ครม.อุ๊งอิ๊งค์ เห็นชอบ ทบทวนหลักการ-แนวทางการพิจารณาการออก “สลากการกุศล” จำนวน 11 ล้านฉบับ
มุ่งเน้นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา
สอดรับกับแนวทางที่นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ และพรรคเพื่อไทย จะขับเคลื่อนนโยบาย “1 อำเภอ 1 ทุน”
1. โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 สมัยรัฐบาลทักษิณ โดยใช้เงินจากสลากมาทำโครงการ
ในสมัยรัฐบาลลุงตู่ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ช่วงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2569 ก็มีการดำเนินการ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้งบประมาณแผ่นดิน ตามกระบวนการขั้นตอนวิธีการงบประมาณ
ทั้งหมด รวมดำเนินการแล้ว 4 รุ่น มีผู้รับทุน รวมทั้งสิ้น 3,093 คน
จากจำนวนนี้ มีผู้รับทุน จำนวน 3,088 คน และมีผู้สละสิทธิ์ก่อนรับทุนจำนวน 5 คน
มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 2,921 คน ไม่สำเร็จการศึกษา จำนวน 161 คน และอยู่ระหว่างการศึกษา รุ่นที่ 4 จำนวน 6 คน
ในสมัยรัฐบาลลุงตู่ ยังคงดูแลนักเรียนต่อเนื่อง โดยช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ผู้รับทุนในรุ่นที่ 4 จำนวน 6 คน ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสุขภาพ จึงปรับเปลี่ยนจากการศึกษาในต่างประเทศ เป็นศึกษาในประเทศ และไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่โครงการ รุ่นที่ 4 กำหนด ในปี 2565
รัฐบาลลุงตู่ก็ขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้การจัดสรรทุนเกิดความต่อเนื่องและไม่เกิดผลกระทบต่อการศึกษาของผู้รับทุนที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
2. “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” (ODOS)
พรรคเพื่อไทย มีนโยบายนำเงินจากกองสลากฯ ต่อยอดโอกาสทางการศึกษาเด็กไทย
12 ธ.ค. 2567 นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ แถลงแคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025”
ระบุถึงนโยบายที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 โดย “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” หรือ ODOS (One District One Scholarship) เป็นหนึ่งในนั้น
พรรคเพื่อไทยให้ข้อมูลไว้ว่า
“...โครงการ ODOS (One District One Scholarship) หรือ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุนการศึกษา”
รัฐบาลจะมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดีไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยจะกระจายทุนไปในทุกอำเภอทั่วประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้เป็นการขยายโอกาสสู่ระดับการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม โดยใช้เงินจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นทุนในการพัฒนาโอกาสการศึกษาของเยาวชนไทย เพื่อให้ทุกอำเภอได้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศไทยในอนาคต
ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้
1. ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี มอบทุนการศึกษานักเรียนที่มีผลการเรียนดี ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงนักเรียนเรียนดีที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบได้
2. ทุนการศึกษาภาคฤดูร้อน กับ “โครงการ “1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์” มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเปิดโลกกว้าง ฝึกภาษา และได้เจอผู้คนที่หลากหลาย ในภาคเรียนฤดูร้อน
3. หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน พัฒนาโรงเรียนประจำอำเภอ เป็นโรงเรียนต้นแบบ โดยเพิ่มบุคลากรทางการศึกษา เติมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ใช้เครื่องมือในการสอนสองภาษา (Bilingual) สอน AI Prompt, Coding และ Programing เพื่อเตรียมพร้อมเด็กไทยสู่การเติบโตที่เข้มแข็ง แข็งแรงและมีการศึกษาที่ดี...”
3. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การออกสลากการกุศลวงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาการออก 2 ปี
งวดละ 11 ล้านฉบับ
เพิ่มวัตถุประสงค์ให้สามารถนำไปใช้ในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา หรือ ODOS ได้ด้วย
คาดว่า จะเริ่มออกสลากได้ในเดือน ก.พ.นี้
โดยก่อนหน้านี้ โครงการสลากการกุศลมักนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือกิจการทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุขในประเทศ เช่น ช่วยเหลือโรงพยาบาลให้สามารถพัฒนา ซ่อมแซม ปรับปรุง จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือที่สำคัญ รวมถึงการช่วยเหลือทางศาสนา โรงเรียนเพื่อการศึกษา
แต่ในรอบใหม่นี้ จะเปิดโอกาสให้ทำโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษาด้วย
โดยมีสำนักงานก.พ. เป็นผู้ดูแลโครงการ พร้อมกับกำหนดรายละเอียดโครงการ การคัดเลือก
อย่างไรก็ตาม การออกสลากกุศลงวดละ 11 ล้านใบนั้น จะเป็นการนำสัดส่วนจากโควตาสลากใบที่มีอยู่เดิมแล้วมาทำเป็นสลากการกุศล
โดยไม่ได้มีการพิมพ์เพิ่มหรือจัดสรรเพิ่มแต่อย่างใด
ซึ่งจะทำให้แต่ละงวด มีสลากใบทั่วไปและสลากการกุศลรวมจำหน่ายงวดละ80 ล้านใบ แยกเป็นสลากกุศล 11 ล้านใบ และสลากใบทั่วไป 69 ล้านใบ
ส่วนสลากดิจิทัลยังมีจำหน่ายงวดละ 25 ล้านใบเท่าเดิม
4. ล่าสุด ที่ประชุม ครม. 7 มกราคม 2568 เห็นชอบการทบทวนหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศล
เตรียมพร้อมรองรับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
สัดส่วนการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศล ดังนี้
1) ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล
2) ไม่เกินกว่าร้อยละ 22.5 เป็นเงินรายได้ที่ให้กับหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุน
3) ร้อยละ 0.5 เป็นค่าภาษีการพนัน
4) ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากการกุศลด้วย
กรณีมีเงินคงเหลือภายหลังจากการจัดสรรการสนับสนุนโครงการสลากการกุศลให้สำนักงานสลากฯ นำส่งเงินดังกล่าวคืนเป็นรายได้แผ่นดิน
5. บทเรียนในอดีต เงินหวยบนดินหายไปไหนกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ทักษิณและพวก มักอ้างการให้ทุนนักเรียนมาหาเสียง ว่าเอาเงินหวยมาทำประโยชน์แก่สังคมอย่างไร
แต่ในความเป็นจริง คดีทุจริตหวยบนดิน ได้เปิดโปงให้เห็นการจัดสรรและใช้จ่ายเงินที่ได้มาจากการทำโครงการหวยบนดินในยุครัฐบาลทักษิณ ว่ามีความไม่โปร่งใสอย่างไร
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษทักษิณ ชินวัตร จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ “คดีหวยบนดิน”
คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) เป็นการจำหน่ายสลากตามความต้องการของผู้ซื้อไม่มีจำกัดวงเงินในการเล่น และไม่มีจำกัดวงเงินรางวัลที่จะจ่าย จึงมีความแตกต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลที่เคยออกมา เนื่องจากไม่มีวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินรายได้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับสลากการกุศล
รวมทั้งข้อแตกต่างสำคัญที่มิได้มีเงื่อนไขการจ่ายเงินเช่นเดียวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ในแต่ละงวดจะมีการจำกัดวงเงินรางวัล
ดังนั้น การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว (หวยบนดิน) จึงมีลักษณะเป็นสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ที่อาจทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีโอกาสขาดทุน และส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง ทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหายได้ มติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน)จึงไม่เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 การจำหน่ายสลากดังกล่าวเป็นการจัดให้มีการเล่นพนันซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ
ตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ถึงงวดวันที่ 16 กันยายน 2549 จะมีรายได้รวมเป็นเงิน 123,339,840,730 บาท
แต่ปรากฏว่า มีผลขาดทุนรวม 7 งวด เป็นเงินรวม 1,668,192,060 บาท
การใช้จ่ายเงินรายได้ ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน และไม่ปรากฏว่าได้รับการตรวจรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในทุกกรณี
ทั้งมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบราชการในทุกขั้นตอน
แม้หักค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน เงินสมทบ ค่าบริหารและเงินคืนสู่สังคมแล้ว ก็ยังคงมีเงินรวมประมาณนับแสนล้านบาทที่ไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ซึ่งเงินที่ไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนี้ ไม่ปรากฏค่าใช้จ่ายแต่ละรายการเช่นเดียวกับการเสนอขอใช้งบประมาณแผ่นดินในโครงการอื่น
ย้ำชัดๆ... ที่คุยโม้โอ้อวด ว่านำเงินหวยบนดินมาเป็นทุนการศึกษา เป็นโครงการช่วยเหลือเด็กยากจนต่างๆ นานา เท่าที่มีตัวเลขนำมาอ้างกัน เป็นแค่เงินส่วนน้อย
แต่ในระหว่างดำเนินโครงการหวยบนดิน ตั้งแต่งวด 1 ส.ค.2546 ถึงงวด16 ก.ย. 2549 ได้เงินจากการขายหวยบนดินทั้งสิ้น 123,339 ล้านบาท
หักเงินรางวัลจ่ายให้ผู้ถูกรางวัล 69,242 ล้านบาท
เหลือกำไรอยู่มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ทักษิณและบริวาร โม้ว่าเอาไปให้ทุนการศึกษาเด็ก แต่ยังไงก็ไม่ถึงหมื่นล้านบาท
แถมการใช้จ่ายเงินพวกนี้ไม่ผ่านการตรวจสอบของ สตง.
สรุปว่า ยังมีเงินที่กินมาจากชาวบ้านที่ซื้อหวยช่วงนั้น ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท หายไปไหน
ไม่ปรากฏหลักฐานชี้แจงมาจนถึงวันนี้
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี