วิกฤตการเมืองพม่าที่ยืดเยื้อมาย่างเข้าปีที่สี่ 2025 เป็นปีที่ท้าทายว่า พม่ากลับเข้าสู่แนวทางประชาธิปไตยหรือขยายความขัดแย้งรุนแรงออกไป ในขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือในการช่วยเหลือพม่ามีทัศนะมีแนวทางแก้ปัญหาแตกต่างกัน
เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสองวาระสำคัญ วันที่ 19 ธันวาคม เป็นการประชุมนอกกรอบอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการของประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันกับพม่า โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือ ผู้แทนการต่างประเทศจาก จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว พม่า และประเทศไทยได้ปรึกษาหารือประชุมกัน
20 ธันวาคม 2024 เป็นการประชุมในกรอบอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเพื่อสรุปผลงานอาเซียนในรอบหนึ่งปีที่ลาวเป็นประธานก่อนส่งต่อให้มาเลเซียเป็นประธานอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 การประชุมในกรอบอาเซียนไม่มีผู้แทนจากพม่าเข้าร่วมประชุม แต่ประเด็นหลักในการหารือไม่เป็นทางคือปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่า
ในที่ประชุมของประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับพม่า จีนกับอินเดีย ถือว่าเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากรรวมกันเกือบ 3,000 ล้านคน มีผลประโยชน์ทางลงทุนการค้า มหาศาลในพม่า แน่นอนประเทศใหญ่เพื่อนบ้านต้องมีอิทธิพลบารมีทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจการค้าเหนือรัฐบาลทหารพม่า และกลุ่มต่อต้านทั้งหลายที่เคลื่อนไหวอยู่ใกล้ชายแดนประเทศจีน และอินเดีย
ส่วนบังกลาเทศมีผลกระทบมากกว่าใครๆเนื่องจากว่า ต้องแบกรับภาระโรฮีนจากว่า 600,000 คน ที่หนีจากพม่าไปอยู่ค่ายอพยพ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าปะปนอยู่กับผู้อพยพ และลักลอบนำเสบียงอาหารจากค่ายอพยพออกไปให้ฝ่ายต่อต้านตามแนวชายแดนบังกลาเทศ-พม่า
ส่วนประเทศไทยกับ สปป.ลาว ที่มีชายแดนติดกับพม่ากว่า 2,400 กิโลเมตร ประเทศไทยกับสปป.ลาวประสบปัญหาความมั่นคง การเมือง และการค้าตลอดเวลา 3 ปี ที่มีความขัดแย้งในพม่า หลังจาก พลเอก มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
การประชุม 6 ประเทศที่มีชายแดนติดกันรวมทั้งพม่า มีความเห็นคล้องจองกันว่า ถึงเวลาที่พม่าต้องจัดการเลือกตั้งตามแนวทางของพม่า เพื่อให้ได้รัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง สร้างความปรองดองแห่งชาติ ดังที่ ตัน ส่วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า ระบุว่ารัฐบาลทหารพม่าควบคุมสถานการณ์ได้ทั่วประเทศ และมีการเตรียมการเลือกตั้งก้าวหน้าอย่างมีนัย
จีนซึ่งมีอิทธิพลเหนือกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ใกล้ชายแดนจีน จีนแจ้งที่ประชุมว่า สถานการณ์ทางภาคเหนือ และภาคกลางพม่า เอื้อต่อการเลือกตั้งในปีหน้า
และจีนสนับสนุนรัฐบาลพม่าทั้งด้านปัจจัยและความปลอดภัยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ด้านตะวันตกของพม่าผู้แทนจากอินเดีย ระบุว่า อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ ความรุนแรงใกล้ชายแดนรัฐชินพม่ากับรัฐมณีปุระของอินเดีย ลดลงอย่างน่าพอใจ เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะหลังนี้เจ้าหน้าที่ชายแดนอินเดียจับอาวุธและอุปกรณ์ดาวเทียมสตาร์ลิงค์ ที่ลักลอบนำข้ามชายแดนไปพม่าได้มากขึ้น
ทางเหนือรัฐฉานเสียงปืนสงบลงตั้งแต่จีนเรียกร้องให้ยุติการสู้รบและคืนเมืองต่างๆ ที่ฝ่ายต่อต้านยึดคืนได้ให้พม่า ผู้นำโกก้างที่ขัดคำสั่งคืนเมืองให้พม่า กับรองผู้บัญชาการทหารว้าถูกนำตัวไปกักบริเวณไว้ในเมืองยูนนาน ประเทศจีน และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) ) ประกอบด้วยโกก้าง, ตะอ่าง และ อาระกัน ได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว และออกแถลงการณ์ “พร้อมเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแสวงหาข้อสรุปด้วยสันติวิธี”
ในที่ประชุมประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับพม่า และมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งรัฐบาลทหารพม่าและกลุ่มต่อต้านส่วนใหญ่ กล่าวคือ อินเดียมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ชินและกองกำลังอาระกันที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในรัฐยะไข่ในเวลาเดียวกันอินเดียก็มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางพม่า
ส่วนจีนมีอิทธิพลเหนือกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายจีน อาทิ ว้า โกก้าง ตะอ่าง และอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ชายแดนจีนที่เรียกได้ว่าจีนสั่งให้หันซ้ายหันขวาได้ ดังนั้น ในการประชุมประเทศเพื่อนบ้านที่ชายแดนติดกับพม่า ที่มีจีนกับอินเดียเป็นพี่ใหญ่ บังกลาเทศ ลาว และไทยที่ปรึกษาหารือกันมีความเห็นพ้องต้องกันว่า พม่าควรเลือกตั้งปี 2025
อย่างไรก็ตาม การประชุมในกรอบอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2024ที่ผ่านมา ซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศลาวเป็นประธานอาเซียน 2024มาเลเซียประธานอาเซียนปี 2025 สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยร่วมประชุม ส่วนบรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนามส่งผู้แทนมาร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์
จะเห็นได้ว่าสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับวิกฤตการเมืองในพม่า น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับพม่าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งในพม่า ที่ต่างกับอินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ที่ไม่มีผลกระทบด้านความมั่นคงและการค้าผ่านชายแดนโดยตรง
ดังนั้นการประชุมนอกกรอบในกรอบอาเซียนจึงให้ความสำคัญกับการปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี และยุติความรุนแรงต่อพลเรือนพม่า มากกว่าการเลือกตั้ง
ดังที่ ดร.วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ โพสต์เฟซบุ๊กขณะที่เข้าร่วมประชุมในกรุงเทพฯว่า
..“เกือบสี่ปีหลังยึดอำนาจในพม่าสถานการณ์ยังเลวร้ายชาวพม่ายังคงเผชิญกับความยากลำบากเนื่องจากความขัดแย้ง ความห่วงใยที่สุดของเราคือสันติภาพ ความรุ่งเรือง และ ความก้าวหน้าของพลเมืองพม่า..เรายืนยันในฉันทามติห้าข้อของอาเซียน#ที่ทหารพม่าต้องเคารพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อพลเรือนต้องยุติทันที..การพูดจาอย่างสร้างสรรค์ในหมู่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพม่ามีความจำเป็นสำหรับความสำเร็จของข้อสรุปที่ยั่งยืน..”
รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์มาร่วมประชุมในกรอบอาเซียนไม่เป็นทางการ แต่แสดงท่าทีในนามอาเซียนผ่านทางโซเซียลมีเดีย แทนการพูดจาในที่ประชุมซึ่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศไทยมีหน้าที่แถลงผลการประชุม ในเฟซบุ๊ก ดร.วิเวียน ยังกล่าวด้วยว่า..
#ผมขอเรียกร้องให้ปล่อย ออง ซาน ซู จีผู้ซึ่งมีความสำคัญต่อการปรองดองแห่งชาติในทันที “ขอบคุณรัฐมนตรี มาริษ สงวนพงษ์ สำหรับการเปิดพื้นที่ให้เราได้ถกกันในเรื่องสำคัญ เราสนับสนุนความเป็นไปได้ของอาเซียนที่ประชุมครอบคลุมผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด ผมตั้งหน้ารอการร่วมทำงานกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียโมฮัมหมัด ฮาซันในฐานะประธานอาเซียนในประเด็นนี้ (ปล่อยตัวซูจี)และประเด็นสำคัญอื่นๆ ตามลำดับปี 2025
อาเซียนซึ่งมีความแตกต่างกันตลอดมาในประเด็นวิกฤตการเมืองในพม่า ที่แล้วมา อินโดนีเซียมักเป็นผู้นำแสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า แต่การประชุมวันที่ 20 ธันวาคม รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียไม่มา และดูเหมือนว่าสิงคโปร์ทำหน้าที่แสดงท่าทีกร้าวใส่พม่า ราวกับวางระเบิดเวลาด้วยวาทกรรมที่ว่า “ผมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ออง ซาน ซู จีไอดอลประชาธิปไตยในทันที” และให้ทหารพม่าเคารพฉันทามติห้าข้อของอาเซียน
สาระสำคัญของฉันทามติ 5 ข้อ คือ 1) จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที 2) การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติ 3) ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจา 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA) และ5) ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมาอาเซียนไม่สามารถทำให้ฉันทามติเป็นรูปธรรมได้ แม้แต่ข้อเดียว จึงเป็นเรื่องท้าทาย ปี 2025 อาเซียนจะทำให้พม่าก้าวหน้า หรือทำได้แค่ขัดขวางการเลือกตั้งในพม่า
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี