การศึกสงครามในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น มีทั้งการศึกเพื่อขยายพระราชอาณาเขต การศึกเพื่อป้องกันศัตรูผู้รุกราน และการศึกเพื่อแย่งชิงอำนาจภายใน ซึ่งแน่นอนว่าในทุกการศึกต้องมีทั้งได้และเสีย
การศึกที่ถูกกล่าวขวัญถึงในเรื่องของความยิ่งใหญ่คือการศึกที่เกิดขึ้นระหว่างพระมหากษัตริย์ พระมหาอุปราชา หรือเจ้าผู้ครองเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการศึกที่ต่อสู้กันบนหลังช้างที่เรียกกันว่าศึกหรือการกระทำยุทธหัตถี
ศึกยุทธหัตถีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคกรุงศรีอยุธยานั้นคือศึกระหว่างเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ที่เกิดขึ้นภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) พระราชบิดา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของอาณาจักรอยุธยา
หลังจากเจ้านครอินทร์ขึ้นครองราชย์นั้น ทรงโปรดให้พระราชโอรส ๓ พระองค์ไปปกครองเมืองอื่นและหัวเมืองฝ่ายเหนือที่พระองค์ทรงปราบปรามได้สำเร็จ โดยให้พระราชโอรสองค์แรกคือเจ้าอ้ายพระยาไปครองเมืองสุพรรณบุรี องค์ที่สองคือเจ้ายี่พระยาไปครองเมืองแพรกศรีราชา(สรรคบุรี) และองค์ที่สามคือเจ้าสามพระยาไปครองเมืองพิษณุโลก
เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๑๙๖๗ ได้เกิดศึกแย่งชิงราชสมบัติ โดยเจ้ายี่พระยาซึ่งทราบข่าวก่อนได้ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่ทางเข้าตลาดเจ้าพรหม ชุมชนใหญ่ชานกรุงศรีอยุธยาเพื่อเตรียมขึ้นครองแผ่นดิน แต่เจ้าอ้ายพระยาผู้เป็นพระเชษฐาทรงไม่ยินยอมให้พระอนุชากระทำการเช่นนั้น จึงยกกำลังจากเมืองสุพรรณบุรีมายังกรุงศรีอยุธยาโดยตั้งทัพที่วัดพลับพลาชัย ตำบลป่ามะพร้าว ทั้งสองพระองค์ทรงช้างต้นมาปะทะกันที่สะพานป่าถ่าน และเกิดศึกยุทธหัตถีขึ้น ซึ่งต่างก็มีฝีมือในการรบได้เข้าต่อสู้กันและต่างก็ใช้ของ้าวฟันเข้าหากันแบบพร้อมกันต้องพระศอของทั้งสองพระองค์ขาดทั้งคู่ สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
ความทราบถึงเจ้าสามพระยา จึงเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อจัดการถวายพระเพลิงพระศพของพระเชษฐาทั้ง ๒ พระองค์ที่วัดมหาธาตุ และโปรดให้สร้างวัดราชบูรณะขึ้นพร้อมกับก่อพระเจดีย์ ๒ องค์ในบริเวณที่ตั้งพระเมรุ ซึ่งเป็นบริเวณที่พระเชษฐาทรงทำยุทธหัตถี เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระเชษฐา รวมทั้งการสร้างพระปรางค์ใหญ่ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระราชบิดาในวาระนั้นด้วย แล้วจึงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของกรุงศรีอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาภายใต้การปกครองของพระองค์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมีความเข้มแข็งทั้งด้านการรบและการปกครอง ทรงเอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎร แผ่นดินจึงมั่นคง ทรงขยายพระราชอาณาเขตและทรงยกทัพไปปราบปรามพวกขอม โดนยึดเมืองนครธมที่เป็นพระนครหลวงของขอมได้ แล้วสถาปนา พระราชโอรสคือพระนครอินทร์ให้เสวยราชสมบัตินครหลวง กวาดต้อนขุนนาง ราษฎร พร้อมกับนำทรัพย์จำนวนมากกลับมาสู่กรุงศรีอยุธยา ทำให้ขอมสิ้นไป และกรุงศรีอยุธยาว่างเว้นการรบด้านนี้ถึง ๑๐๐ ปี
พระองค์ยังทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกันด้วย โดยใช้กุศโลบายทางการเมืองส่งพระราชโอรสคือสมเด็จพระราเมศวร ที่ประสูติจากพระมเหสีองค์หนึ่งที่เป็นเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์สุโขทัย ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ที่ครอบคลุมการปกครองถึงอาณาจักรสุโขทัยด้วย เมื่อพระราเมศวรขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ เป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงทำให้อาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้น
จดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ของวันวลิตหรือเยเรเมียส ฟาน ฟลีต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่มาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหลายปีได้บันทึกถึงเจ้าสามพระยาไว้ว่า “พระองค์ทรงเป็นนักเสรีนิยม สร้างและบูรณะวัดหลายแห่ง ให้ความช่วยเหลือทั้งพระและคนยากจน สมเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเมตตามากที่สุด ที่ประเทศสยามเคยมี”
มีเรื่องน่าสนใจที่ต้องกล่าวถึงเจ้าสามพระยาอีกเรื่องหนึ่ง คือในปีพ.ศ ๒๔๙๙ กรมศิลปากรได้ทำการขุดกรุวัดราชบูรณะที่พระองค์ทรงสร้าง เนื่องจากได้ระแคะระคายว่ามีชาวบ้านไปขุดค้นหากรุสมบัติในองค์พระปรางค์ที่สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชบิดา ปรากฏว่าได้พบห้องลับใต้ดิน ๓ ชั้น เก็บสมบัติอันมีค่ามหาศาล ทั้งพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พระแสงขรรค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องประดับทองคำของพระมหากษัตริย์ เชื่อกันว่าเครื่องทองราชูปโภคในกรุวัดราชบูรณะที่เจ้าสามพระยาสร้างไว้นี้ น่าจะมีอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม แต่ก็ขุดมาได้เพียงส่วนหนึ่งที่เหลืออยู่ รวมทั้งตามกลับคืนจากกลุ่มขโมยที่ลักลอบขุดได้เพียงประมาณ ๒๐% สมบัติเหล่านี้กรมศิลปากรได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะแสดงให้เห็นว่าการศึกทั้งหลาย ที่บางครั้งอาจจะเกิดจากความขัดแย้ง จากการช่วงชิงอำนาจ ในที่สุดก็ลงท้ายด้วยการที่มีผู้ปกครองที่เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่มีพระปรีชาสามารถและทำให้ชาติกลับมาเจริญรุ่งเรือง มีความเข้มแข็ง มั่นคง เป็นปึกแผ่น และประชาราษฎร์ได้อาศัยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
การปกครองไม่ว่าจะในรูปแบบหรือระบอบใดก็ตาม ย่อมจะต้องมีผู้นำในการที่จะบริหารประเทศ ซึ่งรวมทั้งระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตย ที่มักมีคนนำไปกล่าวอ้างว่า “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ก็หนีไม่พ้นการที่จะต้องมีผู้มานำการปกครอง เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกจากคำว่าพระมหากษัตริย์มาเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง
ตำแหน่งที่ว่านี้ถึงแม้จะมาจากประชาชน แต่เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว สิ่งที่จะตามมาเสมอก็คืออำนาจ และอาจจะบอกได้เลยว่าอำนาจนั้น หากเปรียบกับอาหารก็คืออาหารที่อร่อยสุดยอด มีความหอม และรสชาติหวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด ร้อนอยู่ในตัว ซึ่งเมื่อได้ลิ้มลองแล้วยากที่จะลืมได้ จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่าหลงในรสชาตินั้น
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าประเทศไทยที่มีการปกครองในระบอบที่อ้างว่าเป็น ประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ และมีนายกรัฐมนตรีมาแล้วเป็นจำนวน ๓๐ คน จึงมีนายกบางคนที่เรียกได้ว่าติดหรือหลงอยู่ในอำนาจที่มีอยู่นั้น โดยเมื่อคิดว่าอยากจะทำอะไร โดยมีคณะรัฐมนตรีซึ่งตนเองเสนอแต่งตั้งเป็นผู้หนุนหลังอยู่ ก็จะต้องทำให้สำเร็จ ทั้งที่มีเรื่องจำนวนไม่น้อยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นชอบในการกระทำดังกล่าว
ถึงแม้ว่าในระบอบประชาธิปไตยจะมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ก็แทบจะไม่เคยเห็นความสำเร็จของการค้านนั้นเลย จึงทำให้ผู้ที่เป็นฝ่ายค้านต้องพยายามอย่างที่สุดในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปว่าจะต้องกลับขึ้นมาเป็นฝ่ายรัฐบาล เพื่อสร้างโอกาสหรือแสวงหาอำนาจ และหากได้มาก็จะใช้อำนาจนั้นตามที่ตนเองปรารถนาเช่นกัน
จึงเป็นที่มาของการพยายามที่จะโค่นล้มการสืบทอดอำนาจ ซึ่งหากสืบทอดกันนานมาก อาจจะเปลี่ยนจากความหลงอำนาจเป็นความเหลิงอำนาจ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอันเป็นเหตุผลให้ทหารที่เป็นผู้ปกปักรักษาชาติ ต้องทำการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มอำนาจอันมิชอบเหล่านั้น
การรัฐประหารหลายครั้งทำให้สามารถหยุดยั้งอำนาจของบางคนหรือบางกลุ่ม ได้แค่เพียงชั่วคราว เพราะเมื่อการเมืองต้องดำเนินไปตามระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง เพื่อจะนำไปสู่การหาผู้บริหารประเทศชุดใหม่ ก็มักจะไม่พ้นอีหรอบเดิม ก็ยังจะเห็นคนเก่าๆ มาทำหน้าที่ มีคนใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาก็ไม่อาจคาดหวังได้เลยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวคิดในการลดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อยู่คู่กับชาติไทยมาร่วม ๘๐๐ ปีแล้ว
ที่เลวร้ายคือการใช้อำนาจในการแก้ไขหรือออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ที่กระทำผิด แม้แต่การคอร์รัปชั่นโกงกินประเทศ จะได้โอกาสกลับมาบริหารประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง แล้วในที่สุดก็จะกลับมามีอำนาจ ใช้วงจรอุบาทว์ในการกระทำสิ่งใดๆ ที่ตัวเองปรารถนา โดยคิดถึงแต่ประโยชน์ของส่วนตนและพวกพ้องเป็นหลัก แอบอ้างเอาประชาชนมาบังหน้า ซึ่งในที่สุดย่อมเกิดผลเสียต่อประเทศชาติ
หรือยังจะต้องมีศึกภายในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้คนดี คนเก่ง คนกล้าหาญและมีความสามารถในการที่จะมาเปลี่ยนแปลงประเทศ นำพาประเทศไปให้เกิดความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรือง ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่ที่สำคัญยิ่ง จะต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ยึดติดในอำนาจ และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และชาติอย่างแท้จริง
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี