ระบบระบอบทุนนิยม คือการทำมาค้าขายแบบหนึ่งที่ผู้คนกระหยิบมือเดียวเป็นเจ้าของควบคุมการเป็นไปของกิจการนั้นๆ และกำไรส่วนใหญ่เป็นของคนกลุ่มนี้ ที่เราเรียกกันว่า “นายทุน” ในขณะที่บรรดาพนักงานลูกจ้างมักต้องทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน แต่ได้รายได้จากค่าจ้างต่ำกว่านายทุนอย่างมาก โดยอาจจะต้องอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ไร้ความสะดวกสบาย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงของศตวรรษที่ 19 ของคริสต์ศาสนา ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตแทนการใช้แรงงานผู้คน และฝีไม้ฝีมือเป็นสำคัญ
จัดได้ว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ต่อเนื่องจากระบบศักดินา ที่มีคนกระหยิบมือเป็นเจ้าของที่ดิน ทรัพยากร รวมทั้งเป็นเจ้าของผู้คนที่มาทำงานให้ ซึ่งถูกเรียกกันว่า พวกไพร่ (Serfs) ซึ่งเป็นระบบการทำมาค้าขายที่เกิดต่อเนื่องมาจากระบบทาส (Slavery) ดั้งเดิม
คาร์ล มาร์กซ์ นักคิดนักเขียนชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่เกิด เติบโต และตายในช่วงศตวรรษที่ 19 ได้สังเกตเห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมของระบบทุนนิยม และได้เสนอแนวทางแก้ไขว่า ฝ่ายแรงงานจะสามารถหลุดพ้นจากสภาพชีวิตที่ต่ำต้อยไม่ยุติธรรมนี้ได้ ก็ต่อเมื่อฝ่ายแรงงานจะได้รวมกันขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ ร่วมกันตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจและแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างทัดเทียมกัน เป็นการขจัดกลุ่มทุนเชิงผูกขาดอำนาจไปอย่างสิ้นเชิง ก็จัดได้ว่าเป็นความฝันอันสูงส่ง เป็นสังคมยูโทเปีย หรือสังคมแห่งอุดมคติ (Ideal Society)
แม้ความเพ้อฝันของนายคาร์ล มาร์กซ์ จะไปไม่ถึงดวงดาว เพราะในทางปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ระหว่างนั้นในวัยชีวิตของเขาจนถึงบัดนี้ สังคมโลกโดยเฉพาะในโลกยุโรปตะวันตก รวมทั้งสังคมที่ฝ่ายยุโรปไปตั้งรกรากอยู่ เช่นที่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ต่างก็มีความคิดอ่าน และมีความเพียรพยายามที่จะจัดให้ระบบทุนนิยมลดความเป็นระบบที่เอารัดเอาเปรียบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หรือขจัดไปให้ได้ อาทิ
1. กำหนดให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของฝ่ายแรงงาน และเจรจาต่อรองในเรื่องค่าจ้าง เรื่องสวัสดิการ รวมทั้งความปลอดภัย ณ ที่ทำงาน เป็นต้น
2. การนำเอาภาครัฐมาเป็นตัวกลางระหว่างฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จะช่วยดูแลผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
3. การขับเคลื่อนให้ฝ่ายนายทุนหรือนายจ้าง ทำการบริจาคเพื่อสังคม ไปจนถึงการมีกิจการหรือโครงการที่รับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) ไปจนถึงการทำธุรกิจที่ไปด้วยกับความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และชุมชน (Sustainability)
4. การเคลื่อนไหวที่กำหนดให้ภาครัฐ หรือฝ่ายรัฐบาลมาทำธุรกิจด้วยตนเอง ดังที่ได้เกิดขึ้นที่อดีตสหภาพโซเวียต คิวบา เกาหลีเหนือ จีน และเวียดนาม
5. การผสมผสานระหว่างธุรกิจโดยรัฐกับธุรกิจโดยเอกชน ดังเช่นที่จีน และเวียดนามในปัจจุบัน โดยมีฝ่ายรัฐบาลพรรคเดียวเป็นผู้กำกับการสูงสุด
6. ส่วนหลายๆ ประเทศในยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะในแถบสแกนดิเนเวีย ฝ่ายรัฐมักจะไม่มีกิจการธุรกิจ โดยมักจะปล่อยให้เป็นของเอกชนแข่งขันกัน แต่ก็ได้กำหนดการเก็บภาษีที่สูงขึ้นมา เพื่อนำรายได้ภาษีมาไว้ใช้เพื่อการดำเนินการเป็นรัฐสวัสดิการที่การบริการทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และการเกษียณอายุ มีการดูแลโดยภาครัฐอย่างดี ทัดเทียมและทั่วถึง จนกลายเป็นแบบอย่างให้กับหลายๆ ประเทศในโลก เพราะเห็นว่ายุติธรรม และฝ่ายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่มิได้ครอบงำสังคม แต่เอาเข้าจริง แม้ว่าธุรกิจรายใหญ่ในหลายๆ ประเทศ จะมีการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนในชื่อของครอบครัว เพื่อช่วยเหลือสังคมโลกในด้านต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน เช่นที่สหรัฐอเมริกา และในหลายๆ ประเทศกำลังพัฒนากลุ่มทุนใหญ่กลับสามารถเข้าไปครอบงำการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของประเทศนั้นๆ จนเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญก็คือ การกระจุกตัวของอำนาจการเมืองและอำนาจธุรกิจอยู่ในน้ำมือของผู้คนกระหยิบมือเดียว ทำให้แวดวงการเมือง และนักการเมืองจะต้องตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุน โดยไม่เหลียวแลประชาชนพลเมืองที่ได้เลือกเขาเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนก็เท่ากับว่าแทนที่ระบบทุนนิยมจะถูกกำกับตีกรอบ กลับเป็นไปว่ากลุ่มทุนนิยมตีกรอบระบอบประชาธิปไตยและสังคมนั้นๆ
7. ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวที่จะให้ฝ่ายลูกจ้างมีตัวแทน 2-3 คน นั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทนั้นๆ เพื่อปรึกษาหารือร่วมกันตัดสินใจและหาความสมดุลที่เป็นธรรม
การขับเคี่ยวระหว่างระบอบทุนนิยมเพื่อกลุ่มนายทุน กับระบอบทุนนิยมเพื่อสังคม ก็ยังจะต้องขับเคี่ยวกันต่อไป และสำหรับสังคมหรือเวทีการเมืองของไทย ก็ขึ้นอยู่กับบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองว่า เมื่อมีอำนาจรัฐแล้ว จะเลือกใช้เพื่อรับใช้เจ้านายที่เป็นประชาชนพลเมือง หรือเจ้านายที่เป็นนายทุนของตน หรือนัยหนึ่งฝ่ายการเมืองผู้ปกครองก็ต้องคิดคำนึงเรื่องสังคม หรือเป็นสังคมนิยม (Socialist) ในระดับหนึ่งเป็นสำคัญด้วย
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี