“วิกฤตที่อยู่อาศัย เป็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้น รายงานพบว่าประชาชนในกรุงเทพมหานครกว่าครึ่ง มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อเดือน ทำให้ไม่สามารถซื้อบ้านที่มีราคาสูงกว่า 3 ล้านบาทราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นกว่า 70% จากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่รายได้เฉลี่ยเพิ่มเพียง 15% ทำให้เกิดภาวะรายได้ประชากรส่วนใหญ่ โตไม่ทันราคาที่อยู่อาศัย ภาระทั้งราคาบ้าน มาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ยิ่งบ้านที่ราคาถูกลง ภาระค่าเดินทางก็ยิ่งสูงขึ้น”
ย่อหน้าแรกของบทความ “บ้านเพื่อคนไทย”บนเว็บไซต์ของ “พรรคเพื่อไทย” แกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน กล่าวถึงที่มาของโครงการในชื่อเดียวกัน โดยระบุว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทย เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาประหยัด หรือ Affordable Housing โดยมีเป้าการพัฒนาที่พักอาศัยคุณภาพสูงในพื้นที่ศักยภาพ เป็นการพัฒนาคอนโดคุณภาพดีขนาดเริ่มต้นที่ 30 ตารางเมตร พร้อมสาธารณูปโภคครบครันและทันสมัย มีระบบการรักษาความปลอดภัยและเทคโนโลยีอื่นๆ รวมทั้งมีโครงการบ้านเดี่ยวด้วย
เพื่อเป็นบ้านสำหรับคนทำงานที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพ ใกล้รถไฟฟ้า ผ่อนถูกด้วยอัตราการผ่อนเริ่มที่ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาผ่อน30 ปี ไม่ต้องดาวน์ และถือครองในระยะเวลา 99 ปี โดยเมื่อครบแล้วอาคารและการลงทุนก็กลับมาเป็นพื้นที่ของรัฐ“คิกออฟ 4 โครงการแรก 20 ม.ค. 2568” ได้แก่ 1.ย่านบางซื่อกม.11 กรุงเทพฯ ใกล้สถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น สำนักงานใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สถานีรถไฟกลางบางซื่อ (กรุงเทพอภิวัฒน์) ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว
2.ย่านสถานีรถไฟธนบุรี กรุงเทพฯ ใกล้กับตลาดศาลาน้ำร้อน และโรงพยาบาลศิริราช 3.ย่านสถานีรถไฟเชียงรากจ.ปทุมธานี ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) และ 4.ย่านสถานีรถไฟเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ อยู่ใกล้ถนนเจริญเมือง และถนนทุ่งโฮเต็ล โดย “คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์จองโครงการ” ประกอบด้วย 1.เป็นบุคคลสัญชาติไทย 2.ไม่เคยมีบ้านมาก่อน และ 3.ไม่ติดเครดิตบูโร
อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านเพื่อคนไทย คงจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ต่างจากโครงการอื่นๆ ของรัฐก่อนหน้า เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการบ้านมั่นคง ที่มี “หลักคิด” เหมือนกันคือ “ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการเป็นเจ้าของที่พักอาศัย” เพราะในความเป็นจริง “คนจำนวนมากเลือกใช้ชีวิตด้วยการเช่าที่อยู่อาศัย” อันเป็นวิถีที่สอดคล้องกับ “การเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งงาน” เมืองใดที่มีโอกาสทางอาชีพและรายได้มากคนจากทั่วสารทิศก็จะเดินทางไปแสวงโชคกันมากเป็นธรรมดา
ดังตัวอย่างกรุงเทพฯ ที่ว่ากันว่ามีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝงที่มาจากจังหวัดอื่นๆ โดยมีประชากรในระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพียงราว 5-6 ล้านคนเท่านั้นซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างหนึ่งคือ เทศกาลหยุดยาวอย่างปีใหม่และสงกรานต์ ภาพผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมสมาชิกในครอบครัวก่อนจะกลับมาสู้ชีวิตทำงานทำการในเมืองหลวง เป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นวัฏจักรอยู่ทุกปี
งานวิจัยเรื่อง “เสียงของผู้มีรายได้น้อยที่เช่าที่อยู่อาศัย : เรื่องเล่าซึ่งมักไม่ถูกได้ยิน” ผลงานของ รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมของทั้งของ “ผู้เช่า” ที่หลายคนเป็นแรงงานอพยพจากต่างจังหวัดเข้ามาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ โดยการเลือกห้องเช่าปัจจัยสำคัญคือต้องอยู่ใกล้กับสถานที่ทำงานและมีราคาถูก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสภาพห้องที่อาจไม่ค่อยดีนัก เช่น ไม่มีห้องน้ำในตัว มีคราบบนผนังห้องจากความชื้นใต้ดิน เป็นต้น
ขณะที่ในมุมของ “ผู้ให้เช่า” หรือเจ้าของห้องเช่า พบว่า “เหตุที่ห้องเช่าราคาถูกยังดำรงอยู่ได้แม้ในย่านทำเลทองของเมือง (เช่น บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า) เพราะเป็นที่ดินที่ไม่สามารถพัฒนาเพื่อแสวงหากำไรได้เต็มที่” เช่น เจ้าของห้องเช่าที่บอกเล่ากับผู้วิจัยว่า มีห้องเช่า 170 ห้อง ทั้งบ้านไม้แบ่งเช่าและหอพักก่อด้วยปูน ราคาค่าเช่ามีตั้งแต่เดือนละ 1,000-3,500 บาท ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น “ที่ตาบอด” เข้า-ออกได้เพียงการเดินเท้าและขี่มอเตอร์ไซค์เท่านั้น รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ จึงไม่สามารถพัฒนาเป็นที่พักอาศัยที่มีราคาแพงกว่านี้
งานวิจัยนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “เจ้าของห้องเช่าราคาถูกเหล่านี้ถูกมองข้ามจากรัฐ” ทั้งที่คนเหล่านี้คือผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยยังพอหาที่อยู่ที่ราคาไม่แพงในเมืองได้ ขณะเดียวกัน “โครงการที่อยู่อาศัยที่รัฐก่อสร้างมักอยู่ไกลจากแหล่งงาน” นอกจากนั้น “การเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ” ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่สถาบันการเงินตั้งขึ้น เช่น รายได้ขั้นต่ำ ต้องมีบุคคลค้ำประกัน ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือนมีสลิปเงินเดือนประจำ เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้คนหาเช้ากินค่ำถอดใจและมองว่าการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองนั้นคงเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อม
อาจารย์บุญเลิศ ทิ้งท้ายไว้ในงานวิจัยว่า เรื่องนี้เป็นการเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นแนวคิดมหภาคมาฉายให้เห็นว่า ผลจากการดำเนินนโยบายที่เอื้อภาคธุรกิจและทุนขนาดใหญ่ตามระบบทุนนิยมนั้น ทำให้เห็นวิถีชีวิตประจำวันว่าผู้มีรายได้น้อยต้องเลือกหาห้องเช่าราคาถูกและอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ด้อยคุณภาพอย่างไร และหวังว่าจะชี้ชวนให้นักวิจัยหันมาสนใจประเด็นผู้เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกซึ่งเป็นประเด็นที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
เพราะความสามารถในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าค่าจ้าง โดยในอนาคตผู้เช่าจะมากขึ้น แม้แต่นักศึกษาจบใหม่ก็จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ยาก แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับผู้เช่าในสังคมไทยยังมีผู้ศึกษาไม่มาก การศึกษาต่อยอดในประเด็นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า การอุดหนุนที่อยู่อาศัยแบบเช่า ควรได้รับความสำคัญไม่น้อยกว่าการกระตุ้นให้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพราะกลุ่มผู้เช่าเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่าผู้มีศักยภาพในการซื้อที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านงานวิจัย “เสียงของผู้มีรายได้น้อยที่เช่าที่อยู่อาศัย : เรื่องเล่าซึ่งมักไม่ถูกได้ยิน”ฉบับเต็มได้ที่ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jssnu/article/view/270990/186232
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี