ปลายปีที่แล้ว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับผู้ประกอบการไทยภายใต้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นผ่านรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประมาณการรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในไทยสูงแตะ 54.2 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 5 ปีย้อนหลัง (CAGR) เฉลี่ยที่ 5.5%
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวอาจจะไม่ได้สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการแฝงตัวของบริษัทที่แม้จะยังมีการประกอบกิจการและรับรู้รายได้อยู่ แต่มีผลตอบแทนจากการดำเนินกิจการที่ไม่เพียงพอต่อต้นทุนทางการเงินอันอาจส่งผลให้บริษัทกลุ่มนี้ แม้จะยังดำเนินธุรกิจอยู่ก็ตาม แต่ก็ทำไปโดยปราศจากจิตวิญญาณ หรือเรียกในทางเทคนิคว่า Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้
ทั้งนี้ การระบุบริษัทซอมบี้ในทางสากลมักวิเคราะห์ผ่านอัตราความสามารถของบริษัทในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio หรือ ICR) ที่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ปีติดต่อกันซึ่งแสดงถึงบริษัทที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยได้ โดย ttb analytics ได้ทำการศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่างที่มีงบการเงินที่มีความน่าเชื่อถือกว่า 5.4 หมื่นราย พบว่า มีบริษัทตกอยู่ในภาวะกำไรไม่พอชำระดอกเบี้ย หรือเรียกว่าบริษัทซอมบี้ (Zombie Firm) ในสัดส่วนกว่า 9.5% ของทั้งหมด โดยส่วนใหญ่แฝงตัวอยู่ในธุรกิจ SMEs สูงกว่าองค์กรขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อพิจารณาลึกลงไปจะพบการกระจายตัวของจำนวนบริษัทที่กำไรไม่พอชำระดอกเบี้ยจ่ายมีการกระจุกตัวในแต่ละอุตสาหกรรมต่างกันไปดังนี้ 1. อุตสาหกรรมที่มีการกระจุกตัวของ Zombie Firm สูง ลักษณะของธุรกิจในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้มีสัดส่วนต้นทุนคงที่สูงและไม่สามารถปรับลดต้นทุนเพื่อรองรับการหดตัวของอุปสงค์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เช่น อุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ จากการลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่มีสภาพคล่องต่ำแต่
ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
2.อุตสาหกรรมที่มีการกระจุกตัวของ Zombie Firm ต่ำ ลักษณะของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ มีอัตราส่วนกำไรที่ดี และมีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาและรายได้ที่ต่ำจากการเป็นสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีพ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมด้านสาธารณูปโภค ที่ไม่ได้รับผลกระทบแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว
บทวิเคราะห์ยังลงลึกในรายละเอียดมากมายก่อนสรุป ว่า แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่ แต่อย่างไรก็ตามในการมองการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพควรคำนึงถึงอัตราการอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาวควบคู่ไปด้วย ซึ่งหากพิจารณาถึงประเด็นการแฝงตัวของ Zombie Firm เพียงอย่างเดียวที่มีสัดส่วนในภาพรวมถึง 9.5% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจยังไม่สะท้อนภาพความเสี่ยงได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องมองลึกต่อไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง หรือบริษัท “ติดเชื้อ” ที่เมื่อสถานการณ์ทางการเงินแย่ลงอาจกลายสถานะเป็นบริษัทซอมบี้ในอนาคตมากขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 35.5% จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจเพื่อช่วยเหลือกลุ่มบริษัทที่พอมีศักยภาพให้เร่งปรับตัวไปต่อ ช่วยลดอัตราการเข้าสู่สภาวะ Zombie Firm และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี