ขอสนับสนุนให้ ร.ฟ.ท.ทำหน้าที่ทวงคืนที่ดินที่ดินเขากระโดงอย่างสมศักดิ์ศรี
อย่าใช้วิธีชกใต้เข็มขัด
ประเภทพยายามสื่อสารให้คนเข้าใจสับสน ผิดเพี้ยน เข้าทางประโยชน์ของฝ่ายตนอย่างไม่สมควร
หนึ่งในประเด็นที่มักอ้างกัน คือ ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดแล้วว่าทั้งหมด 5 พันไร่ เป็นที่ดิน ร.ฟ.ท. หรือศาลสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงทั้งหมด
ความจริง ถ้าศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงทั้ง 5 พันไร่จริงๆ แล้วกรณีที่ดินไม่ยอมเพิกถอน ป่านนี้ คงจะมีคนติดคุกไปนานแล้ว
1. กรณีที่ดินเขากระโดง มีคดีที่จบในชั้นศาลฎีกาแล้ว และยังมีคดีในศาลปกครอง
1.1 คดีที่จบไปแล้ว บังคับคดีไปเรียบร้อยแล้ว
คดีที่ประชาชน 35 ราย นำเอกสารการครอบครองที่ดิน สค.1 ไปร้องต่อศาลขอให้กรมที่ดินออกโฉนดที่ดิน แต่การรถไฟฯคัดค้าน
ศาลได้ตัดสินให้ยกคำร้องของประชาชนทั้ง 35 ราย
เนื่องจากการรถไฟฯนำแผนที่แสดงอาณาเขตที่ดินจำนวน 5,083 ไร่ แสดงต่อศาล ว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯรับถ่ายโอนมาจากกรมรถไฟหลวง
สุดท้าย ศาลฎีกา วินิจฉัยว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯและให้กรมที่ดินเพิกถอนคำร้องของประชาชน 35 ราย
หลังจากนั้น กรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำตัดสินของศาลในคดีเหล่านั้นไปแล้ว
1.2 ความจริง นอกจากประชาชน 35 รายนั้นแล้ว ยังมีประชาชนที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน และ นส.3 ก. มากกว่า 900 ราย
แตกต่างจากประชาชน 35 รายนั้น ซึ่งไม่มีโฉนดในมือสักคน
ประชาชนที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน และ นส.3 ก. มากกว่า 900 แปลง ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาตัดสินถึงที่สุดไปแล้วด้วย เพราะไม่ใช่คู่กรณี หรือคู่ความในครั้งนั้น
1.3 คดีศาลปกครองในขณะนี้ บางฝ่ายอ้างมั่วๆ ว่าศาลพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง
คดีนี้ ร.ฟ.ท. เป็นฝ่ายฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้กรมที่ดินเพิกถอนการจดทะเบียนนเอกสารสิทธิทุกแปลง ในพื้นที่ 5,083 ไร่
การรถไฟฯ บรรยายฟ้องว่าเป็นการออกโฉนดที่ดิน ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นที่ดินการรถไฟ โดยนำเสนออ้างแผนที่้ท้ายพระราชกฤษฎีกา พระพุทธศักราช 2462 และอ้างว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัย ตามหลักฐานที่การรถไฟฯ นำมาแสดงต่อศาล (ในคดีที่มีประชาชน 35 รายเป็นคู่ความ)
ปรากฏว่า ศาลปกครอง ได้มีคำพิพากษา ยกฟ้องคำร้องของการรถไฟฯ และให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง ตามมาตรา 61 ของกฎหมายที่ดิน
สาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลปกครอง คือ คำร้องที่ร.ฟ.ท.ขอให้ศาลสั่งกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธินั้น ศาลให้ยกคำร้อง
และ ให้ไปตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ ทุกกรณีที่มีการฟ้องร้องให้กรมที่ดินเพิกถอนการจดทะเบียนออกเอกสารสิทธิที่ดิน ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือผิดกฎหมาย
“..หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และพิจารณาข้อเท็จจริงได้เป็นเช่นใด ย่อมเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่จะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้...” – คำพิพากษาศาลปกครอง
ตรงนี้ คือ ประเด็นที่ ร.ฟ.ท. ไม่น่าจะได้เปรียบที่ศาลปกครอง
และ ร.ฟ.ท.คงไม่ต้องการฟ้องรายแปลง
แต่มีความพยายามจะใช้คำพิพากษาศาลฎีกา กดดันกรมที่ดินให้เพิกถอนทีเดียวทั้ง 900 แปลง
พอศาลปกครองไม่สั่งให้เพิกถอน ก็ยังมีคนพยายามปั่นกระแส บิดเบือนข้อมูลให้สังคมเข้าใจผิดว่าศาลสั่งเพิกถอนแล้ว
2. อย่าชกใต้เข็มขัด
เมื่อ ร.ฟ.ท.ฟ้องกรมที่ดินให้ศาลสั่งเพิกถอนการออกโฉนดและเอกสารสิทธิมากกว่า 900 แปลง จึงเป็นเหตุให้กรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้อง ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี
ประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ และเป็นผู้เสียสิทธิ ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีด้วย
เมื่อศาลสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการสอบสวนสิทธิการถือครองที่ดินของทั้งการรถไฟฯ และประชาชน
ผลการสอบสวนของคณะกรรมการตามมาตรา 61 พบว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างเป็นรูปแผนที่สังเขปซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กปร. ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876/2560 และ ที่ 8027/2561 จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2464 ...”
แผนที่ที่การรถไฟ นำไปอ้างในศาลฎีกา ไม่ใช่แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พระพุทธศักราช 2462 และสัดส่วนในแผนที่ ผิดจากความเป็นจริงในพื้นที่ เช่น ทางรถไฟ ระบุในแผนที่ มีความยาว 8 กิโลเมตร แต่รางรถไฟที่มีอยู่จริงในพื้นที่ ความยาว 6.2 กิโลเมตร อีก 1.8 กิโลเมตร เป็นที่ดินของประชาชน ซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีผู้แทนการรถไฟฯ เป็นผู้ชี้แนวเขตการรถไฟฯ ซึ่งไม่ทับซ้อนที่ดินของประชาชน ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในเอกสารที่ประชาชนนำมาแสดงล่าสุดด้วย
จากการสอบสวน พบว่า แผนที่ฉบับที่การรถไฟฯนำมาอ้าง เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นภายหลัง ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินและพนักงานการรถไฟฯ ร่วมกันจัดทำขึ้นเอง เพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินของประชาชน ไม่ใช่แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พระพุทธศักราช 2462 และเมื่อกรมที่ดิน ให้การรถไฟฯ นำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พระพุทธศักราช 2462 แสดงเขตที่ดินการของการรถไฟฯ เป็นหลักฐานประกอบการรังวัดชี้แนวเขตที่ดิน ปรากฏว่า การรถไฟฯไม่สามารถนำมาแสดงได้ ในขณะที่ได้ประชาชนนำเอกสารสิทธิที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายมาแสดง และคัดค้านการชี้แนวเขตของผู้แทนการรถไฟฯ
คณะกรรมการสอบสวน พิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อการรถไฟฯไม่สามารถนำเอกสารสิทธิที่ดีกว่าประชาชนมาแสดงต่อคณะกรรมการได้ และมีประชาชนถือครองเอกสารสิทธิยื่นคัดค้าน จึงยังไม่มีเหตุให้เพิกถอนการออกเอกสารสิทธิของกรมที่ดิน จึงได้รายงานต่ออธิบดีกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินได้รายงานกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นผู้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการแล้ว
ขณะนี้ ต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
คดีในส่วนนี้ ยังไม่เป็นที่ยุติ
ดังนั้น ที่มีการกล่าวอ้างว่า ศาลฎีกา และศาลปกครอง ได้ตัดสินให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเขากระโดงแล้ว จึงไม่ถูกต้อง
เข้าข่ายชกใต้เข็มขัด
เจตนาทำให้สังคมสับสน เข้าใจผิดว่ากรมที่ดินขัดคำสั่งศาล
3. อันที่จริง ขณะนี้ เรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครอง
กระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเข้าไปแทรกแซงสั่งการมิได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพรรคการเมืองใดๆ พยายามจะหยิบเรื่องนี้มาขยายผล หวังผลทางการเมือง ก็ไม่สมควรทำ
โดยเฉพาะหากชี้นำสังคมให้เกิดความสับสนว่าศาลพิพากษาให้เพิกถอนทั้ง 5 พันไร่แล้ว ก็ยิ่งไม่สมควร ไม่ถูกต้อง
4. อีกทางหนึ่ง
หาก ร.ฟ.ท. มั่นใจว่ามีเอกสารสิทธิที่ดีกว่าจริงๆ สามารถใช้สิทธิฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ เป็นรายแปลง
หากศาลมีคำสั่งให้การรถไฟฯชนะคดี กรมที่ดินจะต้องเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิเป็นรายแปลงตามคำสั่งศาล
หากเห็นว่า กรมที่ดิน หรือเจ้าหน้าที่รัฐใดปฏิบัติหน้าที่มิชอบก็สามารถร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย (ตอนนี้ ก็มีคนร้องต่อ ป.ป.ช.อยู่แล้ว)
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี