เป็นเรื่องประหลาดเชิงอุบาทว์ที่หน่วยราชการไทยไม่เคารพคำพิพากษาของศาล ในเมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา ก็หมายความว่าต่อไปคำตัดสินหรือคำพิพากษาของศาลก็จะไม่มีความหมายต่อหน่วยงานราชการไทย ใช่หรือไม่ แล้วที่น่าวิตกคือเมื่อหน่วยงานของรัฐบาลไม่เคารพคำพิพากษาของศาลเสียแล้ว เอกชนหรือประชาชนจะเคารพหรือยอมรับคำตัดสินของศาลหรือไม่ ในเมื่อประชาชนและเอกชนได้เห็นตัวอย่างการไม่เคารพคำตัดสินโดยศาลของหน่วยงานราชการ
กรณีกรมที่ดินไม่เชื่อ ไม่เคารพ ไม่ทำตามคำพิพากษาของศาล แล้วบอกให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปฟ้องศาลอีกครั้ง เพื่อยืนยันสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟฯ เรื่องนี้ต้องบอกว่ามหัศจรรย์เชิงอุบาทว์จริง
คำถามคือในฐานะที่ทั้งกรมที่ดินและการรถไฟฯต่างก็เป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐบาลทั้งคู่ และโดยกรมที่ดินสังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนการรถไฟฯ อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ถามว่าในฐานะการเป็นหน่วยงานของรัฐบาล เมื่อมีข้อขัดแย้งใดๆ ระหว่างกันเกิดขึ้น และมีการนำเรื่องไปสู่ศาล ครั้นเมื่อศาลตัดสินแล้ว เหตุไฉนหน่วยงานของรัฐบาลจึงไม่เคารพคำพิพากษาของศาล เหตุที่ต้องย้ำเรื่องหน่วยราชการไม่เคารพคำตัดสินของศาลบ่อยๆ ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องอุบาทว์
คำถามที่สาธารณชนถามกันมากมายคือ กรมที่ดินไม่รู้จักการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ แล้วกรมที่ดินไม่รู้หรือว่าที่ดินบริเวณใดในประเทศไทยคือที่ดินของการรถไฟฯ หากกรมที่ดินไม่รู้ว่าที่ของการรถไฟฯ อยู่ที่ใดบ้าง ก็น่าจะต้องตรวจสอบโดยพูดคุยหารือกันระหว่างกระทรวง เพราะไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลระหว่างหน่วยงานของรัฐบาล
มีคำถามด้วยว่า หากที่ดินเจ้าปัญหา ณ เขากระโดง บุรีรัมย์ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลนามสกุลชิดชอบ กรมที่ดินจะต่อสู้อย่างสุดฤทธิ์อย่างที่กำลังปฏิบัติอยู่หรือไม่ แล้วกรมที่ดินไม่ทราบจริงๆ หรือว่าที่ดินเจ้าปัญหานั้น มีความเป็นมาอย่างไร บุคคลในครอบครัวชิดชอบเขาครอบครองถือครองมาก่อนประเทศไทยจะจัดตั้งการรถไฟหลวงหรืออย่างไร
แล้วที่มากกว่านั้นคือคำถามที่ว่าหากกรมที่ดินซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ทว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันไม่ใช่ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ขอย้ำว่าพรรคนี้มี เนวิน ชิดชอบ เป็นผู้มีความสำคัญอย่างมากมายต่อพรรคฯ ข้อถามย้ำว่าหากมหาดไทยไม่ได้อยู่ในอำนาจของพรรคภูมิใจไทยแต่ถ้าหากเป็นคนจากพรรคเพื่อไทย กรมที่ดินจะมีท่าทีแข็งขืนเช่นที่กำลังปฏิบัติอยู่หรือไม่
มีคำถามตามมาอีกว่า ทำไมหน่วยราชการไทยจึงไม่ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมมากกว่าแค่เพียงการยึดหลักว่าใครเป็นเจ้านายหรือเป็นหัวหน้าของหน่วยงานหรือองค์กร อันหมายความถึงเรื่องที่ว่าพรรคการเมืองใดมีอำนาจเหนือหน่วยงาน หรือเหนือกระทรวงนั้นๆ ก็กลับทำให้อธิบดีของกรมที่สังกัดกับกระทรวงต้องยอมศิโรราบต่อรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
ถามต่อไปอีกว่าอธิบดีเกรงกลัวอำนาจของรัฐมนตรีมากเสียจนยอมละทิ้งความถูกต้อง ความชอบธรรมตามหลักกฎหมายหรืออย่างไร หากเป็นเช่นนี้แล้ว ก็น่าจะหมายความว่าอธิบดีผู้สังกัดอยู่กับกระทรวงมีสถานะเป็นเสมือนข้าทาสรับใช้ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง โดยอธิบดีละเลยหลักการสำคัญของความเป็นข้าราชการไปจนหมดสิ้น
มันคงจะเป็นเรื่องดีมากที่กรมที่ดินต่อสู้เพื่อรักษาความถูกต้อง และเพื่อสิทธิของประชาชน แต่มันเป็นเรื่องบัดสีมาก หากกรมที่ดินพยายามทำตัวเป็นข้าทาสของนักการเมือง แล้วถ้าหากอธิบดีของกรมใดๆ ก็ตามที่มีพฤติกรรมเสมือนข้าทาสของนักการเมืองรับใช้นักการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเที่ยงธรรมของความเป็นข้าราชการ ก็ขอให้อธิบดีกรมนั้นๆ ลาออกจากความเป็นข้าราชการ แล้วไปสมัครเป็นขี้ข้าของนักการเมืองโดยพลัน
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าบทความนี้ไม่ได้เข้าข้างกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ขอประกาศว่ายึดมั่นในความถูกต้องเที่ยงธรรมและยึดมั่นในหลักผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ เพราะยึดมั่นมาโดยตลอดว่าข้าราชการที่ดีต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณชน และย้ำว่าข้าราชการต้องไม่ประพฤติตนเป็นขี้ข้านักการเมือง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี