ปัจจุบัน ค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 อยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย
ทำอย่างไรจะลดลงไปได้อีกถึง 3.70 บาทต่อหน่วย หรือต่ำกว่านั้น ได้หรือไม่?
1. ในค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายแต่ละหน่วย ในทุกวันนี้นั้น ประกอบด้วย ค่ากระแสไฟฟ้าที่ได้มาจากการผลิต ค่าสายส่ง ค่าบริการ กำไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
ถ้าจะให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ก็ต้องหาทางลดในแต่ละส่วนข้างต้นนั่นเอง
ต้นทุนค่าไฟฟ้า หาแหล่งที่ถูกกว่านี้ได้หรือไม่? สัญญาซื้อไฟฟ้าอันไหนติดสัญญาอยู่คงไปยกเลิกไม่ได้ อาจเสียค่าโง่ แต่การจัดซื้อใหม่ก็ไม่ควรเสียค่าโง่ อย่างการจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังเป็นข่าว (รมต.พีระพันธ์ุให้ชะลอไว้ล่าสุด)
ต้นทุนการดำเนินการ ค่าบริการ กำไรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟน. กฟภ.กฟผ. ลดลงได้แค่ไหน? เป็นต้น
ประการสำคัญ ค่าไฟฟ้าที่ลดลง ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงและความสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และเสถียร อย่าได้มีไฟตกไฟดับเหมือนบางประเทศ ซึ่งจะเสียหายมาก
ในการคำนวณค่าไฟฟ้าของทางการ จะจัดกลุ่มแยกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
ค่าไฟฟ้าฐาน – เป็นการกำหนดค่าไฟฟ้าล่วงหน้า และเป็นอัตราคงที่ (เป็นแบบ Price Fixing) สำหรับการใช้ประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะเวลา 3 - 5 ปี ข้างหน้าเพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ผลตอบแทนการดำเนินงานที่เหมาะสมของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และต้นทุนในการบริการของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง รวมทั้ง ค่าเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในประเทศและต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ภายใต้สมมุติฐานเกี่ยวกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อระดับหนึ่ง เพื่อจัดทำเป็นอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่สะท้อนต้นทุนการผลิต การส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้า ฯลฯ
ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) – ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในประเทศและต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปรของการผลิตและจัดหาไฟฟ้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนคงที่ซึ่งคำนวณไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน ทั้งนี้ ค่า Ft มีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือน โดยค่า Ft จะมีค่าเป็นบวก หากมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่คิดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน และมีค่าเป็นลบ หากมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่คิดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน
ค่าบริการรายเดือน – ค่าใช้จ่ายคงที่ในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เช่น การจดหน่วย การพิมพ์บิล จัดส่งบิลและการรับชำระเงิน ฯลฯ
แต่ทั้งหมด หากต้องการลดค่าไฟฟ้า เมื่อคิดง่ายๆ ภาพรวม ก็ต้องไปไล่ดูว่า จะลดค่ากระแสไฟฟ้าที่ได้มาจากการผลิต ค่าสายส่ง ค่าบริการ กำไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เหล่านี้ได้แค่ไหน อย่างไร นั่นเอง
2. กกร. เสนอรัฐ ลดค่าไฟเหลือ 3 บาทนิดๆ ช่วยประชาชนประหยัดเงินแสนล้านต่อปี
การลดค่าไฟฟ้านั้น หากทำได้จริง โดยไม่ต้องเอาเงินแผ่นดินไปชดเชย หรือไม่เบียดบังรายได้ในอนาคต หรือผลักภาระต้นทุนไปไว้ในอนาคต ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมหาศาล
เพราะลดต้นทุนชีวิตประชาชนทุกคนที่ใช้ไฟฟ้า ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ ต้นทุนการผลิตสินค้า เพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันทางธุรกิจกับต่างประเทศ
คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แถลงว่า กรณีที่รัฐบาลจะหาแนวทางลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยนั้น ถือเป็นแนวโน้มที่ดี และภาคเอกชนก็ได้ร้องขอเรื่องนี้มาโดยตลอด
“...ภาคเอกชนอยากเห็นค่าไฟฟ้าลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต้นๆ เท่านั้น ซึ่งเข้าใจว่าต้องดูเรื่องผลกระทบต่อรายจ่ายงบประมาณในปัจจุบันด้วย
หากรัฐบาลลดค่าไฟลงมาได้จริง จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี
ช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในไทยในการแข่งขันได้ และยังดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วย
อีกทั้ง หากเทียบค่าไฟของไทยและเวียดนาม แม้เวียดนามจะอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศไทยแต่ไทยสามารถจ่ายไฟฟ้าให้ภาคเอกชนได้เสถียรมากกว่า และไทยยังมีไฟฟ้าเกินความต้องการจากการผลิตอยู่อีกมากที่สามารถจำหน่ายได้ แต่เวียดนามมีปัญหาการจ่ายไฟฟ้าให้ภาคเอกชน สะท้อนได้จากมีโรงงานหลายแห่งที่ไฟดับระหว่างเดือน หรือระหว่างการผลิตสินค้าต่างๆ” – คุณสนั่นกล่าว
3. ทางเลือก 4 มาตรการ ลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ทำได้จริง?
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ให้สัมภาษณ์ออกข่าว TOPNEWS ระบุว่า ดีใจ ที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ให้ข้อคิดเห็นถึงเป้าหมายในการปรับลดค่าไฟฟ้า จากปัจจุบัน 4.15 บาทต่อหน่วย เป็น 3.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงมา 0.45 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 11% จากราคาไฟฟ้าปัจจุบัน
ระบุว่า เป็นเรื่องที่เอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าอัตราค่าไฟในประเทศไทยแพงเกินไป
นายอิศเรศ กล่าวว่า สอท.มี 4 มาตรการที่จะ ทำให้ต้นทุนค่าไฟปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย ในปี 2568 และได้เสนอผ่านสมุดปกขาวไปยังรัฐบาลแล้ว
อันดับแรก จะต้องเข้าใจโครงสร้างของราคาค่าไฟ ซึ่งจะมีด้วยกัน 4 ตัว ประกอบด้วย
(1) ต้นทุนเชื้อเพลิง เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 60% ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แก๊สธรรมชาติ ซึ่งมีราคาแพงเมื่อเทียบกับฟรีจากธรรมชาติ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
(2) ต้นทุนในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนในการจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง
(3) ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนโรงไฟฟ้า อย่างเช่นค่าพร้อมจ่ายที่รัฐบาลจะต้องคืนให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนถึงแม้ไม่มีการผลิตไฟฟ้ารัฐบาลก็จะต้องจ่ายให้เอกชน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าโอเวอร์ซัพพลายเกิน 90% และมีต้นทุนแฝงอยู่ที่ 15%
(4) ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเป็นหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือ EGAT ที่ค้างในช่วงวิกฤตสงคราม รัสเซีย -ยูเครน ส่งผลให้ราคาต้นทุนพลังงาน LPG ปรับตัวสูง แต่รัฐบาลให้ขึ้นค่าไฟได้ต่ำทำให้ EGAT ต้องแบกหนี้ไว้ ซึ่งหนี้ดังกล่าวจะต้องมีการแก้ไขด้วย ปัจจุบันอยู่ที่ 5%
สรุป ต้นทุนทั้ง 4 ตัว ได้แก่ 60% ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง, ต้นทุนการจำหน่าย 20%, ต้นทุนจากการลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้า 15% และต้นทุนหนี้ 5%
นายอิศเรศ เสนอแนะว่า แนวทางแก้ปัญหามีด้วยกัน 4 วิธี ได้แก่
ประการที่ 1 ในส่วนหนี้ของ EGAT ให้ยืดเวลาคืนหนี้ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง
ประการที่ 2 การลดไขมัน โดยการลด Margin ที่มากเกินไป ในทุกขั้นตอนของการจัดหา การผลิต และ จำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งลดต้นทุนเชื้อเพลิงหลัก ในการผลิตไฟฟ้า คือ NG (ก๊าซธรรมชาติ) ทั้งจากอ่าวไทย และ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) นำเข้า เช่น ลดค่าผ่านท่อและการจัดหาที่มีราคาต่ำสุด แทนการกำหนดราคาเป้าหมาย เพราะด้วยระบบ Cost plus สุดท้ายจะตกมาเป็นภาระของผู้บริโภค เจรจาปรับลดค่าพร้อมจ่ายให้เหมาะสม โดยอาจลดค่าพร้อมจ่าย (AP) ให้ต่ำลง และมาเพิ่มเป็นค่าเชื้อเพลิง (EP ) ให้สูงขึ้น ไม่ใช่ให้โรงไฟฟ้าคืนทุนแบบไม่ต้องเดินโรงงาน จากภาวะ Over Supply ของโรงไฟฟ้า
ประการที่ 3 สนับสนุนให้ผลิตไฟฟ้าจาก Renewable Energy ที่ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เช่น พลังงานลม พลังงานโซลาร์ลอย พลังงานแสงอาทิตย์ ให้เต็มศักยภาพ ทั้งของภาคธุรกิจ และ ภาคประชาชน เพื่อลดการนำเข้าพลังงานราคาสูง เช่น LNG จากต่างประเทศ และมีระบบ Net Billing เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์คืนทุนได้เร็วขึ้น โดยเปิดเสรี และไม่ต้องขอใบอนุญาต รง. 4
ประการที่ 4 กำหนดราคาเป้าหมายนำเข้า LNG โดยเปิดเสรี แข่งขันอย่างเป็นธรรม ลดการผูกขาด Overhaul โรงงานไฟฟ้าเก่า(ที่หมดอายุสัญญา) ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิต ถูกกว่าการลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าใหม่ และช่วยลดปัญหา Over Supply โรงไฟฟ้าไปในตัว รวมถึงลดการสูญเสีย จากผู้ลักลอบใช้ไฟฟ้าฟรี
นายอิศเรศมั่นใจว่า จาก 4 มาตรการข้างต้น จะทำให้อัตราค่าไฟจาก 4.15 บาทต่อหน่วย ลดลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยได้ไม่ยาก
4. เริ่มทำมาก่อนที่ทักษิณจะโม้หาเสียง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ออกข่าว TOPNEWS ว่า แนวทางลดค่าไฟฟ้านั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องหาเสียงแต่เป็นนโยบายรัฐบาล และเป็นนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ซึ่งจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ต้องไปดูบริบทที่เป็นจริง
“ผมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาตั้งแต่ 17 กันยายน 2567 ทำอย่างไรจึงจะลดต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตนลงมาให้ได้ โดยต้นทุนการไฟฟ้าวันนี้อยู่ที่ 4 บาท แบ่งเป็นของ กฟผ. 3 บาท และเป็นของการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. 1 บาท ซึ่งทั้งสองหน่วยงานหลังสังกัดกระทรวงมหาดไทย
...ในส่วนของ กฟผ. 3 บาท ผมพยายามศึกษาหาช่องทางว่า ต้นทุน 3 บาทมีอะไรบ้างเพื่อความชัดเจนและสิ่งที่ประกอบกันเป็นต้นทุน เราจะสามารถปรับลดลงมาได้ไหม ถ้าเราปรับลดลงได้ แสดงว่าต้นทุนจะต่ำกว่า 4 บาท เมื่อต้นทุนต่ำกว่า 4 บาท เราจะมีกำไรให้กฟผ.ไปใช้หนี้เท่าไหร่
เรื่องนี้ ทำมาตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการ คือ เดือนกันยายน ปี’67 ฉะนั้น ที่เป็นข่าวตอนนี้ผมไม่ได้ตื่นเต้น เพราะทำอยู่แล้ว
...ที่ผมได้รับรายงาน คือ มีแนวทางความเป็นไปได้ที่จะทำให้ต้นทุนต่ำกว่า 4 บาท แต่กำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำตรงไหน อย่างไร ทำตรงนี้จะไปกระทบส่วนไหนอย่างไร
...ทำมา ไม่ได้เอางบประมาณไปอุดหนุนเลย แต่รายได้ที่ได้มาเอาไปใช้หนี้ได้น้อยลง ซึ่ง กฟผ. เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่จำเป็นต้องใช้ให้เสร็จภายใน 1 - 2 ปี ยืดออกไปก็ได้ ทำไมต้องให้ประชาชนแบกภาระ
อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าไม่ใช่แค่กระทรวงพลังงาน มันเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยด้วย ซึ่งมหาดไทยจะต้องหาทางไปลดต้นทุนของ กฟน.และ กฟภ. ด้วย เพื่อช่วยกัน 2 ด้าน...
...ผมอยากให้ราคาค่าไฟต่ำกว่า 3.70 บาทต่อหน่วยอีก แต่มันต้องดูศึกษาความเป็นไปได้ เราจะคิดแค่อารมณ์ ความรู้สึกเราไม่ได้ ต้องดูความเป็นจริงด้วยว่ามันได้เท่าไหร่ และที่สำคัญ ต้องมีเงินเหลือไปใช้หนี้” – นายพีระพันธ์ุกล่าว
5. ขอสนับสนุนรัฐบาลให้ทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
รัฐบาลต้องสนับสนุนการทำงานของกระทรวงพลังงาน จึงจะสำเร็จ เพราะจะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายกระทรวง
อย่าลืมว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ค่าไฟฟ้าจะลดลงได้จริง ไม่ใช่เพราะทักษิณไปพูดหาเสียง แต่เพราะคนทำงานรับผิดชอบจริง จะต้องมุ่งมั่น และร่วมมือกันอย่างจริงใจ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี