“พม่าให้ความสำคัญกับรัฐบาลนี้น้อยกว่ารัฐบาลลุงตู่เยอะ” แหล่งข่าวความมั่นคงตอบเมื่อแนวหน้าถามว่า รัฐบาลพม่าปล่อยคนไทย 151 คน ทำไมยังไม่ปล่อยลูกเรือประมงไทย 4 คน ที่จับไปและศาลตัดสินจำคุก 4 ถึง 6 ปี
วันที่ 4 มกราคม 2568 รัฐบาลทหารพม่านิรโทษกรรมปล่อยนักโทษ 5,864 คน ในโอกาสครบรอบ 77 ปี ที่พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ในจำนวนนี้มีนักโทษต่างชาติได้รับการปล่อยตัว 180 คน และนักโทษไทย 151 คน
ส่วนใหญ่ทำความผิดเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไปทำงานกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเชียงตุง ได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน
การปล่อยตัวนักโทษกลุ่มใหญ่ไม่รวมลูกเรือไทย 4 คนที่ถูกทหารเรือพม่าจับกุมเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา และถูกศาลพม่าในเมืองเกาะสองตัดสินจำคุก 4 ถึง6 ปี ที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และนายภูมิธรรมเวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความมั่นใจแก่ครอบครัวลูกเรือประมงที่ติดคุกพม่าว่า จะได้รับการปล่อยตัวหลังปีใหม่
เมื่อรัฐบาลพม่านิรโทษกรรมปล่อยนักโทษเกือบหกพันคนรวมทั้งนักโทษไทย 151 คน เป็นอิสระแต่ไม่รวม 4 คนไทย ที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ย้ำแล้ว ย้ำเล่าว่าลูกเรือประมงไทยจะได้กลับบ้านหลังปีใหม่ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “รัฐบาลไทยไม่มีน้ำยาเพื่อนบ้านพม่าไม่เกรงใจ”
แหล่งข่าวที่กล่าวกับ แนวหน้า ว่า พม่าให้ความสำคัญรัฐบาลแพทองธาร น้อยกว่ารัฐบาลลุงตู่ ชี้แจงว่า“ที่แล้วมารัฐบาล ทหารพม่าให้เกียรติประเทศไทยมากกว่าใครในประเทศอาเซียนด้วยกัน” จำได้ไหม นายดอน ปรมัตถ์วินัยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศไทยคนเดียวที่ได้พบหารือกับ ออง ซาน ซู จี หลังจากทหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
นอกจากนายดอนตัวแทนจากประเทศไทยแล้วพลเอกมิน อ่อง หล่าย ไม่เคยอนุญาตให้ใครได้พบ ออง ซาน ซู จี ในที่ถูกกักกันตั้งแต่วันยึดอำนาจ
นายดอนได้พบปะหารือและทานอาหารเที่ยงร่วมกับออง ซาน ซู จี ในบ้านพักที่กักกันเธอ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 การพบกันถูกบันทึกว่า เป็นครั้งแรกที่ออง ซาน ซู จี ได้พบกับแขกระดับรัฐมนตรีจากต่างประเทศและหลังจากพบปะครั้งประวัติศาสตร์ นายดอนนำสารจากออง ซาน ซู จี ไปแจ้งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ว่าเธอประสงค์หาข้อยุติความขัดแย้งบนโต๊ะเจรจามากกว่าจากสมรภูมิรบ
และผลของการพบปะครั้งสำคัญนั้นทำให้อาเซียนและยูเอ็นมอบหมายให้ประเทศไทย เป็นผู้นำในการเจรจากับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีผลได้เสียในวิกฤตการเมืองพม่า เพื่อแสวงหาข้อยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แต่เป็นที่น่าเสียดายในขณะที่รัฐบาลลุงตู่เตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกการเจรจากับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียในพม่า ประเทศไทยก็ได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566
ผลการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ทำให้รัฐบาลพลเอกมิน อ่อง หล่าย เปลี่ยนจากการให้เกียรติและไว้ใจในรัฐบาลไทย เป็นความคลางแคลงใจ และไม่มั่นใจในรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อรัฐบาลทหารพม่ารู้ว่าพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้ สส.เข้าสภามากกว่าพรรคอื่นๆ และก้าวไกลเตรียมตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยโดยที่มีนายพิธา
ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้รับการวางตัวเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เก้าวันหลังจากเลือกตั้งในประเทศไทยที่พรรคก้าวไกลได้ สส.เข้าสภา 151 คน พลโทโซ วิน (Soe Win) รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ออกโรงเตือนประชาชนว่า ให้เฝ้าระวังชายแดนและคอยดูสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นย้ำถึง “ความเป็นอันตรายของพรรคก้าวไกล” ในสายตาของพวกเขาต่อประชาชน
“พรรคก้าวไกลเป็นพวกสนับสนุนชาติตะวันตกและการก่อการร้าย พวกเราควรตรวจสอบชายแดนและหาข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขามา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม”
รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าออกโรงเตือนประชาชนให้ระวัง อันตรายจากพรรคก้าวไกลในขณะที่นายพิธากำลังได้เป็น ว่าที่นายกรัฐมนตรีแสดงว่ารัฐบาลทหารพม่าเปลี่ยนท่าทีเป็นมิตรกลายเป็นศัตรูกับรัฐบาลไทย และสุดท้ายถึงแม้พรรคก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ได้เป็นรัฐบาลก็ตาม ทางพม่าคงยังฝังใจว่าในตอนหาเสียงพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยมี นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน ในไม่ช้าไม่นานพรรคส้มกับพรรคแดงก็กอดคอเป็นรัฐบาล
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย รักและศรัทธาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษอดีตประธานองคมนตรีสองแผ่นดินของไทย เหมือนบิดา ถึงกับขอเป็นบุตรบุญธรรมพลเอกเปรม “พูดได้ว่าผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเวลานี้ มีความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทย แต่เขาไม่ไว้ใจรัฐบาล”
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า พม่ากับไทยรู้ไส้รู้พุงกันมานาน พม่าซึ่งมีสถานทูตในประเทศไทยติดตามความเคลื่อนทางการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดรัฐบาลทหารพม่าจึงรู้อย่างลึกซึ้งว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเป็นเนื้อเดียว แต่สถานการณ์ทางการเมืองบังคับให้แยกกันเดินร่วมกันตี และนี้คือสาเหตุสำคัญที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ไว้ใจรัฐบาลเพื่อไทย
รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยจัดการประชุมนอกกรอบอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตการเมืองพม่าถึงสามครั้ง ในขณะที่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กีดกันไม่ให้รัฐบาลทหารพม่าร่วมกิจกรรมใดๆ ในนามอาเซียน แต่ตลอดเวลาสามปีที่ทหารพม่ายึดอำนาจ พลเอกมิน อ่อง หล่าย และรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารพม่ายังคงมาเยือนประเทศไทยในโอกาสต่างๆ ได้
กองทัพไทยกับพม่ายังไปมาหาสู่กันเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การกิจกรรมทำร่วมกันลดน้อยลง ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และ มีท่าทีบาดหมางกันเมื่อทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ยังเป็นนักโทษพักคดี มีรายงานว่า เขาได้พบเจรจากับผู้แทนกองกำลังกลุ่มชาติที่ต่อต้านรัฐบาลบางกลุ่ม เช่น SSA หรือ ฉานใต้ กะเหรี่ยง เคเอ็นยูตัวแทนกองทัพคะยา และผู้แทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาฝ่ายออง ซาน ซู จี โดยมีรายงานว่า ทักษิณเสนอเงื่อนไข ต่อกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลเอ็นแอลดีมอบหมายให้ ทักษิณเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งในพม่า
ไม่มีรายละเอียดว่า ข้อเสนอหรือเงื่อนไขของทักษิณคืออะไร แต่ต่อมา ซอ มินตุน โฆษกรัฐบาลทหารพม่าตอบคำถามสื่อว่า “เป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้มารยาท”
ส่วนความสัมพันธ์ระดับผู้นำรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธารได้ทวิภาคีกับพลเอกมินอ่อง หล่าย ระหว่างไปร่วมประชุมความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-อิระวดี ที่เมืองยูนนาน ในประเทศจีน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567
โดยที่นายกฯแพทองธารกล่าวกับสื่อมวลชน ว่าประเทศไทยพร้อมเป็นสะพานในการเจรจาของทุกฝ่ายในวิกฤตพม่า นายกฯแพทองธารกล่าวด้วยว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย แสดงความกังวลที่มีคนพม่าอยู่ในประเทศไทย มากกว่าที่ลงทะเบียนไว้หลายล้านคน ขอให้ทางการไทยพิสูจน์ทราบว่า คนพม่าที่ไม่ได้ลงทะเบียนเป็นทางการทำอะไร อยู่ที่ไหน
นายกฯแพทองธาร พูดภาษาไทยแบบวัยรุ่นว่า “ให้กระทรวงต่างประเทศแล้ว” แทนที่จะพูดว่า มอบหมาย หรือสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแล้ว จากคำพูดของพลเอกมิน อ่อง หล่าย อนุมานได้ว่าทางฝ่ายพม่าสงสัยว่า คนพม่าที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเคลื่อนไหวในประเทศไทยหรือไม่
จึงไม่แปลกใจที่สื่อพม่ารายงานอ้างคำพูดซอ มินตุน โฆษกรัฐบาลทหารพม่ากล่าวว่า “พบอุปกรณ์ไม่ใช่ใช้จับปลา อุปกรณ์ไม่ใช้กับเรือประมงในเรือที่ตามจับได้ สงสัยว่าเป็นของฝ่ายต่อต้าน”
โฆษกรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้แจงว่าอุปกรณ์ที่จากเรือไทยเป็นอะไร แต่แหล่งข่าวผู้คุ้นเคยกับการเจรจาให้พม่าปล่อยลูกเรือไทยในอดีต กล่าวกับแนวหน้าว่า “เป็นไปได้สองทางคือหนึ่งพม่ายัดอาวุธใส่เรือประมงไทย เพื่ออ้างความชอบธรรมที่ใช้อาวุธหนักยิงเรือประมงไทย สองพม่าอาจพบอาวุธบนเรือแต่ก็เป็นไปได้ว่า มีอาวุธไว้ป้องโจรปล้นไม่ใช่เพื่อก่อการร้าย”
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลตัดสินไปแล้วพม่าคงไม่ปล่อยตัวคนไทยง่ายๆ ดังที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมไทยเข้าใจ แหล่งข่าวกล่าวสรุป
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี