นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เราก็ได้มีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ด้วยการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ตามมา
แต่จนมาบัดนี้ ราชอาณาจักรไทยก็ยังไม่สามารถเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์แบบ เฉกเช่นราชอาณาจักรอื่นๆ ในยุโรป หรือในเอเชียแบบ ญี่ปุ่น ภูฏาน และมาเลเซีย ซึ่งต่างดูแล้วมีความเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้ากว่าของไทยเรา ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะราชอาณาจักรต่างๆ ดังกล่าว เขาสามารถมีข้อยุติหรือฉันทามติร่วมกันได้แล้วว่า รูปแบบโครงสร้าง และสาระเนื้อหาของการเป็นราชอาณาจักรแห่งประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร
แต่ทว่าในสังคมราชอาณาจักรของไทยเรานั้นยังไม่สามารถที่จะหาข้อยุติหรือฉันทามติร่วมกันได้ เพราะต่างฝ่ายมีความแตกต่างในความคิดเห็น และไม่โอนอ่อนถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ด้วยว่าบางส่วนยังติดยึดกับความเชื่อถือ และขนบธรรมเนียมประเพณีโบร่ำโบราณ บางส่วนยังอาลัยอาวรณ์ติดยึดกับฐานันดรเดิม และสถานะเชิงอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า หรือบางส่วนอยากขจัดองค์กรหรือสถาบันที่คิดว่าล้าสมัย หมดสมัยให้หมดไป บางส่วนก็คิดว่าในกรอบสังคมประชาธิปไตย พวกตัวเท่านั้นที่ควรจะเป็นผู้ขับเคลื่อนนำพา เพราะมีเสียงข้างมากอยู่ในมือ
ในปัจจุบันนี้ ความไม่ลงตัวของความเป็นประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ก็ยังคงค้างคาอยู่ แล้วก็มีความขัดแย้งที่เข้มข้นทั้งบนผิวน้ำ และใต้น้ำ มีผลให้สังคมราชอาณาจักรไทยเกิดความสั่นคลอน มีความปั่นป่วนไม่แน่นอน เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งมีผลให้ความเจริญก้าวหน้าของราชอาณาจักรไทยถดถอย ความนับหน้าถือตาในสังคมโลกก็ลดน้อยลง ส่งผลให้สังคมราชอาณาจักรไทยดูไม่ทันโลกและไม่ทันสมัย
หากจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ แล้วเอาแต่กล่าวโทษกันไปมา เราจะเดินหน้าไปจนถึงการเผชิญหน้าประหัตประหารกันให้ถึงที่สุดอย่างแน่นอน ซึ่งก็เท่ากับว่าเราชาวไทยขาดความรับผิดชอบ ขาดความรักชาติบ้านเมือง และลืมเลือนหลักธรรมว่าด้วยเส้นทางสายกลาง และฉะนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของพวกเราชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น ที่ต่างความคิดและอุดมการณ์ จะลดราวาศอก ไม่สุดโต่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่นและหันหน้าเข้าหากัน
ฉะนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปพวกเราชาวไทย คงจะต้องหันมาทบทวนประเด็นปัญหาของชาติบ้านเมืองกันอย่างจริงจัง และเริ่มตัดสินใจหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อนำไปสู่ฉันทามติว่าด้วยความเป็นประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทยให้ได้ โดยเรื่องที่ควรจะได้พิจารณาร่วมกันก็น่าจะมีดังนี้
1.ราชอาณาจักรไทยจะคงอยู่ต่อไป โดยไม่มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องสาธารณรัฐ
2.ราชอาณาจักรไทยเป็นประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่น และหลายๆ ประเทศในยุโรป ที่องค์ประมุขเป็นศูนย์รวมของจิตใจ ประเพณีวัฒนธรรม ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติ กำกับและแนะนำผู้บริหารราชการประเทศ และผู้ใดจะละเมิดมิได้
3.การเห็นพ้องต้องกันว่า ราชอาณาจักรไทยเป็นแผ่นดินแห่งธรรม และหลักธรรมเป็นเป้าหมายและ เส้นทางของการปฏิบัติของทุกหมู่เหล่า หลักการมีส่วนร่วมในการเป็นไปของสังคมให้กว้างขวางลึกซึ้งให้มากที่สุด และฉะนั้นเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น จากฝ่ายรัฐสู่กลุ่มอาชีพและวิชาชีพต่างๆ เพื่อให้กำกับและดูแลกันเอง หลักๆ ภาครัฐเป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ระหว่างคู่แข่งขันกันในเชิงธุรกิจพาณิชย์ต่างๆ
4.หลักการปรับ จำคุก และการลงโทษโดยวิธีอื่นๆ จะต้องดำเนินการโดยฝ่ายศาลยุติธรรมเท่านั้น ที่ให้อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายราชการ
5.หลักการที่ฝ่ายรัฐจะต้องไม่ทำมาค้าขายแข่งกับเอกชน และนอกจากนั้นภาครัฐจะต้องยุติการมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องการพนันขันต่อ และเครื่องบริโภคมึนเมา เช่น ลอตเตอรี่บ่อนการพนัน บุหรี่ และสุราเมรัยทั้งหลาย จะคงไว้ก็ในฐานะผู้ถือกฎหมายกำกับดูแล และกระบวนการยุติธรรม
6.หลักการเลือกตั้งที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกระหว่างผู้สมัครจากพรรคการเมือง และผู้สมัครอิสระซึ่งจะช่วยเพิ่มการแข่งขันทางการเมือง
7.ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระต่างๆ จะต้องเข้าชื่อไว้ และผ่านการฝึกอบรมในเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง และในเรื่องการเมือง
8.หลักการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มิใช่จำกัดอยู่แค่ที่กรุงเทพมหานคร หรืออาจพิจารณาระบบผสมผสาน และคานอำนาจ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการประจำ ส่วนสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง ควบคุมงบประมาณและกำกับการบริหารราชการของผู้ว่าราชการ
จังหวัด เป็นต้น
9.หลักฝ่ายกองทัพขึ้นกับฝ่ายการเมืองพลเรือนตามกฎเกณฑ์กติกาประชาธิปไตยสากล แต่ในขณะเดียวกัน ตามประวัติศาสตร์และประเพณีปฏิบัติ กองทัพต้องขึ้นตรงกับจอมทัพ และฉะนั้นจะทำการใดๆ ที่เกินพระเนตรพระกรรณมิได้ แต่ก็สามารถนำความใดๆ ขึ้นกราบทูลในยามประเทศมีวิกฤตได้
10.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดความชะงักงันต่อประเทศ ประมุขฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการจะต้องนำเรื่องขึ้นกราบทูลองค์พระมหากษัตริย์เพื่อทรงวินิจฉัย และปฏิบัติตาม เป็นต้น
ย่อมมีคำถามว่า แล้วทั้งหมดนี้ ใครเล่าที่จะเป็นผู้ริเริ่มจัดเวทีหารือ?
ก็ขอตอบตรงนี้ว่า มันมิใช่เรื่องสลับซับซ้อน หรือยากเย็นแต่อย่างใด เพราะสังคมไทยเรามีองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย อีกทั้งก็มีบุคคลที่เป็นที่รู้จักนับหน้าถือตาก็มากมายที่สามารถจะเป็นเจ้าภาพเริ่มต้นในการเปิดเวทีหารือกันให้กับทุกฝ่ายได้ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลเหล่านั้นพร้อมที่จะ
ออกมารับหน้าหรือไม่เท่านั้น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี