ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นปัญหาประเด็นใหม่ของสังคมไทยที่สังคมให้ความสำคัญดังจะเห็นได้จากความพยายามทั้งหมดจากการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่มวน มาเป็นการต่อต้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในทุกกลุ่มอายุ และการพยายามบังคับใช้กฎหมายเพราะผลิตภัณฑ์นี้ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย และห้ามการใช้งานในประเทศไทย แต่สิ่งที่สังคมลืมไม่ได้เลยคือ แม้ว่าเรารณรงค์กันอย่างจริงจังแต่เรายังคงเห็นการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายในสังคมไทยซึ่งเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
เมื่อกฎระเบียบที่มีอยู่ขัดแย้งกับความเป็นจริง ภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาท หาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่ไฟจะลามทุ่ง เป็นอันตรายต่อสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติที่ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินเหล่านี้
จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรปลายปี 2566 และได้รับการต่ออายุมาเรื่อยๆ จนยาวนานถึง 15 เดือน และในปี 2568 จะถึงเวลานำรายงานสรุปผลการศึกษาที่ผ่านการรวบรวมความคิดความเห็นของทุกกลุ่มในสังคม รวมถึงข้อมูลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าชี้แจงต่อสภาฯ โดยรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึง 3 แนวทางที่เหมาะสมกับการควบคุมและจัดการบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่
1.บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ ความร้อน (Heated Tobaccoproducts) ทุกประเภท เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยสามารถทำได้สองทางเลือก ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดตามกฎหมายศุลกากร และทำให้เกิดความชัดเจนใน
คำนิยามของบุหรี่ไฟฟ้าตามพิกัดศุลกากร และทางเลือกที่สองคือตรากฎหมายในระดับ พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ เพื่อกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ จำกัดการนำเข้า การจำหน่าย การโฆษณา การสื่อสารการตลาด และการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด
2. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Product) เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยแก้ไข พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้าในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557
3.ควบคุมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน โดยแก้ประกาศกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่สามารถนำเข้า ผลิตและจำหน่ายได้ แต่ยังคงกำหนดให้เฉพาะบารากู่เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้าในราชอาณาจักรรวมทั้งดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนเป็นยาสูบตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และนำมาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มาใช้ในการควบคุมการนำเข้าการโฆษณา การสื่อสารการตลาดและการสูบ รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาใช้ควบคุมมาตรฐานเครื่องและอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าและสารที่ไม่มีส่วนประกอบของนิโคตินที่นำมาใช้ในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ ได้แถลงชัดเจนว่าจะเป็นการเสนอข้อคิดเห็นต่อสภาฯ แทน เพื่อให้สภาฯ และคณะรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่หลักในการปกป้องเด็กและเยาวชน รวมถึงพิจารณาทางเลือกที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศชาติ เพราะอย่าลืมว่าปัญหาทางสังคมที่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใต้การแบนได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงได้โดยง่ายของเยาวชน การซื้อขายใต้ดิน ที่สร้างผลกระทบและความกังวลให้กับผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสังคมโดยรวม หากไม่ทำอะไรปัญหาก็จะคงถูกซุกไว้ใต้พรม และคงอยู่ต่อไป เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ลักลอบนำเข้า จำหน่าย และนายทุนต่างชาติที่ไม่เกรงกลัวความผิด ลักลอบผลิตบุหรี่ไฟฟ้าในไทย แบบที่ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย มีแต่เสียเท่านั้น
รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นการใช้กลไกของรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในการศึกษา ถกเถียง หาข้อเสนอแนะโดยผู้แทนของปวงชนชาวไทย ผ่านการศึกษาที่ละเอียดรอบคอบและสะท้อมความคิดในทุกมิติ มิใช่มิติใดมิติหนึ่งเพียงด้านเดียวเพราะการทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรนั้นเป็นการรับฟังเสียงของประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่า โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมโดยรวม รวมถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น ผลการศึกษาครั้งนี้น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ในเร็ววัน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี