รัฐบาลพยายามจะหลบๆ เลี่ยงๆ อ้างว่าไม่ได้เจตนาจะเปิดบ่อนกาสิโน
แต่จริงๆ มันก็คือการเปิดบ่อนกาสิโน เพียงแต่ซุกไว้ในสถานบันเทิงที่มีกิจกรรมหลายๆ อย่าง
1. นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานบันเทิงครบวงจร คณะกรรมการบริหารจัดตั้งสำนักงานสถานบันเทิงครบวงจร และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และแก้ปัญหาการพนันที่ผิดกฎหมายในปัจจุบัน และทำให้เกิดผลดีในอนาคต ในภาพรวม เป็นหนึ่งในการสนับสนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน ตามที่เคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไป
ถามว่า เป้าหมายจะเป็นปีนี้เลยหรือไม่? นายกฯอุ๊งอิ๊งค์กล่าวว่า พยายามเร่ง แต่กระบวนการต่าง ๆ จะผ่านอย่างไร ถ้าเกิดเร็วก็ดี เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีกาสิโน 10% และที่ท่องเที่ยวอีก 80 - 90% แม้ในอดีตจะบอกว่ามีน้อย แต่เมื่อมีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้ามา ก็ทำให้ GDP โตขึ้นอย่างมาก และจะเกิดผลดีต่อประเทศในอนาคต ถ้าผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ส่วนรายละเอียดกระทรวงการคลังจะแถลงอีกที
2. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยในเชิงของหลักการ เกือบจะ 90% ที่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ทุกคนมีข้อสังเกตที่ตรงกับลักษณะงานที่ตัวเองดูแลอยู่ อย่างเรื่องกาสิโน ที่กลัวคนไทยและเด็กอายุไม่ถึง 20 ปี เข้าไปเล่น ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงต้องรับไว้ ว่าจะต้องกำกับอย่างไรซึ่งรัฐบาลไม่ได้สนับสนุน เพราะสิ่งที่รัฐบาลต้องการคืออยากให้ต่างประเทศเข้ามาใช้เงินมากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินเบื้องต้น คาดว่าสถานบันเทิงครบวงจรตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 9,000–15,300 ตำแหน่ง
น่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 118,877–475,510 ล้านบาทต่อปี
และรัฐบาลน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร 12,037 – 39,427ล้านบาทต่อปี
3. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ไม่ได้ไม่เห็นด้วย แต่หลักในการทำกฎหมายของรัฐบาล จะต้องยึดนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งจะต้องไปดูคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยจะไปดู Man-made destination หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น จะมีตั้งแต่สวนสนุกอื่นๆ และ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้าไปอยู่ในนั้น
“แต่กฎหมายที่กระทรวงการคลังร่างขึ้น ใช้ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ซึ่งพูดถึงเฉพาะเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และการแก้ไขปัญหาการพนัน ฉะนั้น จึงแคบกว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการ คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีความเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลกว้างกว่า ดังนั้น ถ้าจะเป็น Man-made destination ควรจะเขียนให้กว้างขึ้นเพื่อความครอบคลุม
...ถ้าเป็นเน้น Man-made destination จะเป็นเหมือนรีสอร์ทขนาดใหญ่ มีทั้งสนามกอล์ฟ สถานบันเทิง เหมือนที่เจอในต่างประเทศ มีที่พักสำหรับครอบครัว และมีกิจกรรมของแต่ละคน มีสวนสนุกและสวนน้ำสำหรับเด็ก สุภาพสตรีมีศูนย์การค้า ขณะที่ผู้ชายจะมีกีฬา ในส่วนของการพนันมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น...
..รวมถึงมีข้อสังเกตเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ในรายงานศึกษาของสภาผู้แทนฯ ที่มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการพนัน แต่กฤษฎีกามองว่าการสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้แก้ไขปัญหาการพนันโดยตรง ถ้าอยากแก้ไขปัญหาการพนันโดยตรงต้องไปแก้ไขที่อื่น เช่น นิสัยของคน พฤติกรรมของคนที่ชอบเล่นการพนัน ซึ่งก็มีกฎหมายการพนันอยู่แล้ว
จึงต้องเอาให้ชัดว่าร่างกฎหมายนี้ต้องการบรรลุวัตถุประสงค์อะไร ค่อยเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ว่าจะเน้น Man -made destination หรือจะเน้นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่อย่างนั้นก็ร่างไม่ถูก เพราะกระบวนการกลไกต่างกัน” – เลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว
4. ตกลงว่า จะเอาอะไรกันแน่?
จะสร้าง Man-made destination หรือจริงๆ ต้องการจะเปิดกาสิโน แต่กลัวถูกต่อต้านเลยแอบเข้าไปอยู่ในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมพล็กซ์
เพราะถ้าต้องการจะสร้าง Man-made destination จริงๆ ควรจะหามาตรการส่งเสริมสนับสนุนเอกชนให้สร้าง Man -made destination แบบสร้างสรรค์ และดึงดูดผู้คนมาเที่ยวในประเทศไทย เช่น วัดร่องขุ่น สวนนงนุช เมืองโบราณ ปราสาทสัจธรรม สนามแข่งรถที่บุรีรัมย์ ฯลฯ
นั่นคือการสร้าง Man-made destination แบบสร้างสรรค์
แต่การเปิดกาสิโน แล้วเอาห้างสรรพสินค้า ความบันเทิงอื่นๆ มารวมรอบๆ อำพรางไว้ มันสะท้อนว่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์หมดปัญญาที่จะส่งเสริมสนับสนุน Man -made destination ที่สร้างสรรค์แล้วหรือ
5. ในร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร” มีอำนาจที่สำคัญในการวางนโยบายและวางแนวการบริการจัดการงานของสถานบันเทิงครบวงจรทั้งหมด กำหนดนโยบายในการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากสถานบันเทิงโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี กำหนดจำนวนใบอนุญาต กำหนดพื้นที่การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร การขออนุญาตและเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร การพิจารณาต่ออายุ หรือเพิกถอนใบอนุญาต กำหนดประเภทกิจการที่ดำเนินการได้ในสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงสัดส่วนพื้นที่กาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร ตลอดจนให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจเสนอต่อ ครม. ให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจรมีประสิทธิภาพ
(2) กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหาร” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบแทนใบอนุญาต กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ กำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าตอบแทนของเลขาธิการ และพนักงานลูกจ้างของสำนักงานฯ
(3) กำหนดให้มี “สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร” ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่สำคัญในการศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดสถานบันเทิงฯ กำกับ ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภท ลักษณะ วิธีการเล่น ลักษณะของบุคคลต้องห้าม
(4) ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้ในสำนักงานจะมีเลขาธิการ ซึ่งเป็นบุคคลที่คณะกรรมการนโยบายฯแต่งตั้ง โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริหารกิจการของสำนักงาน วางระเบียบการ ดำเนินงานของสำนักงานโดยเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน รวมถึงประเมินผลการปฏิบัติงาน บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลดตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยของพนักงานและลูกจ้าง
(5) สถานบันเทิงครบวงจร จะต้องตั้งอยู่บนบริเวณเขตพื้นที่ตามที่กำหนด โดยต้องประกอบด้วยธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายฯ อย่างน้อย 4 ประเภทร่วมกับกาสิโน
ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยที่มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท
และให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตได้รับยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
(6) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต่อสำนักงานฯ และให้ใบอนุญาตมีอายุ 30 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
และอาจพิจารณาต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี
(7)ในส่วนของกาสิโนให้กระทำได้เฉพาะในสถานบันเทิงครบวงจร โดยผู้รับใบอนุญาต และให้มีเฉพาะประเภทที่กำหนด รวมทั้งต้องมีเขตบริเวณสถานประกอบการกาสิโนที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องมีสัดส่วนของพนักงานคนไทยและคนต่างด้าวตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด
โดยห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน เว้นแต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เข้าในสถานประกอบการกาสิโน
โดยร่าง พ.ร.บ. มาตรา 55 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลดังต่อไปนี้ เข้าไปในสถานประกอบการกาสิโน (1) ผู้มีอายุน้อยกว่ายี่สิบ (20) ปีบริบูรณ์ (2) ผู้ซึ่งสำนักงานสั่งห้ามเข้าสถานประกอบการกาสิโน (3) ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่ คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด (4) ผู้ที่มีลักษณะของบุคคลต้องห้ามตามที่สำนักงานประกาศกำหนด”
6. ตามร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฯ มีบัญชีแนบท้าย กำหนดประเภทธุรกิจสถานบันเทิงไว้ 10 ประเภท
ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า 2.โรงแรม 3. ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์ 4.สนามกีฬา 5.ยอชต์และครูซซิ่งคลับ 6. สถานที่เล่นเกม 7.สระว่ายน้ำและสวนน้ำ 8.สวนสนุก 9.พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP และ 10.กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
นอกจากนี้ บัญชีแนบท้ายอัตราค่าธรรมเนียม ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดว่า 1.การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 100,000 บาท 2.ใบอนุญาต ครั้งแรก ฉบับละ 5,000 ล้านบาท, รายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท 3.ใบอนุญาต (ต่ออายุ) ฉบับละ 5,000 ล้านบาท, รายปี 1,000 ล้านบาท 4.ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100,000 บาท และ 5.ค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย ครั้งละ 5,000 บาท
7. กิจกรรมในสถานบันเทิงครบวงจรตามที่รัฐบาลกำหนดนั้น ได้แก่ 1. ห้างสรรพสินค้า 2.โรงแรม 3. ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโก้เธค ผับ หรือบาร์ 4.สนามกีฬา 5.ยอชต์และครูซซิ่งคลับ 6. สถานที่เล่นเกม 7.สระว่ายน้ำและสวนน้ำ 8.สวนสนุก 9.พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP
กิจการทั้ง 9 ชนิด ล้วนสามารถทำได้อยู่แล้ว และต้องการการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์จากรัฐบาลที่มีสติปัญญา ย่อมจะขับเน้นความโดดเด่นของการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ยังเหลือแค่กาสิโนที่ทำไม่ได้ เพราะขัด พ.ร.บ.พนัน และกาสิโนในเมืองไทยก็เคยมีบทเรียนในอดีต จน ร.5 ทรงให้ยกเลิกบ่อนกาสิโนมาแล้ว
จึงกล่าวได้ว่า นี่คือ พ.ร.บ.กาสิโนอีแอบ ต้องการเปิดบ่อนกาสิโนนั่นเอง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี