เป็นเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านมา นานาชาติมองว่าประชาธิปไตยในสาธารณรัฐเกาหลีใต้ มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ คานอำนาจกันอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับชาวเกาหลีใต้หวงแหนประชาธิปไตย แสดงพลังกดดันให้กระบวนการประชาธิปไตยอยู่ในกรอบของกระบวนการ
จะเห็นได้ว่า ในเวลายี่สิบปีหลังนี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่มีข้อครหาคอร์รัปชั่น และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถูกฝ่ายนิติบัญญัติถอดถอนถึงสามคน และหลังจากถูกถอดถอน ฝ่ายตุลาการก็ดำเนินคดีกับประธานาธิบดีที่ถูกสภาถอนตามกระบวนการประชาธิปไตย
มีหลายกรณีที่บ่งชี้ว่า ชาวเกาหลีใต้จริงจังในการใช้ระบบของเขาเอาผิดกับผู้ฉ้อฉล เช่น ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ต้องลาออกเมื่อปี 2530 อดีตประธานาธิบดี โรห์ มู เฮียน กระโดดภูเขาตายเมื่อปี 2554 อดีตประธานาธิบดีลี เมียง บัค ถูกจำคุกเมื่อปี 2561 และประธานาธิบดี พัค กึนฮเย ซึ่งเป็นลูกสาวของนายพล ปาร์ค จุง ฮี ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง และศาลตัดสินจำคุกเมื่อปี 2564
ตั้งแต่ปลายปี 2567 ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เริ่มสั่นคลอน เมื่อผู้นำฝ่ายบริหาร ละเลยอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นพฤติการณ์คล้ายกับอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ที่ทำตัวเหนือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกระบวนการ และกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย อาศัยช่องว่างทางกฎหมายถ่วงเวลาให้อยู่ในอำนาจต่อไป
นานเท่าทำได้ เช่นเดียวกับ กรณีประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ที่ไม่ยอมไปให้การต่อสำนักงานการสอบสวนการทุจริต สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) หลังจากเขาถูกสภาถอดถอน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่ประกาศกฎอัยการศึกผิดกฎหมาย และถูกสภากล่าวหาคอร์รัปชั่น
ประธานาธิบดียุน ประกาศกฎอัยการศึกคืนวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา แต่หกชั่วโมงหลังจากนั้น สส.ฝ่ายค้านและ สส.รัฐบาลบางคน ลุยฝ่าด่านทหาร
ที่ประธานาธิบดียุนสั่งให้ปิดล้อมสภา เข้าไปประชุม195 คน และลงมติเป็นเอกฉันท์ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกได้สำเร็จ
วันที่ 4 ธันวาคม ประธานาธิบดียุน ออกมาโค้งคำนับขออภัยที่สร้างความสับสนให้ประชาชน แต่ไม่ลาออกตามเสียงเรียกร้องของประชาชนและพรรคฝ่ายค้าน โดยอ้างว่าพรรคฝ่ายค้าน สื่อมวลชนตลอดถึงประชาชนบางส่วนเข้าข้างเกาหลีเหนือมีจุดมุ่งหมายทำลายรัฐ
วันที่ 7 ธันวาคม พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติถอดถอนในสภา ที่ยุนประกาศสู้หัวชนฝานำ สส.ฝ่ายรัฐบาลบอยคอตต์ไม่เข้าประชุมสภา ทำให้ญัตติถอดถอนตกไป สร้างความสับสนวุ่นวาย เมื่อประชาชนหลายหมื่นคนประท้วงขับไล่รัฐบาล ในเวลาเดียวก็มีชาวเกาหลีใต้หลายพันคนชุมนุมสนับสนุนยูน ซอก ยอล ให้เป็นประธานาธิบดีต่อไป
ท่ามกลางความตึงเครียด ที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านเผชิญหน้ากัน ในวันที่ 14 ธันวาคม พรรคฝ่ายค้านโดยความร่วมมือของ สส.รัฐบาล 12 คน ลงมติถอดถอน ยุน ซอก ยอล ด้วยคะแนน 204 เสียง เกินสองในสามของสภา 300 คนได้สำเร็จ
รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประธานาธิบดีที่ถูกถอดต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ภายใน 180 วัน และขณะที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยให้ยุน ซอก ยอล หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้
ในระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ รัฐธรรมนูญกำหนดให้อัยการ และสำนักงานตรวจสอบทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) สอบสวนดำเนินคดีประธานาธิบดีที่ถูกกล่าวหาระหว่างการถอดถอน
ประธานาธิบดียุน ใช้ช่องว่างและแง่มุมกฎหมายอ้างว่า ประธานาธิบดีมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ไม่ไปให้การต่อ CIO ที่ส่งหมายเรียกไปสามครั้ง สุดท้าย CIO ขอหมายจับกุมจากศาลฐานขัดขืนกระบวนการสอบสวนในข้อหาขบถ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และคอร์รัปชั่น
วันที่ 3 มกราคม เวลาประมาณ 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการสอบสวนการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ เดินทางมาถึงหน้าบ้านของประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ของเกาหลีใต้ เพื่อดำเนินการจับกุมตัว ตามหมายจับของศาล ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนนายยุน และทหารรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดีขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ทหารรักษาความปลอดภัยบ้านพักประธานาธิบดี ที่มีประชาชนหลายพันคนเรียกตัวเองว่า “กลุ่มผู้รักชาติ” ถือธงชาติสหรัฐอเมริกาคู่กับธงชาติเกาหลีใต้ขัดขวาง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหมายศาลเข้าถึงบ้านพักประธานาธิบดี
ในเวลาเดียวกันอีกด้านหนึ่ง ก็มีชาวเกาหลีใต้หลายพันคนชุมนุมต่อต้านยูน ซอก ยอล เรียกร้องกดดันให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าจับเขาให้ได้ ตำรวจเจ้าหน้าที่ CIO และอัยการรวมกันประมาณ 250 คน เผชิญหน้ากับทหารรักษาการณ์บ้านพักประธานาธิบดีประมาณ 200 นาย ในบรรยากาศตึงเครียดหลายชั่วโมง
ในที่สุด สำนักงานสอบสวนการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ของเกาหลีใต้ ประกาศระงับการบังคับใช้หมายจับ ในการควบคุมตัว ประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ในวันที่ 3 มกราคม “เราพิจารณาว่า การจับกุมในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้” เจ้าหน้าที่สอบสวนทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งสอบสวนยุนในข้อหาขบถจากการประกาศกฎอัยการศึกในระยะเวลาสั้นกล่าว “ขั้นตอนต่อไปจะตัดสินใจอีกครั้งหลังทบทวน” CIO กล่าวและเสริมว่า “การปฏิเสธกระบวนการทางกฎหมายถือเป็น “เรื่องน่าเสียใจอย่างสุดซึ้ง” หมายจับมีอายุถึงวันที่ 6 มกราคม 2568
ไม่ชัดเจนว่า CIO จะขอหมายศาลอีกหรือไม่ หากภายในวันที่ 6 มกราคม ยังจับกุมตัวยุน ซอก ยอลไม่ได้CIO ประกาศระงับการจับกุม ท่ามกลางเสียงตะโกนของผู้สนับสนุนว่า “ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล จะได้รับการปกป้องจากประชาชน” อีกทั้ง ผู้ประท้วงเรียกร้องให้หัวหน้า CIO ถูกจับกุมตัวด้วย โดยกลุ่มผู้ประท้วงนั้นนิยามว่าตัวเองเป็นพลเมืองที่รักชาติ ซึ่งเป็นคำที่ยุนใช้เมื่อกล่าวถึงผู้สนับสนุนของเขา
ในการชุมนุมครั้งนี้ มีการถือธงชาติเกาหลีใต้และสหรัฐ ระบุคำว่า “ก้าวไปด้วยกัน” เป็นภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษ ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าวว่า
เขาหวังว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ จะให้การช่วยเหลือยุนและทำให้เกิดความสงบสุขในเกาหลีใต้อีกครั้ง...
ไม่ชัดเจนว่า ผู้ที่เรียกร้องให้ ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ช่วยเหลือยุน ซอก ยอล เป็นกลุ่มจัดตั้งของซีไอเอหรือไม่ แต่อนุมานได้ว่า อเมริกันต้องมีส่วนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งที่เสริมพลังให้ประธานาธิบดีอนุรักษ์นิยมขวาจัดของเกาหลีใต้ ท้าทายกระบวนการประชาธิปไตยและกฎหมายได้ถึงเพียงนี้
มองจากท่าทีถ่วงเวลา และหาช่องว่างทางกฎหมาย ยุน ซอก ยอล มีพฤติกรรมคล้ายกับผู้นำทางการเมืองของไทยในปี 2549 ที่ถูกประชาชน และพรรคฝ่ายค้านกดดัน จนต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แล้วจัดให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางประชาชนประท้วงวุ่นวาย และฝ่ายค้าน บอยคอตต์ไม่ร่วมสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 22 เมษายน 2549 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน เป็นโมฆะ
คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกตัดสินจำคุก แต่อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อหังการดื้อรั้นยังเป็นนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยที่ไม่มี สส.ไม่มีสภา ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ อดีตนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไทยเหมือนกับกระบวนการประชาธิปไตยยังสมบูรณ์ทุกประการ จนถึงที่ 19 กันยายน 2549 ทหารออกมายึดอำนาจ
สรุปว่าอดีตนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไทย โดยที่ไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติคานอำนาจตามกระบวนการประชาธิปไตยนานแปดเดือน ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงได้สั่นคลอนตั้งแต่นั้นมา เนื่องจากว่าผู้นำทางการเมืองไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยึดมั่นหลักเกณฑ์ในกระบวนการประชาธิปไตย
ในปี 2549 ผู้นำทางการเมืองของไทยไม่ยึดมั่นในกระบวนการ และหลักเกณฑ์ประชาธิปไตยฉันใด วันนี้การเมืองเกาหลีใต้ก็เป็นฉันนั้น แต่ต่างกันตรงที่ เวลานี้มีทหารอเมริกันประจำการในเกาหลีใต้ราว 28,500 นาย วัตถุประสงค์หลักคือ การป้องปรามภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
เมื่อประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ใช้ข้ออ้างอยู่ในอำนาจต่อไปเพื่อต่อต้านภัยคุกคามเกาหลีเหนือ วันที่ 4 มกราคม นายแอนโทนี บลิงเคิน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ รีบรุดไปเยือนเกาหลีใต้ แน่นอนสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้คุ้มครองเกาหลีใต้ ต้องมีบทบาทสำคัญในวิกฤตการเมืองเกาหลีใต้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี