เวลานี้ เราจะเห็นนักการเมืองบางกลุ่ม โดยเฉพาะ “พรรคประชาชน” กระเหี้ยนกระหือรือในการจะ “แก้รัฐธรรมนูญ”ฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาก
เมื่อเทียบความกระเหี้ยนกระหือรือในเรื่องนี้ กับความเอาจริงเอาจังในการ “ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล”ในฐานะที่พรรคประชาชนเป็นพรรคแกนนำซีกฝ่ายค้าน อันมีหน้าที่สำคัญคือ ตรวจสอบและถ่วงดุล กลับไม่เห็นความมุมานะและเอาจริงเอาจังเท่า
พรรคประชาชนหมกมุ่นกับการทำหน้าที่ “นิติบัญญัติ”จนลืมหน้าที่สำคัญคือ หน้าที่ “ฝ่ายค้าน” ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นฝ่ายแค้นหรือค้านทุกเรื่อง แต่ต้อง “ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล” อย่างจริงจัง เรากลับไม่เห็น “ความเอาจริงเอาจัง” ในเรื่องดังกล่าวเลย เล่นเอาภาพเก่าที่ “นายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ” บินไปพบ “นายทักษิณ ชินวัตร” ที่ฮ่องกง หลอกหลอนความคิดผู้คนว่า “หรือพวกเขามีดีลกัน”หรือจริงยิ่งกว่านั้น คือ หรือว่า...ทักษิณสร้างพรรคสีส้มขึ้นมาเพื่อ “สร้างอำนาจต่อรอง” ของตัวเอง
ความจริงในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงในพฤติกรรม “ไม่ตรวจสอบทักษิณ ไม่แตะต้องอุ๊งอิ๊งค์” นั่นจริงแล้ว เป็นที่ประจักษ์แล้ว
เราจึงเห็น “ความหมกมุ่น” ในการจะ “แก้รัฐธรรมนูญ”จนกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ของ “พรรคประชาชน”ไปแล้ว หลังจากเรื่อง ม.112 กลายเป็น “ดาบที่ประหารชีวิต”พรรคก้าวไกลจนด่าวดิ้นไปในทางการเมือง จึงต้องทิ้งประเด็นดังกล่าว แล้วหันมาว้าวุ่นกับการจะแก้รัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ” แทน
1) นางอังคณา นีลไพจิตร สว. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาชน เสนอต่อประเด็นการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีประเด็นที่ลิดรอนสิทธิของสว.ต่อการออกเสียงเห็นชอบ ว่า ตนสนับสนุนในเนื้อหาที่พรรคประชาชนเสนอ โดยเนื้อหาที่เสนอแก้ไขนั้นเป็นสิทธิที่ทำได้ อย่างไรก็ดี ตนประเมินว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้ พรรคประชาชนอาจจะเหนื่อย เนื่องจากว่าไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก สว.ส่วนใหญ่
“อย่างไรก็ดี ตนขอเรียกร้องไปยัง สว.ส่วนใหญ่ให้คำนึงถึงอนาคตประเทศและประชาชน เพราะต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นมีปัญหาหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไขโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นั้น มีการประเมินว่า อาจมีกระบวนการทำให้ยืดเยื้อ เพราะจะถูกยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะมีฝ่ายใดเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นเมื่อมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การพิจารณาต้องหยุดไปก่อนจนกว่ามีคำวินิจฉัย
2) ผมว่า นางอังคณามีรสนิยมทางการเมืองเป็น “สีส้ม” นะครับ ผิดไหม ไม่ผิด แต่สิ่งที่นางอังคณาต้องทำ คือ บอกแก่ประชาชนคนไทยทั้งชาติให้ได้ว่า รัฐธรรมนูญมาตราไหนที่สร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติ ประชาชน และความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่เคยชี้ให้เห็นกันเลย
3) ผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนคนไทย “เห็นปัญหา” ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าทั้งฉบับ หรือโดยมาตราใดก็ตาม เขาย่อมสนับสนุนให้มีการแก้ไขแน่ เพราะมันแน่ชัดแล้วว่า “เป็นปัญหา” แต่สำหรับ “ปัญหาทางใจ” ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มคนที่รังเกียจ “รัฐประหาร” แล้วมองว่ารัฐธรรมนูญนี้เกิดในยุคของการรัฐประหาร อันนี้ ผมว่า“จิตป่วย” เพราะรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย มีมาครบหมดแล้ว ทั้งเกิดจากการรัฐประหาร เกิดจากการประนีประนอมของฝ่ายรัฐประหารและกลุ่มอำนาจเดิม เกิดจากการร่างโดยมี“สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร. มีทั้งฉบับที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นชอบและไม่เห็นชอบ และฉบับที่ไม่ผ่านขั้นตอนนี้ แต่สุดท้าย ปัญหาไม่ได้เกิดจาก “กำเนิด” ของมัน แต่เกิดขึ้นเมื่อ “นำมาใช้” อุปมาเหมือนลูกโจร ไม่ได้แปลว่าเขาต้องเติบโตเป็นโจร ลูกโสเภณี ไม่ได้แปลว่า โตมาต้องเป็นโสเภณี ลูกตำรวจ เป็นโจรก็ถมไป
4) มันจึงต้องคุยกันอย่าง “สุจริต” และ “ตรงไปตรงมา” ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ผ่าน “ประชามติ” จากประชาชนคนไทยแล้วนั้น มีปัญหาตรงไหน มีปัญหาทั้งฉบับเลยหรือ ถึงจะต้องฉีกทิ้ง แล้วเขียนใหม่ทั้งฉบับ ทำไมไม่ยึดหลักว่า มาตราไหนมีปัญหา ก็แก้ไขเป็นรายมาตราไปไม่ต้องไปยุ่งยากวุ่นวายเรื่องการต้องทำประชามติ ซึ่งเสียเงินเสียเวลา และยังไม่เห็นเหตุผลหรือความจำเป็นว่า ทำไมต้องแก้ทั้งฉบับ ทำไมต้องตั้ง ส.ส.ร.
5) นางอังคณาใช้คำว่า “ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นมีปัญหาหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไขโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” เท่ากับว่า
นางอังคณาก็ชี้ไม่ได้ ว่าปัญหาอยู่ที่ “มาตราไหน” แต่เป็นปัญหาว่า ไม่ได้มาโดยประชาชน อ้าว! แล้วที่ประชาชนเขาไปลงมติ แล้วเสียงส่วนใหญ่รับร่างนั่น เป็นหมูหมากาไก่ มิใช่ประชาชนหรอกหรือ?
6) ถามนางอังคณาหน่อยว่า เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่แล้ว ถ้าพูดกันหยาบๆ ก็คือ มีไว้ทำส้นตีนอะไร ก็ถ้าต้องการคนที่มาจากการเลือกของประชาชน ทำไมไม่ใช้ สส. กับสภา แก้รัฐธรรมนูญล่ะ ทำไมต้องมี ส.ส.ร. ซึ่งเสียเงิน เสียเวลา และมีโอกาสถูกชี้นำ ยึดครอง โดยพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ต่างจากคณะรัฐประหารเลือกคนมาร่างนั่นแหละ เท่ากับว่า นางอังคณาทั้ง “มองข้ามหัวประชาชนที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560” และ “มองข้ามหัว สส. ที่มาจากการเลือกของประชาชน” ด้วย นี่ไม่ใช่ “นักประชาธิปไตย” นี่คือ “คนเอาแต่ใจ”
7) ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่เคยลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 และคำถามพ่วง แต่เคารพมติของประชาชนส่วนใหญ่ที่เขารับร่าง ขอยืนยันว่า ประเทศชาติมีเงินทองจำกัด ไม่จำเป็นต้องเอาเงินทองนั้นไปจ้าง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีปัญหาทั้งฉบับ ดังนั้น จงใช้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ร่วมกันแก้ไขในมาตราที่เป็นปัญหา หรือเพิ่มในมาตราที่ควรจะมี แต่ไม่มี แล้วตัดมาตราที่ไม่ควรจะมีออกไป โดยให้เหตุผลต่อประชาชน และอภิปรายกันในสภาอย่างเปิดเผย อยู่ในสายตาประชาชนจะดีกว่า ไหนๆ ก็เสียเงินจ้าง สส. สว. อยู่ทุกเดือนแล้ว ไม่รวมสวัสดิการ ข้าวปลาอาหาร และการเดินทางอีก ทำงานให้มันคุ้มค่าหน่อย และหยุดสร้างปัญหา สร้างความแตกแยกขึ้นในสังคมจะดีกว่าไหม
8) “รัฐธรรมนูญ” ไม่ใช่ “ปัญหาใหญ่” หรือ “ปัญหาเร่งด่วน” ของประเทศชาติและประชาชนเลย เป็นปัญหาใน “จริต” ของคนบางกลุ่มเท่านั้น และแก้ไขได้ ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ แต่ที่มันต้องล่าช้า ที่นางอังคณาใช้คำว่า “อาจมีกระบวนการทำให้ยืดเยื้อ” เพราะพวกคุณไปสร้างเงื่อนไขให้มันยุ่งและยาก ปัญหามันอยู่ที่ “จริต” และ “วิธีการ”ของพวกคุณ ไม่ใช่วิธีการในการแก้ที่บัญญัติไว้
8) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรค และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 นั้น ตนมองว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 256 โดยใน (6) ของพรรคประชาชน เรื่อง การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสามที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยเสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และแทนที่ด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทนนั้น ถือเป็นการริบอำนาจ หรือตัดทอนอำนาจของ สว.ลงอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา โดย สว. หรือสภาสูง มีเพื่อช่วยกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรให้เกิดความรอบคอบ ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติมากที่สุด หากถูกตัดอำนาจลงไป มองว่าจะเป็นการเสียสมดุลของอำนาจทั้งสองสภาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองสภาอย่างแน่นอน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) ได้บัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ตนขอคัดค้านในการเสนอร่างแก้ไขของพรรคประชาชน ได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯ ในมาตรา 256(8) ในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระนั้น ตนในฐานะสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำจุดยืนชัดเจนมาตลอด ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เพราะรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าวได้เขียนไว้อย่างดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข ส่วนการเสนอของพรรคประชาชน ที่เสนอให้ไม่ต้องจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ นั้น มองว่า สุดท้ายจะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมา เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 วินิจฉัย เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องจัดทำประชามติก่อนและหลังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถึง 3 ครั้ง
“หากพรรคประชาชนดันทุรังอาจสุ่มเสี่ยงที่ผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณา เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ อาจถูกร้องเอาผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งเกี่ยวโยงปัญหาสมาชิกรัฐสภาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง และอาจถูกส่งให้ ป.ป.ช.ถอดถอนด้วย เชื่อว่า จะไม่ผ่านความเห็นชอบทั้งสองสภาไม่เอาด้วยกับกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงแบบนี้แน่นอน ที่สำคัญพรรคร่วมรัฐบาล ย้ำจุดยืนเดิมชัดเจนมาตลอดว่า แก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1-2” นายธนกร ย้ำ
สรุป : ยังไม่มีประชาชนคนไหนจะเป็นหรือตายเพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช่ อาจมีบางมาตราที่สร้างปัญหา เปิดช่องให้คนชั่วทำผิด ปิดการตรวจสอบ ไปแก้มันหมายถึงแก้ที่มาตรานั้นๆ
อย่าทำให้สังคมยุ่ง ด้วยการทำให้ยาก และโป้ปดบิดเบือนกับสังคมว่า “ติดล็อก”
มีประตูให้ออก เสือกจะออกทางหน้าต่าง ทางฝ้าเพดาน แล้วมันจะง่ายได้ยังไง?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี