ทักษิณ ชินวัตร พ่อนายกฯ ยืนยันด้วยตนเองว่า จะไม่มีการปรับ ครม. ในส่วนของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
แถมสำทับด้วยความเห็นเชิงนโยบายเรื่องพลังงาน ทั้งเรื่องน้ำมัน เรื่องไฟฟ้า สอดประสานไปในทางเดียวกับที่รัฐมนตรีพลังงาน พีระพันธ์ุพยายามขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้
แม้นายทักษิณจะไม่เป็นนายกฯ แต่เป็น “พ่อนายกฯ”
คำพูดข้างต้น จึงทำให้ตอกย้ำบริบทการเมืองในปัจจุบันว่า นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยเอง ต้องประนอมอำนาจกับพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนลุงตู่เป็นนายกฯ
ย้ำ รมต.พีระพันธุ์ทำมาก่อน
ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ
ส่วนทักษิณเพิ่งมาพูดเรื่องนี้
ดังนั้น แม้ทักษิณจะพูดจาดุเดือด ดุดัน หาเสียง แอคอาร์ต ประเด็นการเมืองต่างๆ
แต่ในความเป็นจริง ทักษิณไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหมือนสมัยก่อน
1.แนวทางที่นายพีระพันธ์ุประกาศจะเดินหน้ารื้อระบบพลังงาน“รื้อ ลด ปลด สร้าง ใหม่ทั้งระบบ”
แน่นอนว่า สร้างภาระ และผลกระทบให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานรายใหญ่
และเป็นระบบที่นายทักษิณมีส่วนสร้าง ตั้งแต่สมัยขายหุ้น ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์
มาวันนี้ ทักษิณรีบแสดงออกหนุนพีระพันธ์ุ
2.แนวทางที่ รมต.พีระพันธุ์ทำ เช่น
การปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือเฉลี่ย 4.15 บาทต่อหน่วย มีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 นั้น จริงๆ แล้ว ลดราคาลงไปจากที่ต้องเก็บจริงถึง 1.46 บาทต่อหน่วย
กว่าจะได้มา ต้องบริหารจัดการและความร่วมมือจาก กฟผ. และ ปตท. ทยอยใช้หนี้ด้วย 1.3 หมื่นล้านบาท (เดิมจะต้องขึ้นไปที่ 5.49
บาทต่อหน่วย)
การระงับการจัดซื้อจัดจ้างการขุดและขนลิกไนต์ด้วยวิธีพิเศษมูลค่า 7,250 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
การระงับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
การระงับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเฟสสอง จำนวน 3,600 เมกะวัตต์
นายพีระพันธุ์ยืนยันกับเดลินิวส์ว่า
“..ผมเป็นรัฐมนตรีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกำกับดูแลให้ กฟผ. ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อมีผู้ร้องเรียนผมไม่ดำเนินการผมก็มีความผิดเอง...
..เรื่องประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นเรื่องเดิมตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ก่อนผมจะเป็นรัฐมนตรีพลังงาน กพช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังจากที่ผมเป็นรัฐมนตรีก็ไม่เคยมีเรื่องนี้มาหารือกันในที่ประชุม กพช. เลย ทั้งผมและท่านนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธาน กพช. ทั้งท่านเศรษฐา ทวีสิน และท่านแพทองธาร ชินวัตร จึงไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน
ต่อมา ประมาณกลางปี 2567 ท่านปลัดกระทรวงพลังงาน และฝ่ายเลขาฯของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ที่มีผมเป็นประธาน ซึ่งเป็นเหมือนคณะอนุกรรมการของ กพช. ก็นำเรื่องมาหารือกับผมว่าจะต้องมีการประมูลพลังงานไฟฟ้าสะอาด 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ให้ผู้ที่เคยเข้าประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาดโครงการแรก 5,000 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้งาน ให้เป็นผู้มีสิทธิได้งานในส่วน 1,500 เมกะวัตต์นี้ ที่ควรจะเปิดประมูลใหม่มากกว่า ผมเห็นด้วยและให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กพช. แต่รับแจ้งว่า เรื่องนี้ทาง กพช. มอบอำนาจให้ กบง. ที่ผมเป็นประธานพิจารณาได้เลย
ผมจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กบง. ต่อมาจึงทราบว่า 1,500 เมกะวัตต์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ 3,600 เมกะวัตต์ ที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือ 2,100 เมกะวัตต์กับ 1,500 เมกะวัตต์ โดยในส่วน 2,100 เมกะวัตต์นี้ คณะกรรมการ กพช. มีมติให้ กกพ. นำไปดำเนินการโดยให้สิทธิแก่ผู้ที่ไม่ได้งานในส่วน 5,000 เมกะวัตต์แรก ซึ่ง กกพ. ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่าถ้า 1,500 เมกะวัตต์ กับ 2,100 เมกะวัตต์ มาจาก 3,600 เมกะวัตต์ เหมือนกัน ก็ควรกำหนดเงื่อนไขเหมือนกัน ในเมื่อ 1,500 เมกะวัตต์กำหนดใหม่ให้เปิดประมูลใหม่และส่วนของ 2,100 เมกะวัตต์ ยังไม่เสร็จสิ้น
ทำไมไม่แก้ไขให้หลักเกณฑ์เหมือนกัน และเหตุใดจึงต้องแบ่ง 3,600 เมกะวัตต์ เป็น 2,100 เมกะวัตต์ กับ 1,500 เมกะวัตต์ พยายามสอบถามทุกๆ ฝ่ายแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ผมก็กำลังจะแก้ไขปัญหานี้ พอดีฝ่ายค้านถามกระทู้เรื่องนี้ ผมก็ไปตอบว่าผมกำลังดำเนินการอยู่ ก็มีคนทำหนังสือเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ เเพทองธาร ในเรื่องนี้ต่ออีก ท่านนายกฯแพทองธาร ก็มาคุยกับผม และมอบให้ผมตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจะดำเนินการหรือแก้ไขปัญหาอย่างไร
ผมจึงมีหนังสือแจ้งไปทาง กกพ. ให้หยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน แม้อำนาจเต็มจะอยู่ที่ กพช. กับ กกพ. แต่ผมก็ต้องลงมือทำอะไรบางอย่างก็เท่านั้น ต่อมาเมื่อทาง กกพ. เดินหน้า โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของ กพช. ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ท่านนายกฯ ก็หารือกับผมว่าท่านคิดว่าเรื่องนี้คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันก่อน พอดีมีการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ท่านนายกฯ ก็บอกกับผมว่าท่านจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กพช. ด้วย แต่ท่านเกิดติดภารกิจด่วน จึงมอบให้ผมทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กพช. แทน และบอกให้ผมนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กพช. เพื่อให้ทางการไฟฟ้าทั้งสามแห่งชะลอการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า 2,100 เมกะวัตต์ และให้หารือกฤษฎีกาถึงกรอบอำนาจของ กพช. ในเรื่องนี้ เรื่องก็มีเท่านี้
สรุป คือ เรื่องนี้เกิดมาก่อนรัฐบาลท่านเศรษฐาและท่านแพทองธาร แต่รัฐบาลปัจจุบันต้องรับผิดชอบทั้งๆ ที่ไม่รู้ความเป็นมาเลย ก็ต้องชะลอเรื่องและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็เดินหน้ากันต่อก็เท่านั้น...”
นอกจากนี้ ปี 2568 นี้ จะเดินหน้าผลักดันกฎหมายสำคัญด้านน้ำมันและพลังงานโซลาร์เซลล์เข้าสภา
กฎหมายว่าด้วยการกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง กฎหมายนี้จะมีกติกาที่ไม่ให้ปรับราคาน้ำมันขึ้นลงรายวัน มีระบบพิสูจน์ต้นทุน และยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ โดยนำระบบต้นทุนบวกค่าใช้จ่ายจริงที่เรียกว่าระบบ COST PLUS มาใช้แทน
ที่สำคัญ จะให้มีน้ำมันเพื่อเกษตรกร ชาวประมง ในราคาที่ถูกลง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งและองค์กรสาธารณกุศลสามารถนำน้ำมันเข้ามาใช้ได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก และยังจะเปิดโอกาสให้รัฐสามารถจัดให้มีน้ำมันเพื่อผู้มีรายได้น้อยด้วย
กฎหมายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะนำมาใช้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ ฯลฯ
3.ถ้า รมต.พีระพันธุ์เดินหน้าตามนี้ ก็จะกระทบกับผลประโยชน์ของทุนพลังงานรายใหญ่แน่นอน
แต่จะถึงขั้นว่า จะต้อง “พัง” กันไปข้าง เลยหรือไม่?
ถ้า “อันไหนพัง” แล้วประชาชนได้ประโยชน์ ก็ควร “พังอันนั้น”
โปรดติดตามอย่ากะพริบตา
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี