ในการแถลงข่าวผลงาน 90 วันของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็พอเข้าใจกันได้ ที่ไม่มีผลอะไรมากนักเพราะเวลากระชั้นชิดเกินไปแต่ก็มีความพยายามจะสานงานต่อที่รัฐบาลชุดก่อนๆ อยากจะยกตัวอย่างในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นได้ทำงานแต่เนิ่นๆ บัญชาการให้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องในการเร่งแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 รัฐบาลเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อให้ช่วยกันแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองข้ามแดน
กระทรวงต่างประเทศได้ประสานงานกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศนี้ด้วยเราได้เน้นย้ำว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางการของ 2 ประเทศจะต้องเร่งหาทางลดหรือเลิกการเผาป่าหรือพื้นที่ปลูกพืช เพราะส่งผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนในประเทศเหล่านี้ และลุกลามข้ามมาถึงสุขภาพของคนในประเทศเพื่อนบ้านขณะที่ฝ่ายเมียนมาและสปป.ลาวได้รับปากที่จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้และกระทรวงต่างประเทศได้กระตุ้นทางการของทั้ง 2 ประเทศให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวทุกวัน
เชียงใหม่เป็นนครที่มีฝุ่นมลพิษ PM2.5 ขึ้นอันดับหนึ่งของโลกมาหลายปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2549 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามภาวะมลพิษใน14จังหวัดภาคเหนือมาตลอดทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร สุโขทัย นครสวรรค์และอุทัยธานีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน
ผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 สร้างสถานการณ์ฝุ่นควันสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและผลเสียมีแนวโน้มทวีความรุนแรง ธนาคารโลกประเมินว่าต้นทุนเศรษฐกิจของไทยเพิ่มจาก 2.10 แสนล้านบาทในปี 2533 เป็น 8.71 แสนล้านบาทในปี 2556 มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยสูงถึง 2.17 ล้านล้านบาทต่อปี ปี 2564 พบว่าไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจ 29,000 ราย
ฝุ่นPM2.5สร้างความเสียหายต่อคุณภาพดินน้ำและการเติบโตของสิ่งมีชีวิตในป่า รวมทั้งความหลากหลายด้านชีวภาพฝุ่นPM2.5 จะเกิดขึ้นมากช่วงปลายหนาวถึงต้นฤดูแล้งเพราะความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง 14 จังหวัดภาคเหนือได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิประเทศที่เป็นที่ราบล้อมรอบไปด้วยภูเขาลักษณะเหมือนแอ่งกระทะการสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงมาก
กรมควบคุมมลพิษเผยปัญหาว่าฝุ่นเกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงคือการเผาในที่โล่งแจ้งในชนบทและในป่า การขนส่ง การผลิตไฟฟ้าและโรงงานแหล่งกำเนิดทางอ้อมที่เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ต้นตอใหญ่ที่สุดของฝุ่นคือการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรและไฟไหม้ป่าที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5ถึง 210,000 ตันต่อปี
ต้นตอส่วนใหญ่เกิดจากการเผาวัสดุการเกษตรทั้งในที่โล่งและที่ไม่โล่ง เช่น การเผาอ้อยก่อนตัดการเผาตอซังที่ไร่ข้าวโพดและนาข้าวที่เป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดแรงงานค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย การเผาขยะบางพื้นที่มีการเผาเพื่อหาของป่าการเผาเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่าและจับจองพื้นที่เพื่อทำมาหากิน และไฟป่าโดยเฉพาะในปีถัดมา
ไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อเร็วๆ นี้ถือเป็นบททดสอบในการแก้ปัญหาไฟป่า แต่เรื่องฝุ่นนั้นมีข้อมูลมานานแล้ว เป็นสิ่งที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร สามารถดำเนินการต่อได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องให้มีฝ่ายใดร้องขอ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี