สำนักข่าว Sputnik ของรัสเซียรายงานว่า BRICS (บริกส์) กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาก้าวหน้า ประกาศรับประเทศไทยกับอีก 8 ประเทศจากหลายภูมิภาคเข้าเป็นสมาชิกบริกส์อย่างเป็นการในจำนวนนี้มีสามประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน
วันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา ยูริ ยูชาโคฟเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเครมลิน กล่าวสรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ ที่เมืองคาซาน ว่า บริกส์มีมติรับประเทศเบลารุส โบลิเวีย อินโดนีเซียคาซัคสถาน ประเทศไทย คิวบา มาเลเซีย ยูกันดาและ ประเทศอุซเบกิสถาน เป็นหุ้นส่วนบริกส์ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 (2568)
ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ ที่เมืองคาซาน เราได้รับใบสมัครเป็นสมาชิกบริกส์จาก 39 ประเทศในเงื่อนไขและกฎเกณฑ์แตกต่างกัน“ประเด็นสำคัญที่ประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์พิจารณาคือการสร้างกฎเกณฑ์กับประเทศสมาชิก ตลอดถึงการเห็นชอบรับ 13 ประเทศเป็นสมาชิก และได้ส่งหลักเกณฑ์เงื่อนไขไปยังประเทศเหล่านั้นแล้ว ถึงวันนี้ 9 ประเทศที่กล่าวมาได้ตอบรับหลักเกณฑ์เงื่อนไข เข้าเป็นหุ้นส่วนบริกส์” ยูชาโคฟ กล่าวและเสริมว่า “9 ประเทศที่ตอบมาแล้ว จะเป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิกบริกส์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2025 เราคาดหมายว่าจะได้รับคำยืนยันจากอีก 4 ประเทศในอนาคตอันใกล้นี้”
“ทั้งนี้ หนังสือเชิญได้ส่งไปให้อีก 20 ประเทศที่แสดงเจตจำนงร่วมงานกับเรา บริกส์ยังคงเปิดประตูกว้างสำหรับคนที่มีใจเดียวกับเรา..”ยูชาโคฟ กล่าวสรุป
จะเห็นได้ว่า บริกส์เติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาก้าวหน้าที่เรียกว่า กลุ่ม G7
“บริกส์”(BRICS) เป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2006 โดยมีสมาชิก 4 ชาติ ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน โดยเริ่มแรกใช้ชื่อว่า กลุ่ม “BRIC” ก่อนที่ แอฟริกาใต้ จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2008 เป็นประเทศที่ 5
ปัจจุบันกลุ่มบริกส์ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ชาติ โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ได้มีการต้อนรับประเทศสมาชิกใหม่อีก 5 ชาติ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนั้น เมื่อรวมกับไทยและอีก 8 ประเทศสมาชิกใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 บริกส์จึงมีสมาชิกเป็นทางการรวมเป็น 19 ประเทศ
ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนบริกส์อย่างเป็นทางการตอนนี้ถือว่าถูกเวลาและสถานการณ์ เพราะไล่เลี่ยกับวันที่ ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคม นี้ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศมีนโยบายกีดกันการค้าและขึ้นภาษีในอัตราสูงแก่ประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ และเมื่อไทยเป็นหุ้นส่วนบริกส์อย่างเป็นทางการ อย่างน้อยประเทศไทยก็มีทางเลือกใหม่ในความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้าตลอดถึงความมั่นคง
ประเทศไทยให้ความสนใจกลุ่มกับบริกส์มีมานานกว่าสิบปี ที่ไทยเห็นว่า องค์กรนี้มีศักยภาพสูงเป็นตัวแปรทางการเมืองระหว่างประเทศได้ เนื่องจากมีมหาอำนาจ เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิลเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งในปี 2006 เมื่อปี 2008 ต่อจากนั้นสองปี แอฟริกาใต้เข้ามาเป็นสมาชิกอันดับห้า แต่รัฐบาลไทยผลักดันอย่างจริงจังโดยการส่งใบสมัครเป็นทางการปี 2023 และบริกส์ตอบรับเป็นทางการ วันที่1 มกราคม 2025
ในกรณีบริกส์ไทยอยากเป็นสมาชิกเพื่อต้องการรักษาดุลภาพขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนและทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว และเพิ่มตลาดการส่งออก ไทยถือว่าประเทศไม่มีศัตรู แต่ต้องไม่เข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ถึงประโยชน์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS (กลุ่มบริกส์) เมื่อรัสเซียเห็นชอบให้ 9 ประเทศ รวมประเทศไทย มีสถานะเป็นหุ้นส่วนสมาชิก BRICS เป็นทางการว่า
ในแง่การค้าระหว่างประเทศจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้า ที่กลุ่ม BRICS นำเข้าจากไทยให้ขยายตัวมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกกับประเทศสมาชิก BRICS ประมาณ 19.2%
ในด้านตลาดการค้าไทย จะได้เข้าสู่ตลาดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ กลุ่มประเทศสมาชิกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและจำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมมากถึง 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือสัดส่วน 45.5%
ในแง่การเงินและการธนาคาร มีข้อตกลงภายในสมาชิกบริกส์ด้วยกันว่า ในอนาคตถ้าเป็นไปได้จะใช้เงินสกุลของสมาชิก เป็นเงินสกุลท้องถิ่นซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ ไม่ต้องผ่านบุคคลที่ 3 อีกต่อไป
การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าตกอยู่ใต้อิทธิพลปีโตรดอลลาร์มากว่าครึ่งศตวรรษ เมื่อซาอุดีอาระเบียทำสัญญากับสหรัฐอเมริกาขายน้ำมันให้ทั่วโลกด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 50 ปี ตั้งแต่ 27 มิถุนายน 1974 ถึง 27 มิถุนายน 2024 เป็นเหตุให้ปีโตรดอลลาร์ครอบงำการค้าโลก และสหรัฐฯใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายทำลายประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาในข้ออ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
แต่หลังเดือนมิถุนายน 2024 ซาอุดีอาระเบียไม่ต่อสัญญาปีโตรดอลลาร์กับอเมริกาทำให้การค้าทั่วโลกเป็นอิสระจากปีโตรดอลลาร์ ที่หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริกส์การรณรงค์ลดพึ่งพาดอลลาร์เป็นนโยบายสำคัญอันดับต้นๆของบริกส์
มีข้อตกลงภายในสมาชิกบริกส์ด้วยกันว่า ในอนาคตถ้าเป็นไปได้จะใช้เงินสกุลของสมาชิกเป็นเงินสกุลในการซื้อขาย สินค้ากันโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ ปัจจุบันชาติสมาชิกบริกส์ส่วนใหญ่ใช้สกุลเงินท้องถิ่นซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเฉพาะจีน รัสเซีย อินเดีย 90% ใช้เงินหยวน เงินรูเบิล และเงินรูปีซื้อขายสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊ส น้ำมันและ ปุ๋ย
ส่วนประเทศไทยใช้เงินบาททำการค้ากับประเทศรัสเซียได้ตั้งแต่ปี 2024 คือพ่อค้าไทยไม่ต้องทำหนังสือรับรองเครดิตเป็นดอลลาร์ (Letter of Credit) ทำการค้ากับรัสเซีย และเชื่อว่าตั้งแต่นี้ไปเงินบาทไทยใช้ได้หลายประเทศในกลุ่มบริกส์ โดยที่ไม่ต้องกังวลผันผวนดอลลาร์แข็งค่า หรือ ดอลลาร์อ่อนตัว
นอกจากรณรงค์ลดพึ่งพาดอลลาร์แล้วในปี 2014 ชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์ ได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New DevelopmentBank-NDB)ขึ้น เพื่อให้เงินกู้แก่ประเทศที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ในสิ้นปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งนี้ปล่อยกู้ให้ชาติกำลังพัฒนาเพื่อนำไปสร้างถนน, สะพาน,รางรถไฟ และโครงการพัฒนาน้ำประปา รวมเป็นมูลค่าเกือบ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
จึงสรุปได้ว่าการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เป็นทางการจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ โดยไม่ต้องพึ่งจมูกอเมริกาและตะวันตกหายใจอีกต่อไป
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี