
กฎหมายควบคุมการบริหารเงินทุนสำรองฯ มิใช่ว่าให้ทุนสำรองฯ กองไว้เฉยๆ แต่ให้สามารถนำไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้อยู่แล้ว โดยมีกรอบขอบเขตกำหนดไว้ชัดเจน เพื่อความมั่นคงปลอดภัย
พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ
มาตรา 35 ให้ ธปท. มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ซึ่งรวมถึงการนำสินทรัพย์นั้น ไปลงทุนหาประโยชน์ด้วย ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ
มาตรา 36 หากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ให้กระทำเฉพาะสินทรัพย์ต่อไปนี้ 1. ทองคำ 2. เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ 3. หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ ได้แก่...
นอกจากนี้ ธปท.ยังมีกลไกในการกำกับดูแลการบริหารเงินสำรองในหลายระดับ ภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ระหว่างผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความเสี่ยงและผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจด้านการลงทุนอีกทั้งยังมีการติดตามและประเมินผลการบริหารและความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความเสี่ยงทางการเงิน
มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินใจด้านการลงทุน
ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารเงินทุนสำรองฯ มีระบบในการจัดการโดย ธปท. และไม่ได้ปล่อยให้เงินทุนสำรองฯ กองเสียโอกาสไปเฉยๆ อยู่แล้ว แต่กำหนดให้ทำได้ โดยไม่กระทบภารกิจหลัก และมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งนั่นอาจไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายการเมือง ที่ต้องการล้วง-ควักมากกว่านั้น
4. ที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของแบงก์ชาติ ไม่สนองความต้องการของฝ่ายการเมืองหลายเรื่อง
ปี 2568 ฝ่ายการเมืองก็คงจะพยายามเดินหน้ารุกไล่ยึดครอง ธปท.ต่อไป
เพราะถ้ายึดได้ ควบคุมได้ ฝ่ายการเมืองจะสามารถปั๊มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แสวงหาผลประโยชน์ หวังผลทางการเมืองเฉพาะหน้าในช่วงเลือกตั้งปี 2570 (ผลเสียจะไม่เกิดขึ้นในทันที แต่จะเกิดหลังจากนั้น 4-5 ปี)
หากแบงก์ชาติถูกแทรกแซงการทำงานโดยฝ่ายการเมือง จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทยในหลายด้าน อาทิ การดูแลเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น การถูกเสี่ยงปรับลด credit rating กระทบต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาครัฐและเอกชน
ตัวอย่างกรณีประเทศตุรกี รัฐบาลเข้าแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางตั้งแต่ปี 2557 และรุนแรงขึ้นในช่วงที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ โดยไล่ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ออก 4 คน ภายใน 5 ปี เริ่มตั้งแต่กลางปี 2562 ส่งผลให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงกว่า 442% จาก 5.6 USDTRY (ก.ค. 2562) เป็น 30.36 USDTRY ณ (ม.ค. 2566) โดนปรับลด credit rating อย่างต่อเนื่อง จาก Baa3 (ก.ค. 2562) เป็น B3(มิ.ย. 2566) เงินเฟ้อ ม.ค. 2024 อยู่ที่ 65% และ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 45% ฯลฯ
ปี 2568 อนาคตธนาคารแห่งประเทศไทย อนาคตเศรษฐกิจไทย อนาคตประเทศไทย
หาก ธปท. ถูกแทรกแซงครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ย่อมจะสร้างความวิบัติใหญ่หลวงแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไปในอนาคต 4-5 ปี หลังจากนั้น
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี