การปกครองในระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ที่มีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาออกกฎหมาย และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ และรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจยับยั้งกฎหมาย ดังที่ มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 บัญญัติ ว่า
“ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ ถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี สภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับ โดยวิธีเรียกชื่อ ถ้าและสภาลงมติตามเดิมไซร้ ท่านให้นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้ว ท่านให้ประกาศพระราชบัญญัตินั้น ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”
มาตรานี้ไม่เคยมีการปฏิบัติเลยตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมา จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 เมื่อมีการเปิดสภาในวันที่ 1 สิงหาคม นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ ได้รายงานที่ประชุมสภาฯ มีความส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมาก ว่า
“พระราชบัญญัติต่างๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายนั้นได้ประกาศแล้วทุกฉบับ เว้นแต่พระราชบัญญัติอากรมรดกกับการรับมรดก ซึ่งมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายในกำหนดเวลาอันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 39”
กรณีนี้นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ได้ยับยั้งพระราชบัญญัติที่ผ่านจากสภาฯและนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้นำร่างบัญญัติอากรมรดกกับการรับมรดก ที่รับคืนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสนอต่อสภาฯให้พิจารณาใหม่ แล้วแจ้งให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ ให้เพิ่มข้อความลงไปในร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้ชัดเจนว่าได้ยกเว้นการเก็บอากรมรดกจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีความว่า
“พระราชทรัพย์สินใดๆ ที่เป็นพระราชมรดกไปยังผู้อื่น นอกจากผู้สืบราชสมบัติ ต้องเสียอากรมรดก นอกจากนั้นเป็นพระราชทรัพย์ฝ่ายพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องเสียภาษีอากรมรดก”
ในด้านพิจารณาในวันนั้นได้มีการอภิปรายกันโดยผู้อภิปรายเสียงข้างน้อยเห็นว่าน่าจะแก้ไขได้ตามที่พระองค์ท่านตั้งข้อสังเกตมา เพราะก็ไม่เสียความแต่อย่างใด แต่เสียงข้างมากที่อภิปรายเห็นว่าไม่ควรจะแก้ เพราะว่ากฎหมายที่ผ่านไปก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะเก็บภาษีมรดกตามที่สงสัย ในที่สุดสภาฯ ก็ต้องออกเสียงวินิจฉัยโดยการลงคะแนนลับผลของการลงคะแนนปรากฏว่าผู้ที่เห็นควรให้แก้ไขให้เป็นไปตามข้อสังเกตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอยู่จำนวน 35 เสียง ส่วนผู้ที่เห็นว่าคงเป็นไปตามร่างเดิมซึ่งเป็นเสียงข้างมากนั้นมีอยู่เป็นจำนวน 89 เสียง ทางด้านรัฐมนตรีทั้งหมด 12 นาย ได้งดออกเสียง นั่นก็คือสภาฯได้ยืนยันตามร่างเดิมของพระราชบัญญัติ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุนี้ ทางนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ จึงดำเนินการถวายร่างกฎหมาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยให้หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากรวรวรรณ เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลว่าร่างกฎหมายนี้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมรดก ตามที่พระองค์ท่านตั้งข้อสังเกตอยู่แล้ว และรัฐบาลยังรับว่าจะไปออกกฎหมายยกเว้นอากรมรดกให้ชัดเจนในภายหลังอีกด้วย และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี