คดีแชร์ลูกโซ่ดิไอคอน เดินไปสู่ชั้นศาล
จำเลยที่เป็นบอสดิไอคอน 16 คน ยังมีสิทธิต่อสู้ในชั้นศาลยุติธรรมต่อไป
ขณะเดียวกัน บอสคนดัง 2 คน ได้แก่ บอสแซม และบอสมิน ก็ต้องลุ้นว่าดีเอสไอจะมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการอย่างไร?
ส่วนดีลเลอร์รายใหญ่ๆ ผู้มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดรายอื่นๆ ก็ต้องลุ้นว่า ใครบ้างจะถูกหมายจับ หรือถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมในลอตสอง?
1. เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงสั่งฟ้อง 16 ผู้ต้องหา +1 นิติบุคคล
ด้วยข้อหาหนัก “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่), ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
แต่สั่งไม่ฟ้อง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซมผู้ต้องหาที่ 17 และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมินผู้ต้องหาที่ 18 ตามข้อกล่าวหา
ทั้งบอสแซมและบอสมิน ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในเวลาต่อมา
2. น่าคิดและติดตามต่อไปว่า ทำไมอัยการคดีพิเศษจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องบอสแซมและบอสมีน
ไม่ใช่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม
สวนทางกับคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่มีความเห็นพร้อมหลักฐานสั่งฟ้องมาก่อนหน้านี้
ถ้า DSI ไม่มีความเห็นแย้ง คดีบอส 2 คนนี้ก็จบ ยุติ เรียบร้อย ไม่ต้องไปต่อสู้ในชั้นศาลยุติธรรม
เท่ากับว่า จะรอดเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีไปไม่ถึงชั้นศาล ไม่ใช่รอดเพราะศาลพิพากษายกฟ้อง
แต่ถ้าดีเอสไอเห็นแย้ง ก็ต้องดูว่าอัยการสูงสุดจะชี้ขาดว่าอย่างไร
น่าสงสัยว่า คดีนี้ อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องดิไอคอนกรุ๊ป ในฐานะนิติบุคคล และสั่งฟ้องผู้บริหารใหญ่ บอสพอล รวมถึงบอสกัน และบอสนักขายอีกหลายราย ก็โดนสั่งฟ้องไปทั้งหมดแล้ว
นั่นหมายความว่า อัยการเห็นสอดคล้องกับดีเอสไอว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีว่าโครงข่ายดิไอคอนนั้น เป็นแชร์ลูกโซ่ ฉ้อโกงประชาชน ทำผิดกฎหมายขายตรง ฯลฯ
บทบาทของบอสมินและบอสแซม ตามที่เคยปรากฏคลิปประกาศตัวเป็นบอส มีตำแหน่ง มีรายได้ รับผลประโยชน์จากดิไอคอนกรุ๊ป มีหลักฐานไม่เพียงพอว่าร่วมกระทำผิดรู้หรือควรรู้ว่าดิไอคอนกรุ๊ปกระทำการตามที่ฟ้องและยังมีบทบาทสนับสนุน ร่วมกระทำการและรับผลประโยชน์ด้วย จริงหรือไม่?
เหตุผลแท้จริงที่ทำให้อัยการถึงสั่งไม่ฟ้องสองคนนี้ ซึ่งโด่งดัง มีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาบอสผู้ต้องหาทั้งหลาย คืออะไรกันแน่ ?
ผมคิดว่า ถ้าดีเอสไอจะไม่เห็นแย้ง คงต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า แล้วพยานหลักฐานที่ทำให้สั่งฟ้องไปตอนแรกนั้น มันหายไปไหนเสียแล้วหรือ?
ขณะนี้ ทุกคนถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังมีสิทธิต่อสู้คดีต่อไป
3. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2568 ศาลอาญานัดสอบคำให้การจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อทย.14/2568
ศาลเบิกตัวจำเลยทั้ง 16 คน มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อนำตัวมาสอบคำให้การ
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของบอสพอล ยืนยันว่า จำเลยมีความจำเป็นจะต้องได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี พร้อมนำเสนอข้อมูลหลักฐานเอกสารต่างๆ เพื่ออธิบายต่อศาล
ระบุด้วยว่า ในการพิจารณาคดีนี้ หากจำเลยได้รับการประกันตัว จะใช้เวลาในการสืบพยาน จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ประมาณ 1 ปีเศษ
ทนายจำเลยเห็นว่า การมีคำสั่งไม่ฟ้องบอสมินและบอสแซม เป็นเรื่องดี เพราะบริษัทก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้ขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย
4. มุ่งเน้นให้สมาชิกรายเก่าหาสมาชิกรายใหม่ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน รายได้หลักเกิดจากการที่มีผู้สมัครรายใหม่ในตำแหน่งดีลเลอร์ต่อๆ กันไป
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด
ระบุว่า “..ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ว่า เว็บไซต์ www.theicongroup.co.th เมื่อผู้บริโภคเข้าไปดูสินค้าแล้วเลือกรายการสินค้าลงตะกร้าและทำการชำระเงินตามขั้นตอน ปรากฏว่า ไม่สามารถชำระเงิน เพื่อซื้อสินค้าได้โดยเว็บไซต์ดังกล่าวขึ้นข้อความว่า “Something is not right! กรุณาเข้าเว็บไซต์ของตัวแทนเพื่อทำการสั่งซื้อสินค้า”
อีกทั้ง ยังมีข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนผู้เสียหายให้ถ้อยคำว่า “ผู้บริโภคไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯ ได้โดยตรง จะสั่งซื้อสินค้าได้ต่อเมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านลิงก์ของตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น”
ประกอบกับมีผู้เสียหายให้การว่า หากสามารถชักชวนให้ร่วมลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายในตำแหน่งดีลเลอร์เป็นเงินลงทุน 250,000 บาท ผู้ชักชวนจะได้รับค่าตอบแทน จากผู้สมัครรายใหม่เป็นเงิน 10,000 – 15,000 บาท ต่อ 1ดีลเลอร์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของบริษัทฯ รวมทั้งวิธีการในการดำเนินธุรกิจมีลักษณะที่ไม่ได้มุ่งเน้นในการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค แต่กลับมุ่งเน้นให้สมาชิกรายเก่าหาสมาชิกรายใหม่เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ซึ่งรายได้หลักเกิดจากการที่มีผู้สมัครรายใหม่ในตำแหน่งดีลเลอร์ต่อๆ กันไป
รูปแบบการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ มีลักษณะเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจตลาดแบบตรงโดยตกลงว่า จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545
เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 44 และมาตรา 53 วรรคสอง (3) (5) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568”
อย่างไรก็ตาม The iCon Group ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า จะยื่นอุทธรณ์คำสั่ง สคบ.ต่อไป และคำสั่งเพิกถอนมีผลเฉพาะกับที่ขายผ่านเว็บไซต์เท่านั้น ส่วนตัวแทนยังจำหน่ายได้ตามปกติ
5. ในทางพฤติกรรมจริง เครือข่ายดิไอคอนกรุ๊ปเน้นขายสินค้าให้ผู้บริโภคทั่วไป หรือเน้นหาสมาชิกมาสมัครเป็นดีลเลอร์หารายได้จากการเปิดบิลของสมาชิก?
ตรงนี้ ถือเป็นพฤติกรรมสำคัญในทางคดีอย่างหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหา และสมาชิกเครือข่ายดิไอคอนที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีอีกจำนวนหนึ่ง ได้แสดงพฤติการณ์ อวดสถานะร่ำรวย อวดชีวิตหรูหรา ฟู่ฟ่า ดึงดูดความสนใจของสังคมต่อเนื่อง
ปรากฏผ่านสื่อทั้งออนไลน์ ออนไซต์ ต่อเนื่องมาหลายปี
มีการอวดยอดขายหลายพันล้านบาท โอ้อวดความสำเร็จของดีลเลอร์ เพื่อดึงดูดให้คนเข้าเป็นสมาชิกจำนวนหลายแสนคน
มีการจัดส่งสินค้าสอดคล้องกับยอดขายหรือไม่?
มีการขายสินค้าให้ผู้บริโภคจริงๆ สอดคล้องกับยอดรายได้ของบริษัทแค่ไหน? ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ ไม่เกี่ยวกับสินค้ามี อย.หรือไม่มี
คุณทองธาร เหลืองเรืองรอง พ.อาวุโสศาลอุทธรณ์ เขียนบทความว่าด้วยเรื่อง “มองคดี‘ดิไอคอนกรุ๊ป” ผ่านคำพิพากษาศาลฎีกา” (เผยแพร่ในเว็บสำนักข่าวอิศรา)
เนื้อหาบางส่วนบางตอน มีใจความน่าสนใจ อาทิ
“...ธุรกิจขายสินค้าโดยวิธีการสมัครสมาชิกและให้สมาชิกซื้อสินค้านั้น จะเป็นการฉ้อโกงหรือไม่ จะดูจาก“รายได้” ว่า รายได้ที่แท้จริงนั้นมาจากอะไร
รายได้มาจากการสมัครสมาชิกและการบังคับซื้อสินค้า วิธีการนี้ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นการตั้งใจประกอบธุรกิจ แต่ถ้าดูให้ละเอียดจะพบว่า ไม่ได้มีเจตนาประกอบธุรกิจจริงๆ แต่เป็นการหลอกให้ซื้อสินค้าไปเยอะๆแต่ไม่สามารถขายสินค้าได้ ฉะนั้น รายได้จริงๆของเจ้าของธุรกิจ จึงไม่ใช่ผลกำไรจากการขายสินค้าทั่วไป แต่เป็นรายได้ที่ได้จากการให้สมาชิกต้องซื้อสินค้าจำนวนหนึ่ง รายได้ของธุรกิจจะต้องได้จากการขายสินค้าให้คนทั่วไป ไม่ใช่รายได้จากการบังคับให้สมาชิกซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ เรียกว่า รายได้หรือกำไรเทียม วิธีการแบบนี้เข้าลักษณะแชร์ลูกโซ่เช่นกัน เพราะรายได้ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าทั่วไป แต่เกิดจากการหลอกลวงให้สมาชิกซื้อสินค้าจำนวนมากๆ
คุณทองธาร เหลืองเรืองรอง พ.อาวุโสศาลอุทธรณ์ สรุปว่า ...เส้นแบ่งว่าจะเป็นฉ้อโกงหรือไม่ ให้ดูจากรายได้ของบริษัทว่า รายได้หรือกำไรมาจากการที่สมาชิกขายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไปได้ หรือเป็นรายได้หรือกำไรที่ได้มาจากการซื้อสินค้าของสมาชิกเอง ถ้ารายได้ของบริษัท ไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วๆไป แต่เกิดจากการบังคับหรือหลอกลวงให้สมาชิกซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ แบบนี้ก็จะเข้าข่ายฉ้อโกง
โดยศาลจะถือว่า “รู้อยู่แล้วว่าสินค้าไม่สามารถขายได้” และการใช้ดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์มาโฆษณานั้น ก็ด้วยวัตถุประสงค์ให้สมาชิกซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการขายหรือช่วยให้สมาชิกขายสินค้าได้แต่อย่างใด”
ส่วนคดีดิไอคอน กรุ๊ป จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นกับพยานหลักฐาน และการต่อสู้คดีในชั้นศาลยุติธรรมต่อไป
6. จะต้องติดตามต่อไปว่า นอกจากผู้ต้องหา 18 คนแรกแล้ว ใครที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายธุรกิจดิไอคอน กรุ๊ปข้างต้น จะถูกดีเอสไอแจ้งข้อหาดำเนินคดีอีกบ้าง?
ในเมื่ออัยการและดีเอสไอ เห็นพ้องกันว่า มีหลักฐานเพียงพอฟ้องคดีว่ามีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ ฉ้อโกงประชาชน พ.ร.บ.คอมพ์ พ.ร.บ.ขายตรงฯ แล้ว
บุคคลที่มีพฤติการณ์ร่วมกระทำ โดยรู้หรือควรรู้ ร่วมรับผลประโยชน์ด้วย ฯลฯ โดยเฉพาะรายที่มีผลประโยชน์การเปิดบิลมีสมาชิกลูกทีมนับร้อยนับพันนับหมื่นคน เคยอวดว่ามีรายได้ร้อยล้านพันล้านบาทนั้น หากไม่ได้ให้การเป็นประโยชน์ กันเป็นพยาน ก็ควรจะถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่สังคมต่อไป
....จบ....
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี