“แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตอนนี้ตัวเลขประมาณ 3 ล้านกว่าคนที่ขออนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย 2 ล้านกว่าเป็นแรงงานจากพม่า แล้วก็ 5 อันดับแรกของกิจการที่แรงงานข้ามชาติทำ อันดับแรกก็จะเป็นก่อสร้าง เห็นแรงงานก่อสร้างค่อนข้างมาก เกษตรและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตร ก็คือเอาเกษตรมาแปรรูปทั้งหลายแหล่ แล้วก็งานบริการ หลังๆ มางานบริการเป็นกิจการที่มาแรงแซงหลายๆ กิจการที่เคยมีมาในอดีต แล้วก็อันสุดท้ายเป็นงานเกี่ยวกับพวกอาหาร พวกค้าขายอาหาร ผลิตอาหาร จะเห็นได้ว่า 2 อันดับท้าย หลังๆ มามันจะมาค่อนข้างมาก ดังนั้นมันชี้ให้เห็นว่าจริงๆ ว่าสังคมไทยเริ่มขาดแคลนแรงงานประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวในงานเสวนา “เรียนรู้ เพื่ออยู่ร่วมกัน” ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ฉายภาพสถานการณ์แรงงานข้ามชาติกับการเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติในภาคบริการ เช่น โรงแรม ร้านนวด (ไม่รวมลูกจ้างทำงานบ้าน) สะท้อนการขาดแคลนแรงงานไทยในภาคส่วนดังกล่าว
คำถามที่น่าสนใจ “ในระยะยาวความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติในไทยจะเพิ่มขึ้นหรือไม่?” เพราะประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายมา 3 ปีแล้ว และมีการคาดการณ์ว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า กำลังแรงงานไทยอาจหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง และแม้รัฐบาลจะพยายามออกนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น แต่ก็มีตัวเลขที่ชี้ชัดว่าคนเป็นโสดมากขึ้น หรือแม้แต่จะแต่งงานแต่ก็มีลูกกันน้อยลง
อดิศร ยกตัวอย่างย่านเยาวราช-ตลาดน้อย ภาพจำในอดีตคือย่านของคนไทยเชื้อสายจีน แต่ปัจจุบันมีชาวเมียนมา (พม่า) ลาวและกัมพูชาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงถือว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซาลง เช่น ร้านขายอาหาร ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งหลายร้านแม้ยังมีเจ้าของเป็นคนไทย แต่คนทำอาหารมาเสิร์ฟเป็นลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ
เมื่อ “ดูนโยบายของรัฐไทย” จะพบว่า “ด้านหนึ่งมีความพยายามดึงกำลังแรงงานที่มีศักยภาพให้อยู่ในประเทศไทย” เช่น บุตรหลานแรงงานข้ามชาติที่เติบโตและเรียนหนังสือในไทยจนจบระดับ ป.ตรี สามารถขอสัญชาติไทยได้ “แต่อีกด้านหนึ่ง ทัศนคติของเจ้าหน้าที่และตนไทยบางส่วนยังเป็นข้อจำกัด” แม้จะมีกติกากำหนดไว้แต่การไปให้ถึงปลายทางแต่ก็มีเจ้าหน้าที่เป็นเหมือนกำแพงกั้น หรือมีคนบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวไม่เอาแรงงานชาวเมียนมา
“กฎระเบียบก็มีปัญหาโดยตรงเช่นกัน” อาทิ การพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในไทยมานาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะไม่เช่นนั้นไทยก็จะยังคงเป็นประเทศที่พึ่งพาแรงงานกลุ่มไร้ทักษะเป็นหลักต่อไป แต่กฎหมายยังกำหนดให้พัฒนาได้เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น หรือแม้แต่ในส่วนของแรงงานวิชาชีพ ที่มีข้อตกลงว่าบางอาชีพสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้อย่างเสรี เช่น แพทย์ พยาบาล ไทยนั้นกำหนดให้สอบใบประกอบวิชาชีพเป็นภาษาไทย ในขณะที่สิงคโปร์ให้สอบเป็นภาษาอังกฤษได้
ขณะที่ ชลธิชา ตั้งวรมงคล ผู้ประสานงานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า ย้อนไปในปี 2556จำนวนประชากรย้ายถิ่น อยู่ที่ร้อยละ 3 ของประชากรทั้งโลก แต่ในปี 2564 อยู่ที่เกือบร้อยละ 30 และในจำนวนนี้ร้อยละ 70เป็นการย้ายถิ่นเพื่อการทำงาน นอกจากนั้นก็จะเป็นการย้ายเพื่อหนีภัยอันตรายจากสงครามหรือความรุนแรงในประเทศบ้านเกิด หรือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำทะเลหนุนสูงทำให้บางชุมชนต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน พบว่า “มีคนไทยไปทำงานในต่างประเทศกระจายตัวมากกว่า 80 ประเทศ และมีชาวต่างชาติราว 40 ประเทศเข้ามาทำงานในไทย” ทั้งนี้ ในระดับสากลมี “ข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และสม่ำเสมอ (GCM)” ที่ออกมาในปี 2561 เป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆ ใช้กำหนดนโยบายรับมือการย้ายถิ่น ซึ่งจะมีผลต่อการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ
เช่น คนที่ตั้งใจจะไปทำงานต่างประเทศ มีการเตรียมตัวอย่างดี หาข้อมูลว่าต้องไปช่องทางใด มีค่าใช้จ่ายเท่าใด ต้องจ่ายทางไหนบ้าง มีทักษะอะไรที่จำเป็นต้องฝึกฝนก่อนเดินทาง ซึ่งแม้ประเทศปลายทางจะไม่ได้ใช้ภาษาที่คนคนนั้นรู้ แต่การเตรียมตัวก็ช่วยได้มากในการทำให้ใช้ชีวิตในประเทศปลายทางได้อย่างกลมเกลียว แตกต่างกับคนที่ต้องหนีภัยซึ่งต้องรีบตัดสินใจในเวลาอันสั้น หรือคนที่แม้จะมีเวลาเพียงพอแต่ไม่มีข้อมูลให้เตรียมตัว สภาพก็จะเข้าทำนองไปตายเอาดาบหน้า แล้วก็จะมีเสียงสะท้อนในแง่ลบจากประชาชนในประเทศปลายทางนั้น
อาทิ คนไทยวิพากษ์วิจารณ์ชาวเมียนมาที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วขับขี่ยานพาหนะว่าไม่มีวินัยจราจร แต่อีกมุมหนึ่งหากเป็นชาวเมียนมาที่เพิ่งเข้ามาแล้วจะรู้กฎจราจรของไทยได้อย่างไร ซึ่ง “การย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย หมายถึงการรับรู้ข้อมูลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย” โดยกรณีของประเทศไทย ความท้าทายที่สำคัญคือการลี้ภัยของชาวเมียนมาจากปัญหาความรุนแรงจากเหตุขัดแย้ง
“ที่ประเมินคือมีประมาณ 14 ล้านคน ในเมียนมาที่จะถูกบังคับเกณฑ์ทหาร แล้วคิดภาพถ้า 14 ล้านคนเขาอยากมาประเทศไทยแล้วเราไม่รับมือกับสิ่งนี้ เรายังพยายามผลักเขากลับในขณะที่เขาอยากจะเอาชีวิตรอด เราก็ต้องคิดภาพว่ามันจะสร้างความสนั่นหวั่นไหวของความปะทะกัน ไม่ใช่ปะทะจริงๆแต่เป็นปะทะในแง่กลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่รู้กฎเกณฑ์ในประเทศไทย ไม่รู้ภาษาไทย ไม่รู้อะไรเลย มันก็จะเกิดการปะทะที่อาจจะไม่สังสรรค์เท่าไร” ชลธิชา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองของรัฐหรือเมืองที่มอง “ประชากรแฝง” อันหมายถึงประชากรที่ไม่ได้เข้าระบบลงทะเบียนในรัฐหรือเมืองนั้นๆ ว่าเป็นภาระ เช่น แรงงานข้ามชาติ หรือคนในประเทศนั้นเองที่ย้ายจากเมืองหนึ่งไปทำงานหรือไปเรียนในอีกเมืองหนึ่ง(อาทิ คนต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ) แต่ในการมองว่าเป็นภาระก็สะท้อนความไม่พร้อมของรัฐ เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่จัดทำงบประมาณที่นับรวมประชากรแฝง
“ประชากรแฝงเขาไม่ได้เป็นภาระ เขาเป็นผู้ให้ประโยชน์กับตัวเมือง เพราะถ้าเขาไม่มาใครจะทำงาน แล้วเขาจ่ายภาษี ยังเห็นทะเลาะกันจาก 7% เป็น 15% VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) มันเก็บตรง ฉะนั้นมันไม่ควรมีอคติ คนงานต่างด้าวทั้งหลายไม่จ่ายภาษีให้ประเทศไทย มีใครไม่กินเครื่องดื่มชูกำลัง มีใครไม่เข้าร้านสะดวกซื้อไหม? บัตรโทรศัพท์ก็ยังมี มีใครไม่เปิดบัญชีบ้าง? ดังนั้นเรื่องนี้มันจึงไม่ควรจะมองว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าแรงงานต่างด้าว ในบางกรณี การสู้เรื่องสิทธิแรงงานเรื่องหนึ่ง แต่ในแง่การเป็นพลเมืองทุกคนช่วยเมืองให้เติบโต แต่ในด้านกลับกันคุณไม่ดูแลเขา” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี