ปัจจุบัน ปัญหาด้านธุรกิจของวงการสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ถือว่าวิกฤตหนัก
ถ้าเป็นสื่อโทรทัศน์ช่องที่ไม่มีนายทุนรายใหญ่เป็นเจ้าของ เป็นเจ้ามือคอยโอบอุ้ม มีแหล่งทุนควักเนื้อมาเลี้ยงดู ช่วยอุดรายจ่ายที่ติดลบทุกๆ เดือนได้ก็ยากจะอยู่รอดต่อไปได้
เพราะสถานีโทรทัศน์ โดยเฉพาะสถานีข่าว ส่วนใหญ่จะขาดทุนทุกเดือน
ผลประกอบการติดลบแทบทุกเดือน
บางสถานี ต้องหาเงินหมุนมาจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกๆ เดือน (ถ้ามีนายทุนเป็นเจ้าของใหญ่ ก็ยืมเงินนายทุนมาได้ก่อน ทำให้ไม่สะดุดล้ม)
หลายแห่ง ต้องลดการจ้างคนลงไปกว่าครึ่ง เพื่อลดรายจ่ายเงินเดือนพนักงาน
1. “ปีแห่งความยากลำบากของสื่อมวลชน”
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association ได้รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2567 ระบุว่า “ปีแห่งความยากลำบากของสื่อมวลชน”
ระบุว่า “ตลอดปี 2567 ที่กำลังจะผ่านไป สื่อมวลชนยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือของข่าว และการปรับตัวจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ”
ในส่วนของ “ปัญหาการเลิกจ้างสื่อ และการปรับตัวเข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์”
สมาคมนักข่าวฯ ระบุว่า
“...สืบเนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน พบว่ารายได้ที่มาจากโฆษณาต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายสื่อมวลชนหลายองค์กรต้องพึ่งพาแหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐบาลและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้สื่อมวลชนเกิดความเกรงใจอันเนื่องมาจากความจำเป็นในการพึ่งพางบประมาณค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน จนไม่สามารถตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะหรือกลุ่มทุนภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ รูปแบบของการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นได้ว่า การนำเสนอเนื้อหาสาระมักจะมุ่งเน้นที่ความนิยมหรือเรตติ้ง
มากกว่าคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ
ปัจจุบัน ผู้บริโภคสื่อหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ประเภทต่างๆ รวมถึงการใช้เว็บไซต์ข่าวที่ไม่มีการเก็บค่าบริการ ส่งผลให้การจำหน่ายหนังสือพิมพ์และนิตยสารแบบดั้งเดิมลดลง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่หลากหลายโดยไม่เสียค่าบริการ ดังนั้น ความท้าทายของการนำเสนอข่าวสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ คือ ทำอย่างไรจึงสามารถทำให้ผู้บริโภคสมัครใจที่จะเข้าสู่การสมัครสมาชิกได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยากในบริบทของสังคมไทย
ดังนั้น เมื่อองค์กรสื่อมวลชนต้องสูญเสียรายได้จากโฆษณา เพราะภาคธุรกิจเลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Google หรือ Facebook ส่งผลให้สื่อมวลชนขาดรายได้ที่จะมาสนับสนุนการผลิตข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพในปัจจุบัน สถานการณ์เช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อองค์กรสื่อมวลชน
โดยตลอดปี 2567 องค์กรสื่อมวลชนหลายองค์กรจำเป็นปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ด้วยการเลิกจ้างพนักงาน
โดยเฉพาะสื่อทีวี ที่มีปัญหาการขาดทุนสะสม เช่น
กรณีสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ Voice TV ปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากดำเนินกิจการมากว่า 15 ปี พนักงานกว่า 200 คนต้องถูกเลิกจ้าง
สถานีโทรทัศน์ Mono29 ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 100 คน
เครือเนชั่น ออกมาตรการพักการจ่ายเงินเดือน 10% ให้แก่พนักงานที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปเป็นเวลา 6 เดือน
และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ช่อง 3 ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เลิกจ้างพนักงานเกือบ 300 คน
ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ
นอกจากนี้ ยังมีสื่อทีวีหลายช่องและองค์กรสื่อมวลชนหลายสำนักที่มีการปรับโครงสร้างด้วยการเลิกจ้างพนักงาน หรือพักการจ่ายเงินเดือนบางส่วน…”
2. “ยุคที่บอกว่าวิกฤต แต่ไม่มียุคไหนเท่ายุคนี้แล้ว... ปีนี้เป็นปีที่โหดจริงๆ เป็นปีที่วิกฤตที่สุด..” - เสียงสะท้อนจากรายใหญ่ในวงการทีวีไทย
ทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ สมาคมนักข่าวฯ ได้นำเสนอรายงาน ว่าด้วยเรื่อง “บทเรียน และการปรับตัวของ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ด้านคอนเทนต์บันเทิงของไทยต่ออุตสาหกรรมสื่อทีวีในยุคขาลง”
รายละเอียดบางช่วงบางตอน น่าสนใจ ระบุว่า
2.1 คุณศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ลำดับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อทีวีว่า
“...ทุกยุคมีวิกฤตหมด ไม่มียุคไหนได้มาง่ายๆ แม้ยุคไอทีวี เราก็ต้องไล่แจกเสาหาคอนเทนต์มาลง
พอมาช่วงทีวีดิจิทัล มีความยากลำบากจริงๆ แต่ 2-3 ปี แรกดีมาก หลายช่องจ้างกันตนาผลิตหมด ไม่ว่า ไทยรัฐ อมรินทร์ ช่อง 3 ช่อง 7 แต่พอทุกช่องขายโฆษณาไม่ได้ เริ่มขาดทุน และก็ลดจำนวนช่องลงเรื่อยๆ ไม่รู้ว่า อีก 4 ปีของทีวีดิจิทัลจากนี้จะเหลือกี่ช่อง
...ยุคที่บอกว่าวิกฤต แต่ไม่มียุคไหนเท่ายุคนี้แล้ว โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีที่โหดจริงๆ เป็นปีที่วิกฤตที่สุดเท่าที่ทำงานมา คุยกับใครก็รับว่า โหดหมด ตั้งแต่ช่วงโควิดแล้ว เพราะเขาห้ามถ่ายทำ แต่ตอนนั้นกันตนายังพอไปได้ เพราะมี OTT เกิดขึ้น (การให้บริการเนื้อหาเช่น ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เนต)
และกันตนาก็ทำโอทีที มาปีนี้มันล้มระเนระนาด ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี สิ่งแรกที่ภาคธุรกิจทำคือ ตัดโฆษณา
…แต่ก่อนรายการ “คดีเด็ด”ที่กันตนาทำ เพียงรายการเดียวสามารถเลี้ยงได้ทั้งบริษัท เพราะขายโฆษณาได้นาทีละ 3 แสนบาท โดย 1 ตอนเราขายได้ 10 นาที ถือเป็นยุคทอง แต่มันไม่มีวันนั้นเกิดขึ้นอีกแล้ว โดยเฉพาะปีนี้ ค่าโฆษณาบางครั้งเหลือนาทีละ 2-3 หมื่นบาท ก็ยังขายยาก ทุกอย่างมันยากเย็นหมด เพราะต้นทุนการทำรายการทีวีมันสูง เช่น รายการบันเทิงมีทีมงานเยอะมากทั้งหน้าจอหลังจอ
เราจึงเห็นปี 2567 นี้เป็นปีที่ละครแทบไม่มีการผลิตออกมาเพราะพฤติกรรมคนดูเปลี่ยน ละครก็ลดลง กระทั่งถ้าเราเปิดทีวีที่ทำละครจะเห็นการรีรันแทน เพราะมันไม่มีต้นทุน แต่รีรันยังขายโฆษณาได้ เรตติ้งยังมี ขณะที่ฝั่งละครตกลง ฝั่งที่พอจะมาช่วยกันตนาได้คือ การทำซีรี่ส์เพื่อป้อนให้กับแพลตฟอร์ม OTT เช่น เน็ตฟลิกซ์ ทำให้มีงานตรงนั้นแต่มาร์จิ้นไม่ได้มากเท่ากับการขายโฆษณาเหมือนแต่ก่อน …”
2.2 คุณจิรศักดิ์ ก้อนพรหม รองผู้อำนวยการผลิต สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องเวิร์คพอยท์ กล่าวว่า
...ยุคแรก เราเป็นผู้ผลิต ส่งขายตามที่ต่างๆ ช่อง 3,5,7 อย่างรายการชิงร้อยชิงล้าน รายการเดียวก็เลี้ยงได้ทั้งบริษัท ยังมีรายการของเวิร์คพอยท์ที่ผลิตขายต่างประเทศอีกหลายรายการ เช่น ไมค์หมดหนี้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซื้อรูปแบบรายการไป ส่วนแก๊งสามช่า กัมพูชาซื้อไป เวิร์คพอยท์ยังได้ไปขายรายการทีวีที่เมืองคานส์ด้วยและก็ซื้อมาทำอีกหลายรายการเช่นกัน
ทุกวันนี้ ต้องบอกว่า มันเป็นยุควิกฤตจริงๆ รายการชิงร้อยชิงล้านก็ยังไม่อยู่เลยเพราะผู้บริโภคเปลี่ยนไป การเสพง่ายขึ้นเร็วขึ้น การนำเสนอทุกอย่างเปลี่ยนหมด เช่น เดี๋ยวนี้เวลาดูอะไร เขาไม่รอเปิดเรื่อง ปูเรื่องแล้ว เขาเอาไคลแม็กซ์นำเรื่องก่อนเลยไม่ว่า คลิปในติ๊กต็อก หรือ ละครคุณธรรม ผู้บริโภคไวขึ้น เป็นมนุษย์ที่เรียกว่าแฟนดอม ฉันชอบอะไร ก็จะดูอันนั้น ฉันไม่ชอบอะไรฉันไม่ดู
..ทุกวันนี้ มันน่ากลัวจริงๆ ปกติ ธุรกิจโรงละครจะทำคอนเทนต์ และมีคนเช่าโรงมาดู แต่กลายเป็นธุรกิจให้กลุ่มแฟนดอมหรือแฟนคลับมาเช่า อย่างเมื่อก่อน รายการชิงร้อยชิงล้านของเวิร์คพอยท์ไม่เคยขึ้นเบอร์โทรศัพท์สปอนเซอร์ เพราะตอนนั้นคอนเทนต์ดีมาก ถึงขนาดสปอนเซอร์ยกหูมาขอซื้อ มีปีที่แล้วกับปีนี้ที่เราต้องยอมลดความเข้มแข็งลง เช่น เวลาจะ Tie-In สินค้า (การโฆษณาแฝงสินค้าไปกับเนื้อหา) กล้องผ่านแล้วผ่านอีกจนเนียนเข้ากับเรื่องแต่วันนี้ตรงกันข้าม เราหยิบจับดื่มสินค้าของสปอนเซอร์นั้นชัดๆ ตรงๆ ที่หนี คือ หนีเซ็นเซอร์ ถ้าเซ็นเซอร์หรือ กสทช. จับได้เมื่อไร เราก็บอกลูกค้า ไม่ผ่านเซ็นเซอร์ คือไม่ได้เอามาตรฐานคนผลิตแล้ว
ดังนั้น เราจึงกลับไปยุคที่ว่า แม้ทำคอนเทนต์ดีมากอย่างไรแต่ลูกค้าไม่ซื้อ เพราะลูกค้าจะซื้อแต่ปลาเล็กปลาน้อย ส่วนปลาใหญ่ที่เราล่ามาให้ เขาไม่ซื้อ กลายเป็นว่า จากนี้คอนเท้นต์ดีๆ มันจะหายไป ถ้านโยบายบริษัทไม่ดีหรือเม็ดเงินยังไม่มาทางนี้มากขึ้น เราก็จะมีสื่อที่ฉาบฉวย แล้วก็ง่าย ไม่พรีเมียม ขนาดเราเองก็ยังไม่อยากดูเลย เพราะมันง่ายเร็วและเราจะดูซ้ำรอบสองทำไม…”
3. ขนาดขาใหญ่ในวงการทีวีด้านบันเทิง ยังเจอผลกระทบหนักขนาดนี้
จึงน่าเห็นใจ คนทำรายการข่าวที่มีคุณภาพ คนผลิตรายการสาระ ให้สติปัญญาแก่สังคมที่มีคุณภาพ ในช่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักหน่วงไม่น้อยไปกว่ากัน
เราจึงเห็นการขายสินค้าในรายการต่างๆ มากขึ้นโดยทั่วไป
ตรงกันข้าม รายการจำพวกคอนเทนต์ขยะในสื่อโซเชียล อย่างกลุ่มที่เพิ่งเป็นข่าวอื้อฉาว แกล้ง แบงค์ เลสเตอร์ ย่ำยีความเป็นมนุษย์สารพัดรูปแบบ คนพวกนี้สุขสบายขึ้นมาได้ เพราะยอดวิว ยอดติดตาม ยอดเอนเกจเม้นท์ และเงินค่าโฆษณาที่มาโดยอัตโนมัติ ไม่สนใจว่ารายการมีสาระประโยชน์ หรือทำร้ายสังคม
และยังไม่นับว่า คนพวกนี้ มีธุรกิจสีเทา หรือสีดำแอบแฝงไปด้วยไม่ว่าจะฟอกเงิน การพนัน หรือยาเสพติด หรือค้ามนุษย์ ฯลฯ
ปี 2558 จึงขอให้กำลังแก่สื่อดีๆ เสนอข่าวสารข้อมูลความจริง สร้างสติปัญญาช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี