งานเข้านายกฯ อุ๊งอิ๊งค์
กรณีที่มีข้อสังเกตการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รายการหนี้จากการกู้ยืมมูลค่า 4 พันล้านบาท เป็นหนี้ระหว่างเครือญาตินั้น เป็นการทำนิติกรรมอำพราง หรือเป็นหนี้จริงๆ ?
1. นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ยืนยันว่า เป็นหนี้ระหว่างญาติ มีตั๋ว มีอะไรเรียบร้อยหมด
เมื่อนักข่าวถามย้ำว่า กังวลหรือไม่ว่าเรื่องนี้จะซ้ำรอยกับคดีซุกหุ้นของนายทักษิณ อดีตนายกฯ?
นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ ส่ายหน้า และกล่าวว่า “ไม่กังวล เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย”
2. กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
การจะพิจารณาว่าเป็นหนี้จริง หรือไม่? ก็ต้องดูว่า ที่มาของหนี้เกิดจากอะไร? สภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร?
เมื่อแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ระบุว่า มีหนี้สินทั้งสิ้น 4,441,159,711 บาท
เฉพาะรายการหนี้สิน น.ส.แพทองธาร แจ้งว่ามีหนี้สิน 4,439,980,600.96 บาท
รายการหนี้สินของ น.ส.แพทองธาร มี 10 รายการ ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชี 10 บัญชี 5,458,262 บาท
และหนี้สินอื่น 9 รายการ ได้แก่ 1.สัญญากู้ยืมเงินจาก น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ 2.สัญญากู้ยืมเงินจากนายพานทองแท้ ชินวัตร 3.สัญญากู้ยืมเงินนายบรรณพจน์ดามาพงศ์ 4.สัญญากู้ยืมเงินนางบุษบา ดามาพงศ์ และ5.สัญญากู้ยืมเงินคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ รวมมูลค่า 4,434,522,338 บาท
สำนักข่าวอิศราเจาะรายละเอียดมาว่า หนี้ก้อนนี้ เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน อ้างว่าชำระค่าหุ้นบริษัทในครอบครัวชินวัตรจำนวน 9 บริษัท ให้แก่บุคคลในครอบครัวชินวัตร ดามาพงศ์
จำแนกเป็น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้แก่ 5 บุคคลข้างต้น ประกอบด้วย
“1.นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ จำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) รวมเป็นเงิน 2,388,724,095.42 บาท ชำระ ค่าหุ้นบริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด,บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัดและ บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด
2.นายพานทองแท้ ชินวัตร จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) เป็นเงิน 335,420,541 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
3.นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 9 ม.ค.2556 (9/1/2556), 8 พ.ค.2556 (8/5/2556) รวมเป็นเงิน 1,315,460,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอแมนเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
4.นางบุษบา ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 พ.ค.2556 (8/5/2556) เป็นเงิน 258,400,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
5.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) เป็นเงิน 136,517,701.60 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด”
3.การจะพิจารณาว่า เป็นหนี้จริงหรือไม่ ก็ต้องดูว่า มีการซื้อขายกันจริงๆ หรือเป็นการยกให้แต่ทำสัญญาซื้อขายเพียงเพื่ออำพรางการให้?
ประเด็นนี้ สำคัญที่สุด ก็จะต้องดูข้อมูลความจริงแวดล้อมให้ชัดเจนว่า การหลบเลี่ยงนั้น ก่อให้เกิดผลประโยชน์อะไร มีอะไรเป็นแรงจูงใจหรือไม่? เป็นต้น
มีสภาพหนี้ในปัจจุบันตามที่แจ้งกับ ป.ป.ช. จริงหรือเปล่า?
ถ้าจริง ก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าไม่จริง ก็อาจเป็นนิติกรรมอำพราง อาจเข้าข่ายแจ้งบัญชีเท็จ งานเข้าแน่นอน
4.คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสมือฉมัง เขียนบทความตั้งข้อสังเกตน่าสนใจ บางประเด็น ระบุว่า
“...คำถามแรกที่เกิดขึ้น คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำขึ้นจำนวน 9 ฉบับ ลงวันที่ 9 มกราคม 2556 บ้าง 8 กันยายน 2559 บ้าง เป็นการทำขึ้นเพื่อชำระราคาในวันโอนหุ้นเลย หรือทำขึ้นย้อนหลังเพื่อให้แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ไม่มีปัญหา หรือไม่
วิธีการตรวจสอบทำได้ไม่ยาก โดยใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบกระดาษและน้ำหมึกที่ใช้ในการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
คำถามที่สอง การทำตั่วสัญญาใช้เงินเพื่อเป็นการชำระราคาค่าหุ้น เป็น “นิติกรรมอำพราง”สัญญาให้หุ้นหรือไม่ เพราะถ้าคิดในรูปแบบการแบ่งสรรทรัพย์สินในครอบครัวในฐานะบุตรหนึ่งในสามคนก็ต้องได้รับทรัพย์สินเหล่านั้นจาก “กงสี”อยู่แล้ว ไม่ต้องมีการซื้อขาย
คำถามที่สาม แล้วทำไมต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคา “อำพราง”สัญญาให้หุ้นมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท คำตอบคือ เมื่อมีการเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องถูกตั้งคำถามว่า เมื่อมีรายได้จากการให้ขนาดนี้ ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาหรือไม่
ถ้าคิดอย่างเร็ว ๆ เงินได้กว่า 4,400 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้เกือบ 1,500 ล้านบาท
บางคนบอกว่า วิธีการดังกล่าว เป็นการ “วางแผนภาษี”ซึ่งมีเส้นกั้นบางๆว่า กับคำว่า “เลี่ยงภาษี”...”
นอกจากนี้ คุณประสงค์ยังตั้งประเด็นที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความจริงไว้น่าสนใจด้วย ระบุว่า
“หนึ่ง เมื่ออ้างว่า การโอนหุ้นกว่า 4,400 ล้าน เป็นการซื้อจากญาติพี่น้อง คำถามที่เกิดขึ้นคือ ซื้อขายในราคาเท่าไหร่ ตามมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หรือมูลค่าตามบัญชี ถ้าเป็นบริษัทที่มีกำไร มูลค่าตามบัญชีจะสูงกว่าราคาพาร์
กรมสรรพากร ต้องติดตามตรวจสอบว่า ผู้ขาย ขายตามราคามูลค่าตามบัญชี (กรณีที่บริษัทมีกำไร) หรือไม่ ถ้ามีกำไรจากการขายหุ้นเสียภาษีหรือไม่ซึ่งปกติกรรมกรมสรรพากรจะกำหนดให้ขายตามมูลค่าตามบัญชีเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี
สอง การซื้อขายต้องมีการเสียค่าอากรแสตมป์ ในกรณีมีการเสียอากรถูกต้องหรือไม่แม้ค่าอากรจะไม่มากนัก แต่มูลค่าหุ้นกว่า 4,400 ล้าน ค่าอากรก็เป็นเงินไม่ใช่น้อย
สาม เมื่อพิจารณาจากตั๋วสัญญาใช้เงินแบบไม่มีกำหนดเวลาให้ชำระ(เมื่อทวงถาม) และไม่มีดอกเบี้ย โดยเฉพาะจากคุณหญิงพจมานที่เป็นมารดา ทำให้คิดไปได้ว่า เจตนาที่แท้จริงในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมิได้มีเจตนาที่แท้จริงในการเป็นประกันในการชำระหนี้ค่าหุ้น แต่เป็นการ “อำพราง” สัญญาให้หุ้นหรือไม่
ถ้าเป็นการอำพรางจริง เท่ากับหนี้จำนวนนี้ที่ น.ส.แพทองธารยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช.เป็น “หนี้ปลอม” เมื่อเป็นหนี้ปลอม คำถามคือ เข้าข่ายจงใจยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่
เพราะถ้าเป็นการอำพรางการให้หุ้นซึ่งมูลค่าหุ้นที่ได้รับกว่า 4,400 ล้านบาท ต้องถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคลลธรรมดานับพันล้านบาท
ถ้าอำพรางสำเร็จ ก็ต้องไม่ถูกตรวจสอบ และไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว?...”
5. การตรวจสอบพิสูจน์ทราบความเป็นเจ้าของตัวจริง หรือแม้แต่สภาพหนี้จริงๆ แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่
เคยมีการไต่สวนพิสูจน์กันจนกระทั่งศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาชี้ขาดเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหุ้นชินชี้ขาดไว้อย่างชัดแจ้ง
สรุปว่า พานทองแท้ ชินวตร – พินทองทา ชินวัตร - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - บรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ปรากฏชื่อถือหุ้นชินฯ ในช่วงทักษิณเป็นนายกฯ นั้น ล้วนแต่เป็นผู้ถือหุ้นแทนนายทักษิณ เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายทั้งสิ้น
ระบุลึกถึงขนาดว่า คุณหญิงพจมานเป็นคนชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนให้นายบรรณพจน์
ส่วนการขายหุ้นให้นายพานทองแท้ นางสาวยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ ต่างก็ใช้วิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชําระค่าซื้อหุ้น มีกําหนดใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย
พูดง่ายๆ คือ ยังไม่จ่ายเงินค่าหุ้นจริงๆ
ศาลฎีกาฯ ระบุถึงขนาดว่า “ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่า แท้จริงไม่มีการโอนซื้อขายและไม่มีการชําระราคากันจริง”
ในที่สุด ศาลชี้ว่า ทักษิณมีความผิดฐานถือหุ้นในบริษัทสัมปทานรัฐ ขณะที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องโทษจำคุก 2 ปี
ในอดีต ทักษิณเคยซุกหุ้นไว้ในชื่อ “คนรับใช้” “คนขับรถ” หรือ “ยาม”
ต่อมา คำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดีนี้ ยิ่งชี้ให้เห็นว่า ลูกๆ ของทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นนายพานทองแท้ นางสาวพินทองทา ล้วนเคยเป็นนอมินีของทักษิณ
แม้นายพานทองแท้ นางสาวพินทองทา อ้างว่าตนเป็นเจ้าของหุ้น แต่ศาลฎีกาฯ ชี้ขาดว่า ทักษิณเป็นเจ้าของตัวจริง เพียงแค่ซุกใส่ชื่อลูกๆ และแอมเพิลริชไว้ เท่านั้นเอง
ลูกๆ ที่ปรากฏชื่อถือหุ้นชิน ในช่วงทักษิณเป็นนายกฯ นั้น จึงแต่เป็นผู้ถือหุ้นแทนนายทักษิณและคู่สมรส เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายทั้งสิ้น
มาถึงกรณีนายกฯอุ๊งอิ๊งค์ ก็แจ้ง ป.ป.ช.ว่าเป็นหนี้สินเครือญาติอยู่ 4 พันล้านบาทจากตั๋วสัญญาใช้เงินแบบไม่มีกำหนดเวลา ให้ชำระ(เมื่อทวงถาม) และไม่มีดอกเบี้ย
ย้ำ...ตั๋วสัญญาใช้เงินแบบไม่มีกำหนดเวลา ให้ชำระ(เมื่อทวงถาม) และไม่มีดอกเบี้ย
จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่?
ป.ป.ช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบความจริงไม่ได้
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี