กัมพูชาได้ชื่อว่า เป็นทุ่งสังหาร ที่คนกัมพูชาฆ่ากันตายอย่างโหดร้ายทารุณกว่าสองล้านคนในยุคสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 2516 จนทุเลาเบาบางลงในปี 2531 ที่คู่สงครามทั้งทุกฝ่ายตกลงกันว่า ถึงเวลาเลิกฆ่ากันเองภายใน แล้วมาแบ่งปันผลประโยชน์จากการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายมีแต่ได้กับได้
แต่การเลือกตั้งครั้งแรกของกัมพูชาในปี 2536 เกิดความขัดแย้งแบ่งอำนาจกันไม่ได้ สุดท้ายกัมพูชา ต้องมีนายกรัฐมนตรีสองคน คือ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ กับ นายฮุนเซน อดีตเขมรแดง ที่มีความชำนาญในการสังหารมากกว่า เนื่องจากเป็นทหารเขมรแดงตั้งแต่นมเพิ่งแตกพาน
ดังนั้น เมื่อฮุนเซน ยึดอำนาจในปี 2540 เจ้านโรดม รณฤทธิ์ กังวลเรื่องความปลอดภัยลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส และตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็กลับไปกลับมา ระหว่างกัมพูชากับลี้ภัยในต่างประเทศสี่ห้าครั้ง เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายไล่ล่าฝ่ายตรงข้าม
ในขณะที่ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ เข้า-ออกกัมพูชาอยู่สี่ห้าครั้งนั้น มีรายงานว่า สมาชิกฝ่ายค้านที่นำโดยนายสม รังสี ถูกคุกคามทางกฎหมายและความปลอดภัยในชีวิต รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลหลายคนถูกอุ้มหายไปหลายคนถูกฆ่าตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และหนีจากกฎหมายที่ลงโทษโดยไม่เป็นธรรมนักการเมืองฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายร้อยคนหนีไปลี้ภัยในต่างประเทศ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญส่วนใหญ่ที่ลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส และส่วนมากได้สัญชาติฝรั่งเศสไว้เป็นเกราะป้องกันความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง ส่วนนักเคลื่อนไหวหรือฝ่ายค้านที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านไม่มีภูมิคุ้มกันใดๆ
การสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือฝ่ายค้านในกัมพูชา กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้แต่สมาชิกครอบครัวกษัตริย์ ก็ไม่มีใครรับรองความปลอดภัยได้ ดังที่มีรายงานว่าในห้วงเวลา 3 ปีได้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่น่าสงสัยกับเจ้านโรดมรณฤทธิ์ สองครั้ง ปลายปี 2558 รถพระที่นั่งของ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ ถูกรถบรรทุกพุ่งชนอย่างแรง เจ้านโรดม รณฤทธิ์ ได้รับบาดเจ็บ ส่วนพลขับเสียชีวิต
ในปี 2561 รถยนต์เจ้านโรดม รณฤทธิ์เกิดอุบัติเหตุที่จังหวัดพระสีหนุ ซึ่งทำให้ เจ้านโรดมรณฤทธิ์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนหม่อมพัลลาถึงแก่กรรม ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็แทบไม่ได้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดดเด่นอีกเลย จนถึงเดือนมกราคม 2562 ทรงปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะประธานพรรคฟุนซินเปก แทนที่บุตรชายคนโตคือ เจ้าชายนโรดม จักราวุธ ก่อนเดินทางไปฝรั่งเศส และ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์ที่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ขณะมีพระชนมพรรษา 77 พรรษา
สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ทรงเป็นแบบอย่างของนักเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่ทรงตระหนักว่าในกัมพูชาไม่มีความปลอดภัย หลายคนอาจตายจากปลายกระบอกปืน และหลายคนอาจตายจากอุบัติเหตุอำพราง จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพนมเปญ เป็นส่วนใหญ่ จึงได้ถือสองสัญชาติและลี้ภัยในต่างประเทศ
ดังนั้น การสังหาร นายลิม กิมยา อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ถือสัญชาติฝรั่งเศส จึงกำหนดไว้ล่วงหน้าว่า ต้องกำจัดในประเทศไทย บนดินแดนที่มีสหายผู้ยิ่งใหญ่ มีอิทธิพลเหนือผู้นำรัฐบาลจัดการให้ได้ ผู้บงการสังหาร ลิม กิมยา ตระหนักดีว่า หากฆ่าคนฝรั่งเศสในบ้านมันโจ่งแจ้งเกินไป รัฐบาลปารีสซึ่งมีอียู และมีวอชิงตันหนุนหลัง ต้องกดดันรัฐบาลพนมเปญให้นำมือสังหารรวมทั้งผู้สั่งการมาลงโทษตามกฎหมาย
นั้นคงเหตุผลที่ทำให้ อัครมหาเสนาบดีเดโช จำเป็นต้องถ่ายไว้หน้าบ้านสหายคู่ใจ เพราะมั่นใจว่า สหายรักของ อัครมหาเสนาบดีเดโช ต้องทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือไม่ก็ดับกลิ่น ไม่พึงปรารถนาที่สหายถ่ายทิ้งไว้ได้
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่าการสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้แต่ประเทศที่รักษาความปลอดภัยเป้าหมายถูกทำร้ายเข้มงวดอย่างมาเลเซีย แต่ยังถูกเกาหลีเหนือส่งคนมาสังหารเป้าหมายคาสนามบินได้ หรือแม้แต่ฝ่ายไทยตระหนักว่า เหยื่อที่ถูกสังหารกลางเมืองอย่างอุกอาจ เป็นหนึ่งในเป้าหมายทำลายแต่ยังปล่อยให้เกิดขึ้น
ที่แล้วมาเรามี สภาความมั่นคง มีตำรวจสันติบาลมีหน่วยรักษาความปลอดภัยทหาร มีตำรวจและ ด่านตรวจคนเข้าเมือง บูรณาการกันติดตามความเคลื่อนไหวผู้ที่สงสัยว่า ตกเป็นเป้าหมาย และสะกัดกั้นไม่ให้เกิดเหตุได้ เช่น ตรวจคนเข้าเมืองสกัดไม่ให้เข้าประเทศ
“ต้องตรวจสอบว่าหน่วยงานต่างๆ บูรณาการกันดีหรือไม่ หรือบกพร่องตรงจุดไหน” ดร.ปณิธานกล่าว และตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่ใช้วิธีต่างๆตอบแทน คือส่งมือปืนมาให้ไทยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายระหว่างประเทศ “ต้องให้เครดิตตำรวจกัมพูชาที่สามารถจับมือปืนได้เร็วกว่า อาจเป็นเพราะเขารู้ข้อมูลมากกว่าเรา แต่อย่างไรก็ตามในกรณีอุกอาจและฉุกเฉินอย่างนี้ เราควรใช้วิธีต่างตอบแทนคือส่งผู้ต้องหามาให้ไทยทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกฎหมาย ซึ่งก็เคยทำกันมาในหลายกรณี” ดร.ปณิธานกล่าว และเสริมว่า ในยุคใหม่การสอบสวนหาผู้กระทำผิดทำได้ง่ายมากกว่าที่แล้วมา เพราะว่าข้อมูลทุกอย่างอยู่ในดิจิทัลฟุตพริ้นท์ “การจ่ายเงิน การชี้เป้า ตลอดถึงแผนการหลบหนีและสั่งการ ใครมีส่วนเกี่ยวข้องส่วนไหนข้อมูลดิจิทัลบอกได้หมด” ดร.ปณิธาน กล่าวสรุป
ด้าน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์บนเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ว่า..“หยามน้ำหน้าคดีลอบสังหาร ยิงอดีตนักการเมืองเพื่อนบ้านกลางกรุง ไม่ใช่คดีอาชญากรรมธรรมดา แต่นี่มันอุกอาจมาก มันต้องมีใบสั่งฆ่าจะสั่งโดยใครไม่สำคัญ แต่ต้องไม่เกิดเหตุในไทย อดีต สส.ฝ่ายค้านเพื่อนบ้านทำอะไรขัดใจใครรุนแรงหนักหนามากจนห้ามอยู่ร่วมโลก ใบสั่งฆ่าเช่นนี้อุกอาจมากยิงกลางกรุง อย่าเป่าคดีเป็นอาชญากรรม ฝ่ายความมั่นคงต้องลงมาดู ทำความจริงให้กระจ่าง บ้านเราต้องไม่ใช่ทุ่งสังหาร อยากฆ่าใครก็เมืองไทยนี่แหละดีมันหยามน้ำหน้ากันมากเกินไป
ประเมินจากความคิดเห็นของนักวิชาการด้านความมั่นคง และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง อนุมานได้ว่า กรณีอัครมหาเดโชชัยถ่ายใส่หน้าบ้านเพื่อนเกลอ ไม่นานกลิ่นไม่ประสงค์ก็หายไปหรือไม่ก็เพื่อนเกลอในเมืองไทยก็กลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ให้ได้
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี