“ถมทะเล” เป็นความคิดที่ “อยากทำ” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ไม่เคยได้ทำ เป็นนโยบายขายฝันมาตั้งแต่การหาเสียงของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุค “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”จนมาถึงยุค “ผู้สืบสันดาน” คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร “ทักษิณ” ยังคงวนเวียน โหยหา ต้องการ จะ “ถมทะเล”
1) ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมงานดินเนอร์ทอล์ก แสดงวิสัยทัศน์ในประเด็น “การฟื้นฟูความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย รวมถึงแนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทย” เพื่อให้เป็นที่นิยมและเกิดการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยมีนักการเมือง นักธุรกิจ และภาคเอกชนต่างๆ ร่วมรับฟัง
ช่วงหนึ่ง นายทักษิณ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องพัฒนาคนและพัฒนาธุรกิจใหม่ ไม่เช่นนั้นเราจะเสียเปรียบทั้งโลกมีคนถามตนว่ายังไหวไหม ซึ่งตนคงมีเวลาทำงานช่วยประเทศชาติได้อีก 20 ปีมั้ง แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว แต่จะช่วยเต็มที่เท่าที่ทำได้ ไม่ฉะนั้นเราจะอยู่ในเศรษฐกิจเก่าโลกเก่า ซึ่งเราต้องดึงตัวเองขึ้นมาอยู่อันดับบนๆ
สิ่งที่อยากจะทำซึ่งเป็นโครงการใหญ่ คือการ “ถมทะเลป้องกันน้ำท่วม” เพราะ กทม. โอกาสน้ำท่วมนั้นสูงมาก เนื่องจากโลกร้อน ฉะนั้น ถ้าวันนี้เราถมทะเลเป็นเขื่อนไม่ให้น้ำเข้าก็จะช่วยได้เยอะ แต่ถ้ารัฐบาลลงทุนเองคงไม่ไหว แต่ถ้าให้สัมปทาน 99 ปี และให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนถมทะเล และแบ่งจัดการผลประโยชน์ก็คุ้ม ตนยกตัวอย่างโครงการดูไบ สิ่งเหล่านี้ควรจะเกิดเพื่อสร้างบรรยากาศของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น เราจะได้ขยายที่ดินมากขึ้น
ตนได้ขอให้กระทรวงคมนาคม ทำเรื่องการขุดลอกคลอง โดยให้นำดินไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการถมทะเล ก็อาจใช้ประโยชน์จากนี้ตรงนี้ ต้องใช้เวลาหน่อยเพราะต้องแก้กฎหมาย
2) ก่อนหน้านี้ นายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยประกาศกลางเวที Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง โดยเปิดประเด็นโครงการถมทะเลบางขุนเทียนปากน้ำ รวมถึงแนวคิดในการถมทะเล สร้าง 9 เกาะอ่าวไทย เพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมในอนาคตนั้น
ขณะนั้น นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “กรมฯขอรอดูความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมก่อนว่าเป็นอย่างไร ตามปกติแล้วการถมทะเลนั้นจะต้องศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบต่อแนวคิดการถมทะเลให้รอบด้านด้วย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 ปีต่อโครงการ”
ต่อมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย ระบุว่า สำหรับแนวคิดในการถมทะเล สร้างเกาะขึ้นมาประมาณ 9 เกาะ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทะเลช่วงจังหวัดสมุทรสงคราม ไปถึงจังหวัดชลบุรี ระยะทางประมาณ 100-150กิโลเมตร โดยตั้งชื่อ “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” เนื่องจากแต่ละเกาะจะมีลักษณะเหมือนไข่มุกร้อยกันเป็นเส้น โดยการเชื่อมต่อระหว่างเกาะแต่ละเกาะจะก่อสร้างประตูน้ำเพื่อคอยกั้นน้ำขึ้น-ลง ซึ่งแนวคิดนี้ในปัจจุบันถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ
3) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 นายปัญญา โตกทอง สมาชิกเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดา น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี มีโครงการถมทะเลบางขุนเทียน ซึ่งล่าสุดนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เผยรายละเอียดว่า จะมีการถมทะเลในอ่าวไทย9 เกาะตั้งแต่จ.สมุทรสงครามจนถึง จ.ชลบุรี และสร้างถนนร้อยเป็นเหมือน “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” โดยมีประตูปิด-เปิดระบายน้ำเข้า-ออก ว่าเชื่อว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบอ่าวตัว ก.ไก่ (อ่าวไทยชั้นใน)คงไม่มีใครเห็นด้วย โดยเฉพาะการถมทะเลเพราะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างรุนแรง
นายปัญญากล่าวว่า ในสมัยก่อน รัฐบาลกลุ่มนี้ได้มีโครงการสร้างถนนผ่าอ่าวตัวกอ ทำให้ใช้ชาวบ้านออกมาต่อต้านจนหยุดไป แต่ครั้งนี้กลับคิดจะมาสร้างโครงการใหญ่กว่าเดิมซึ่งจะทำให้น้ำเน่าแน่ เพราะระบบนิเวศของอ่าวตัวกอนั้นมีปริมาณน้ำไหลเข้า-ออกที่เหมาะสม ยิ่งถ้าสร้างเขื่อนกั้น จะทำให้ปริมาณน้ำจืดไหลลงทะเลมากและเกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ 3 น้ำ
ระบุว่าจะมีการถมเกาะ 9 แห่ง เชื่อว่าชาวบ้านไม่ยอมแน่ๆเพราะธรรมชาติสร้างระบบนิเวศมาดีแล้ว แต่จู่ๆกลับคิดเปลี่ยนแปลง แล้วชาวบ้านจะทำมาหากินอย่างไร แค่เจอปลาหมอคางดำอย่างเดียวก็จะตายกันหมดแล้ว
“แถวนี้ยังเป็นแหล่งหากินวาฬบรูด้าด้วย เราจะยอมแลกหรือ แถมสัตว์ทะเลต่างๆ ที่อุดมสมบูรณ์ก็จะหายหมด เพราะพื้นที่ป่าชายเลนย่านนี้อ่อนไหวมาก แค่มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา หรือมีใครไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ สัตว์น้ำต่างๆ ก็หายไปแล้ว” นายปัญญา กล่าว
น.ส.โสภิณ จินดีโฉม ประธานชุมชนเสาธง เขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยแน่นอนกับโครงการนี้เพราะระบบนิเวศเสียหายหมดแน่ พวกตนทำมาหากินอยู่กับอ่าวตัว ก.ไก่ ถ้าถมทะเลชีวิตเราจะเปลี่ยนไปและล่มสลาย แม้แต่วาฬก็อยู่ไม่ได้ เพราะน้ำจะกลายเป็นน้ำกร่อยมากเนื่องจากการระบายน้ำจะเปลี่ยนไปเมื่อมีน้ำจืดไหลลงมาเยอะ อาชีพเลี้ยงหอยแมลงภู่ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับแหล่งอาหารทะเลก็จะหายหมด หากทำฝายกั้นทางน้ำระบบนิเวศเปลี่ยนแน่นอน
“ชาวบ้านไม่อยากได้โครงการขายฝันแบบนี้ ครั้งก่อนจะถมทะเลครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้จะเอาอีก จะเอาความคิดเหมือนที่ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) มาใช้ไม่ได้ เพราะระบบนิเวศไม่เหมือนกัน” น.ส.โสภิณ กล่าว
4) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2554 นายบรรจง นะแสนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนประมง เคย “ดับฝัน”ของทักษิณ ชินวัตร ไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า... “ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีลี้ภัยหนีคุกไปใช้ชีวิตอยู่ที่ดูไบเป็นส่วนใหญ่ทำให้ท่านคงหลงใหลโครงการขนาดใหญ่ของดูไบ ที่เรียกกันว่า “The Palm” ที่มีการถมทะเลสร้างเกาะภายใต้การบริหารของ “ชีค โมฮาเหม็ด” ที่พลิกโฉมให้ The Palmเป็นศูนย์กลางการเงินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยสร้างเกาะถมทะเลแล้วอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค พร้อมยกเว้นภาษี ทำให้ The Palm กลายเป็นที่พักผ่อนสำหรับคนดังและมหาเศรษฐี ท่านเลยประกาศเป็นนโยบายให้พรรคเพื่อไทยไปใช้ในการหาเสียงที่ผ่านมา ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะจัดให้มีการถมทะเลในประเทศไทยบริเวณอ่าวไทย ด้วยเงินลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท และหากโครงการนี้สำเร็จจะทำให้รัฐมีกำไร 2 ล้านล้านบาท
ตอนที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ออกมาพูดเรื่องนี้ผู้คนในสังคมไม่ค่อยให้ความสำคัญนักเพราะนายปลอดประสพไม่ได้มีน้ำหนักของคำพูดในนามของพรรคแต่อย่างใดแต่หลังจากที่ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยที่ถือว่าเป็นมันสมองเป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนในสังคมออกมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ พร้อมทั้งแจงรายละเอียดอย่างถี่ยิบของโครงการถมทะเลในรายการข่าวข้น คนข่าว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงของการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง ท่านยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะทำโครงการนี้เพราะ “การถมทะเลจากปากอ่าวออกไป 10 กิโลเมตร พร้อมกับสร้างเขื่อนกันน้ำทะเลเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันและรักษาระดับน้ำทะเล ไม่ให้เข้ามาท่วมกรุงเทพฯ สอง-การถมทะเลจากเมืองปากน้ำ จ.สมุทรปราการ ไปจนถึงจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะทำให้ได้ที่ดินเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 3 แสนไร่ แผ่นดินงอกใหม่นี้จะถูกสร้างเป็นเมืองใหม่โดยแบ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ 2 แสนไร่ อีก 1 แสนไร่ จะนำไปขายให้กับเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน โดยกะว่าจะฟันกำไรถึงไร่ละ 20 ล้าน รวมแสนไร่ก็เป็นเงินมหาศาลถึง 2 ล้านล้านบาท”
“เมืองใหม่แห่งนี้ ถูกวางไว้ว่าจะเป็นแหล่งศูนย์กลางธุรกิจแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์ธุรกิจทางไอที คล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ ศูนย์กลางการรักษาพยาบาล ศูนย์กลางการเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคนี้ ทำให้ประชากรมีงานทำไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา โดยมีระบบการคมนาคมที่สะดวกรองรับ เช่น รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ได้สะดวกและภายในระยะเวลาอันสั้น โมเดลการสร้างเมืองใหม่นี้จะคล้ายๆ เมือง Putrajaya และ Cyberjaya ของมาเลเซีย
“การอ้างถึงโครงการที่จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และการยกเอาผลกำไรจากการดำเนินโครงการด้วยเม็ดเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท ดูจะทำให้ผู้คนในสังคมตาโตพอที่จะเออออห่อหมกไปกับโครงการนี้ได้อย่างง่ายดาย
การถมทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ การถมทะเล (Land Reclamation) ความหมายเฉพาะของคำคำนี้ คือ “การดำเนินการเพื่อให้มีที่ดินขึ้นในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผืนน้ำและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กลายเป็นที่ดินที่สามารถใช้ประโยชน์ได้” ซึ่งมีทั้งการถมพื้นที่ชายฝั่งยื่นออกไปในทะเลและการสร้างเป็นเกาะเทียมขึ้นมา คำถามจึงมีว่าพื้นที่ชายฝั่งของ 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม นั้น เป็นพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงละหรือ ในเมื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งทำมาหากินของพี่น้องชาวประมง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิดที่เป็นส่วนหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำในอ่าวไทย
ยังไม่นับรวมถึงสภาพทางธรณีวิทยาที่พื้นที่บริเวณนั้นเป็นดินโคลนปากแม่น้ำการทรุดตัวของพื้นผิวดินเป็นไปได้ง่าย สภาพของพื้นที่จังหวัดแถบนั้นเป็นที่ราบการจะหาดินจากที่ไหนมาถมทะเล (สิงคโปร์ถมทะเลโดยใช้ที่ดินจากเกาะภูเขาไฟจากอินโดนีเซีย) และจริงหรือที่การถมทะเลแล้วจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสร้างรายได้มหาศาลจากโครงการดังกล่าวได้??? ถมแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำแน่นอนจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่อื่นๆขยายตัวต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร???
การถมทะเลเพื่อเพิ่มปริมาณที่ดินกรณีของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชายฝั่งของมาเลย์ สิงคโปร์ต้องยอมจ่ายค่าก่อสร้างและบำรุงรักษาเขื่อนกันกระแสน้ำให้แก่มาเลเซียเป็นเงิน 182,300 เหรียญสหรัฐ และจ่ายค่าเสียหายให้แก่ชาวประมงมาเลเซียเป็นเงิน 98,550 เหรียญสหรัฐ รวมทั้งต้องแก้ไขแบบก่อสร้างของตนเพื่อลดความเสียหาย
ประเทศของเรายังไม่มีกฎหมายที่จะปกป้องและรักษาสิทธิ์ของประชาชนต่อผลกระทบอันเกิดจากโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นนโยบายของรัฐ ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการใดๆ ก็ถือว่าเป็นสิทธิของพวกท่านที่ได้ประกาศเอาไว้เป็นนโยบายตอนหาเสียงและชนะการเลือกตั้งมา อยากเตือนว่าอย่าลืมไปแก้ไขกฎหมายผังเมือง กฎหมายกรมเจ้าท่ากฎหมายที่ดิน และการทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) การรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนิน โครงการ ตามมาตรา 67วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 อย่าเผลอคิดไปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดอะไรแล้วถูกหมดก็แล้วกัน” นายบรรจงกล่าว
ทั้งหมดที่รวบรวมมาให้เห็นนี้นั้น ชัดเจนว่า เป็นความฝันที่ต้องการ “การบำบัด” ของทักษิณ ชินวัตร ระหว่างยังไม่ได้รับการตอบสนอง ก็คงจะต้อง “ฝันเปียก” ไปพลางๆ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี