นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ประกาศว่า “..วันที่ 1 มกราคม 2568 นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่”จะสามารถให้บริการได้ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย เราใช้เวลา 2 ทศวรรษจากการพัฒนานโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” มาสู่ “30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อลดภาระและปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชน”
ในงาน Kick Off 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ระยะที่ 4
น่าอับอายขายหน้า...เพราะขณะเดียวกัน ในสภาพความเป็นจริง กลับปล่อยให้เกิดปัญหากรณีติดค้างหนี้ OP refer ค้างชำระให้ รพ.มงกุฎวัฒนะของ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา
สภาพคล้ายที่ กทม.ติดค้างหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เพียงแต่ยอดหนี้น้อยกว่าร้อยเท่าตัว)
1.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้ชี้แจงสรุปว่า
“1.รองเลขาธิการ สปสช. (ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ) ให้สัมภาษณ์ว่า สปสช. มีเงินพร้อมจ่ายหนี้ OP refer ที่ค้างชำระตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 แต่ติดอยู่ที่มีการฟ้องอยู่บนศาลปกครอง
ผมขอเรียนให้สาธารณะทราบว่า สปสช. ก็จ่ายหนี้ OP refer ที่ค้างชำระให้ รพ.มงกุฎวัฒนะสิครับ ผมก็จะได้ถอนฟ้องทันที
ศาลท่านไม่ต้องการเก็บคดีไว้หรอกครับ
ทุกวันนี้คดีก็รกศาลอยู่แล้ว
มันติดอยู่ที่ สปสช. เหนียวหนี้ไม่ยอมจ่ายมา 4 ปีแล้วต่างหาก
สปสช. จ่ายเงินปุ๊บ รพ.มงกุฎวัฒนะก็ถอนคดีปั๊บ มันก็แค่นั้นเอง
2.รองเลขาธิการ สปสช. (ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ) ให้สัมภาษณ์ว่า สปสช. จ่ายค่ารักษาให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ 1,500 ล้านบาทไปแล้ว
ผมขอเรียนว่า 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมารวมกันแล้วมากถึง 1,500 ล้านบาทกระมังครับ แล้วไอ้ที่จ่าย 1,500 ล้านบาทตามข่าวที่สัมภาษณ์นั้น มันหักค่าแพทย์-ค่ายาเวชภัณฑ์-เงินเดือนพนักงาน-ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าประปา-สาธารณูปโภค-ภาษีโรงเรือน-ค่าซ่อมบำรุงอาคารสถานที่เครื่องมือ-ดอกเบี้ย-ฯลฯ แล้ว ค่ารักษา 1,500 ล้านบาท มันจะกำไรเหลือสักกี่บาทกันล่ะครับ
ทุกวันนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะมีเงินสดในธนาคาร หรือที่เรียกว่า Cash on hand แค่ไม่ถึง 10 ล้านบาทเองนะครับ ยังหาเงิน 1,500 ล้านบาทไม่เจอ ...
3.รองเลขาธิการ สปสช. (ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ) ให้สัมภาษณ์ว่า สปสช. จ่ายเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ 60 ล้านบาท เมื่อ พ.ย. 2567
นั่นเป็นเงินทดรองจ่ายล่วงหน้า [Pre-paid] เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องจากการที่ สปสช. ค้างชำระหนี้กรณี OP refer ที่ สปสช. ไม่เคลียร์ให้จนขาดสภาพคล่องทางการเงินไงล่ะครับ
จนบอร์ดใหญ่ สปสช. สั่งให้ช่วยเหลือ รพ.มงกุฎวัฒนะให้มีเงินทดรองล่วงหน้า 60 ล้านบาท ในระหว่างที่ สปสช. จะต้องเร่งเคลียร์หนี้ OP refer จำนวนมากไงล่ะครับ..”
ช่างน่าอับอายแทนรัฐบาล ที่ปล่อยให้เกิดสภาพปัญหาแบบนี้ได้อย่างไร?
ปล่อยให้มีการผลักภาระไปไว้ที่หน่วยบริการทางการแพทย์ ที่เขาไม่ใช่หน่วยที่ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวด้วยซ้ำ
2.น่าคิดว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็น รพ.เอกชนที่ไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดิน (กลุ่มงบงานเงินเดือนแพทย์-ค่าจ้างบุคลากร)
แต่กลับต้องมาเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนค่าแพทย์-ค่าบริการ จากระบบส่งต่อผู้ป่วยนอก(Out Patient refer) ที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิคู่สัญญาของ สปสช.
ทั้งๆ ที่ สปสช. จัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยบัตรทองไว้ที่คลินิกปฐมภูมิซึ่งเป็นหน่วยต้นทางระบบส่งต่อ
แล้วที่ผ่านมา มีการติดค้างเงินจากระบบส่งต่อผู้ป่วยนอก (Out Patient refer) ทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะเดือดร้อนสาหัส
รักษาผู้ป่วย แต่ไม่ได้เงิน
นพ.เหรียญทอง จึงถามว่า“ทางที่ถูก สปสช. จะต้องหักเงินค่าแพทย์-ค่าบริการ-ค่ายาเวชภัณฑ์-อื่นๆ ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยนอก(Out Patient refer)ที่ส่งตัวมาจากหน่วยต้นทาง คือคลินิกปฐมภูมิคู่สัญญาของสปสช. มาให้หน่วยปลายทาง คือรพ.มงกุฎวัฒนะ ที่เป็น รพ.รับส่งต่อจึงจะถูกต้อง
ถ้า สปสช. ไม่หักเงินค่าแพทย์-ค่าบริการ ให้แก่ รพ.มงกุฎวัฒนะ จ่ายแต่ค่ายาเวชภัณฑ์-อื่นๆ ที่ล้วนแล้วต่ำกว่าทุน
รพ.มงกุฎวัฒนะก็ต้องให้ผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวจากคลินิก “ร่วมจ่าย หรือ Copay” สิครับ
มิฉะนั้นแล้ว รพ.มงกุฎวัฒนะจะหาเงินมาจากที่ไหนกันล่ะครับ?
...หาก สปสช. ยังเพิกเฉยต่อปัญหานี้ รพ.มงกุฎวัฒนะก็จะเก็บค่าแพทย์ 300 บาทจากผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่า สปสช. จะมี รพ.ที่สามารถรับส่งต่อผู้ป่วยนอก(Out Patient refer) โดยไม่มีต้นทุนค่าแพทย์-ไม่มีต้นทุนค่าบริการ
อย่างไรก็ตาม ผมขอเชิญชวน รพ.ต่างๆ ให้ช่วยกันรับส่งต่อผู้ป่วยนอก (Out Patient refer) 200,000 คนจากคลินิกต่างๆ ที่ส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ
ทั้งนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะจะช่วยรับผู้ป่วยในกรณีที่ รพ.ต่างๆ ตรวจแล้ว เห็นว่าจะต้องแอดมิทเข้าเป็นผู้ป่วยใน [In Patient] ก็ขอให้ส่งตัวผู้ป่วยทั้งหมดนั้นมาแอดมิทใน รพ.มงกุฎวัฒนะได้เลย”-เหรียญทองกล่าว
3. ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า สปสช. ไม่ตัดจ่ายค่าแพทย์ตามประกาศ Fee schedule ของ สปสช. เมื่อ 1 มี.ค. 2567
ภาระตกแก่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นเอกชน ที่ไม่มีงบประมาณแผ่นดินจ่ายเงินเดือนหรือจ่ายค่าจ้างแพทย์
เงินเหมาจ่ายรายหัวของผู้ป่วยบัตรทองนั้น สปสช. ก็จ่ายให้แก่คลินิกต่างๆที่รับขึ้นทะเบียนปฐมภูมิ และ สปสช. มีหน้าที่ต้องเคลียร์ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาต่างๆ ที่คลินิกส่งต่อผู้ป่วยที่เกินความสามารถมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งทำหน้าที่ รพ.รับส่งต่อผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถของคลินิก
รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นแค่หน่วยปลายทางของระบบการส่งต่อผู้ป่วยรพ.มงกุฎวัฒนะจึงไม่ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวของผู้ป่วยบัตรทองที่ สปสช. จ่ายให้แก่คลินิกซึ่งเป็นหน่วยต้นทาง
แต่ สปสช. มีหน้าที่ต้องตัดเงินเหมาจ่ายจากคลินิกมาจ่ายค่าแพทย์-ค่าบริการต่างๆ ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะที่เป็นปลายทางรับการส่งต่อ
ย้ำว่า รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ได้รับเงินเหมาจ่ายใดๆ จึงไม่มีเงินใดๆ มาจ้างแพทย์ตรวจผู้ป่วยต่างๆ ที่ส่งต่อมาจากคลินิก
ล่าสุด รพ.มงกุฎวัฒนะ จึงมีวิธีว่า หากมีใบส่งตัวจากคลินิก ผู้ป่วยจะต้องจ่าย “ค่าแพทย์” 300 บาทเอง
หากไม่มีใบส่งตัวจากคลินิก ยิ่งจะต้องจ่ายค่ารักษาทุกรายการเองหนักขึ้นไปอีก
หากไม่มีเงินจริงๆ ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ให้ส่งต่อไปยัง รพ.จุฬาภรณ์ หรือ รพ.แพทย์ปัญญา ตามที่ สปสช. เตรียมการรองรับไว้แล้ว
4.จากการติดตามข่าวจากสถานี Top News ทราบว่า ก่อนจะมาถึงจุดนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะพยายามอดทนอย่างถึงที่สุดแล้ว
โดยทนมาตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567
นานถึง 9 เดือน
คิดเป็นค่าจ้างแพทย์ที่ นพ.เหรียญทองต้องขอรับบริจาควันละเฉลี่ย 150,000 บาท หรือเดือนละ 4.5 ล้านบาท
นาน 9 เดือน เป็นเงินจำนวนมากถึง 40 ล้านบาทเศษ
หากวันใดไม่สามารถอดทนได้แล้ว รพ.มงกุฎวัฒนะก็อาจต้องหยุดรับการส่งต่อผู้ป่วยนอก กรณี OP refer และ OP A/E
แต่ทาง รพ.ยืนยันว่า จะทำหน้าที่รับการส่งต่อผู้ป่วยใน หรือ IP referที่ส่งต่อมาจาก รพ.ต่างๆ หรือจากการประสานงานของ สายด่วน สปสช. 1330 ในฐานะ รพ.รับส่งต่อตามสัญญา
รพ.มงกุฎวัฒนะระบุด้วยว่า ความอดทนอาจจะสิ้นสุดก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2568หรือก่อนวันที่ 30 ก.ย. 2568 หรืออาจสิ้นสุดในไม่กี่วันหลังปีใหม่ พ.ศ. 2568 เนื่องจากไม่มีเงินจ้างแพทย์ ยกเว้นผู้ป่วยบัตรทองช่วยเหลือตนเอง
5.ล่าสุด เมื่อ 2 ม.ค. 2568 นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ประกาศแจ้งสำคัญ ระบุว่า
“ผู้ป่วยบัตรทองส่งต่อจากคลินิก ต้องร่วมจ่าย “ค่าแพทย์” ในอัตรา 300 บาททุกครั้งที่รับการตรวจ (ในกรณีที่ไม่มีใบส่งตัว ท่านต้องจ่ายค่ารักษาทุกรายการเองตามอัตราที่ รพ.กำหนด)
เนื่องจาก สปสช. ไม่จ่ายค่าแพทย์-ลดค่าบริการ ตามประกาศ Fee Schedule
รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นเอกชน ไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินเดือนแพทย์และบุคลากร
หากท่านไม่พอใจ ท่านต้องโกรธ สปสช. จึงจะถูกต้อง ไม่ใช่เอะอะ โวยวาย อ้อนวอนจาก รพ.มงกุฎวัฒนะ
หากท่านไม่มีเงินจ่าย ได้โปรดติดต่อ “สายด่วน สปสช. 1330” ซึ่งเตรียม รพ.รับการส่งต่อท่านไว้แล้ว
ท่านที่ต้องการสรุปประวัติการรักษาเพื่อนำไปรักษาต่อจาก รพ.อื่น ติดต่อเคาน์เตอร์เวชระเบียน ไม่ต้องเสียเงิน
ผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่อไปนี้ ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าแพทย์ 1.โรคมะเร็ง 2.โรคไตวาย 3.โรคเอดส์ 4.คนพิการ
นอกเหนือจาก 4 โรคข้างต้น ท่านต้องร่วมจ่ายทุกกรณีจนกว่าจะมีการประกาศเพิ่มเติม
ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2568”
6.ไม่น่าเชื่อว่า รัฐบาลปล่อยให้มีปัญหาเช่นนี้ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างไร
ที่สำคัญ ยังเอาผลงานไปหาเสียงอีกต่างหาก โดยยังไม่ได้แก้ไขเป็นรูปธรรม
กรณีรัฐค้างจ่ายเงิน รพ.หมอเหรียญทอง คือ ความน่าอับอายของระบบประกันสุขภาพ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี