Why some people are so greedy...เป็นคำรำพึงของเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง เมื่อผมเล่าเรื่องการแจ้งทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. ของนายกฯ ไทยให้ฟัง.... พร้อมกับถามผมต่อว่า...
..... ก่อนที่จะมาเป็น นายกฯ เธอทำงานอะไรมา.....
......กระเป๋า 217 ใบ (มูลค่าประมาณ 76 ล้านบาท), นาฬิกา 114 เรือน (มูลค่าประมาณ 231 ล้านบาท) ต่างหู 205 คู่ (มูลค่าเกือบ 50 ล้านบาท)...เจ้าเพื่อนฝรั่งอีกคน พูดทวนซ้ำด้วยน้ำเสียงฉงนว่าทำไมต้องมีเยอะขนาดนั้นด้วย พร้อมกับถามกลับว่า....แล้วคนไทยรู้สึกยังไง เมื่อรู้ว่านายกฯ ที่พวกเขาเลือกมา มีทรัพย์สินเกือบ 14,000 ล้านบาท ขณะที่คนไทยเป็นจำนวนมากต่างเป็นหนี้กันถ้วนหน้า..
(หมายเหตุ : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,300 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 99.7% มีภาระหนี้สิน ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% เพิ่มสูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจในรอบ 16 ปี และสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก)
ครับ...เท่าที่ดูแล้วคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรมากนัก อาจจะมีเพียงสื่อมวลชนไม่กี่สำนักและคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่มีความรู้สึกเหมือนเพื่อนฝรั่งสองคนนี้ของผม ขณะที่สื่อต่างชาติไม่ว่าจะเป็น BBC และ The Guardian ของอังกฤษ, CBS และ Bloomberg ของสหรัฐ, CBC ของแคนาดา, AFP ของฝรั่งเศส, CNA ของสิงคโปร์, NDTV ของอินเดีย ไปจนถึง Inquirer ของฟิลิปปินส์ และล่าสุดหนังสือพิมพ์เยอรมันก็ได้รายงานข่าวเรื่องทรัพย์สินของนายกฯ ไทย
กลับมาที่ การรำพึงของเจ้าคนแรกที่ว่า....ทำไมคนบางคนไม่รู้จักพอ....
ความโลภ (greed) เป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนของมนุษย์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหลายปัจจัย ทั้งทางชีววิทยาจิตวิทยา สังคมและวัฒนธรรม ไปจนถึงการยึดถือคุณค่าทางจริยธรรมและศีลธรรม ประสบการณ์ส่วนตัวและการอบรมเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย คนบางคนถูกมองว่า “โลภ” หรือ “ไม่รู้จักพอ” เมื่อพวกเขาต้องการความมั่งคั่ง อำนาจ หรือทรัพย์สินมากเกินไปซึ่งมาจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น
1.ปัจจัยทางชีววิทยา
สัญชาตญาณเอาตัวรอด : มนุษย์ในยุคแรกๆ จำเป็นต้องรวบรวมทรัพยากรเพื่อการเอาตัวรอดซึ่งทำให้เกิดสัญชาตญาณในการได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองและการสะสมสิ่งของเหล่านี้
แรงกระตุ้นทางชีววิทยา : การได้มาซึ่งความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดพามีน (dopamine) ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจและกระตุ้นให้เกิดความต้องการมากขึ้น หรือที่เรียกว่า ระบบรางวัลโดพามีน (dopamine reward system)
2. ปัจจัยทางจิตวิทยา
พฤติกรรมกลัวความขาดแคลนและความไม่มั่นคง : บางคนกลัวว่าทรัพยากรของตนอาจจะหมด อันนำไปสู่ความไม่มั่นคงและสูญเสียสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้พวกเขาสะสมต่อไปเรื่อยๆ จนมากล้น
พฤติกรรมความต้องการอำนาจและการควบคุม: ความโลภยังถูกขับเคลื่อนมาจากความปรารถนาในการต้องการควบคุมสภาพแวดล้อม การได้มาซึ่งอำนาจเหนือคนอื่น ดังนั้นบางคนจึงสะสมทรัพย์สิน เงินทองเพื่อใช้มันเป็นสิ่งค้ำจุนอำนาจและอิทธิพลของพวกเขา
พฤติกรรมไม่เห็นคุณค่าตนเอง : บางคนอาจใช้สิ่งของหรืออำนาจเพื่อชดเชยความรู้สึกไม่เพียงพอ ปมด้อยในวัยเด็ก หรือเพราะไม่เห็นคุณค่าและขาดความพอใจในตนเอง เพราะความโลภเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
พฤติกรรมเสพติด : การแสวงหาความมั่งคั่งหรืออำนาจอาจกลายเป็นสิ่งเสพติด ซึ่งคล้ายกับความต้องการความสำเร็จหรือการยอมรับ ซึ่งยากแก่การควบคุมและบางคนก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ ไม่ต่างจากการติดสิ่งเสพติดทั้งหลาย
3.อิทธิพลทางวัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคม
วัฒนธรรมผู้บริโภค : สังคมบริโภคนิยมมองว่าความสำเร็จคือความมั่งคั่งทางวัตถุ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้คนสะสมมากขึ้น
อิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย : เรื่องราวของคนรวยและคนมีอำนาจมักถูกทำให้ดูหรูหราเพื่อตอกย้ำแนวคิดที่ว่ายิ่งมากยิ่งดี โดยเฉพาะในโลกสังคมออนไลน์ปัจจุบันที่จะมีการโพสต์เรื่องราวการอวดความร่ำรวย การใช้ชีวิตหรูหรา ข้าวของเครื่องใช้ บ้านและรถยนต์ราคาแพง อันนำไปสู่การเปรียบเทียบและแข่งขันกันทางสังคม ความปรารถนาที่จะ “มี” เหมือนคนอื่นซึ่งสามารถกระตุ้นความโลภ ความไม่รู้จักพอ
4. ปัจจัยเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง
ทุนนิยมและการแข่งขัน : ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ให้รางวัลแก่การสะสมทรัพย์สมบัติและการแข่งขันสามารถจูงใจให้เกิดพฤติกรรมโลภแก่ผู้คนได้
ความไม่เท่าเทียมกัน : ในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก ผู้ที่มีน้อยกว่าอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องนำเงินมาเพิ่มเพื่อเชื่อมช่องว่าง ขณะที่ผู้ที่มีมากกว่าก็รู้สึกกดดันให้ต้องรักษาสถานะของตนเองเอาไว้
5. มุมมองด้านศีลธรรมและจริยธรรม
กรอบความคิดทางศีลธรรม ห: บางคนอาจไม่มองว่าการกระทำของตนเป็นความโลภ หากความเชื่อทางศีลธรรมหรือจริยธรรมของเขาเป็นเหตุให้สะสมทรัพย์สมบัติ เพราะบางคนอาจคิดว่าทรัพย์สิน เงินทองของตนเหล่านี้ได้มาด้วยเรี่ยวแรง ความเพียรโดยชอบ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน.....
...ความโลภ (greed) เป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนของมนุษย์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหลายปัจจัย ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าคนบางคนมีความ “โลภ” หรือ “ไม่รู้จักพอ” ด้วยปัจจัยข้อที่ 5 เพียงอย่างเดียว หรือตราบเท่าที่เขามีความโลภเป็นเจ้าเรือนอยู่ ต่อให้มีนาฬิการ้อยเรือน กระเป๋าหนึ่งพันใบ รองเท้าสองพันคู่ (อีเมลดา มาร์กอส ภริยาอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินาน มาร์กอส เคยมีรองเท้า 3,000 คู่)ก็คงไม่รู้จักพอ ดังสัจธรรมพุทธวรรคบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า.....“แม้เหรียญกษาปณ์ตกมาดั่งห่าฝน ก็มิทำให้กามชนอิ่มในกาม”.....
ครับ....เราจบบทสนทนาเรื่องความร่ำรวยของนายกฯ ไทย ด้วยการเปลี่ยนไปคุยเรื่องความร่ำรวยของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐกันบ้าง ซึ่งผมก็เปิดประเด็นด้วยคำถามว่า..ในการเมืองอเมริกัน พอมีนักการเมืองคนไหนบ้าง ที่ถ้าพูดกันแบบไทยไทยแล้วก็คือยัง ยกมือไหว้ด้วยความสนิทใจ
....เมื่อสองอาทิตย์ก่อนยังพอเหลืออยู่คนหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว.....ครับ เพื่อนผมพูดถึง จิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่พึ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ในวัย 100 ปี.....
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
หมายเหตุ : เรื่องราวของจิมมี คาร์เตอร์ อ่านเพิ่มเติมได้ที่
รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ “ถึง “แพ้” แต่ก็ยัง “ชนะ” ได้” กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 7 มกราคม 2568
ศาสตราจารย์ชยานันต์ ศุกลวณิช “จิมมี คาร์เตอร์” ในความทรงจำ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐละโลกวัย 100 ปี” มติชน ฉบับวันที่ 7 มกราคม 2568
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี