ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นมาจากการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษา ตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ ในชื่อ “ชมรมนิติศึกษา” เพื่อออกเผยแพร่กฎหมายให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้รู้กฎหมาย จนมาถึงช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ชมรมนิติศึกษาได้ถูกกล่าวจากผู้มีอำนาจรัฐในยุคนั้นว่า เป็นกลุ่มที่เสี้ยมสอนให้ประชาชนรู้กฎหมายจนกระด้างกระเดื่องต่อผู้มีอำนาจ คณะปฏิวัติจึงได้ยกเลิกกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษา รวมถึงชมรมนิติศึกษาด้วย
ต่อมาในปี ๒๕๒๑ คณะนิติศาสตร์ได้รื้อฟื้นชมรมนิติศึกษาขึ้นมา โดยตั้งชื่อใหม่ว่า“โครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกิจกรรมของนักศึกษามาเป็นโครงการของคณะนิติศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงว่าไม่ใช่กิจกรรมกลุ่มของนักศึกษา แต่ความเป็นจริงแล้วนักศึกษายังเป็นผู้ทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่ตามเดิม หลังจากนั้นโครงการฯ ก็ได้พัฒนาเป็น “ศูนย์นิติศาสตร์” อย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ดูแลโครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์และงานบริการสังคมด้านกฎหมาย และได้ตั้งเป็น “สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” โดยปัจจุบันมี ศูนย์นิติศาสตร์ ในคณะนิติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่ง คือ ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต และศูนย์ลำปาง
แนวคิดการก่อตั้งศูนย์นิติศาสตร์นี้มาจากรูปแบบที่ใช้ในต่างประเทศ ที่เรียกว่า“คลินิกกฎหมาย” (Law clinic) มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกได้จัดตั้งคลินิกกฎหมาย เพื่อให้บริการทางกฎหมายและเป็นสถานที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตัวอย่างของการนำคลินิกกฎหมายมาใช้คือประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้นำระบบนี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในสหรัฐนักศึกษานิติศาสตร์มักจะมีส่วนเข้าไปช่วยทนายความเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา แนวคิดของการจัดคลินิกกฎหมายในมหาวิทยาลัยนี้ได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ดังที่ทราบ กระบวนการยุติธรรมของไทย ล่าช้า ราคาแพง เหลื่อมล้ำและไม่ค่อยเป็นธรรม ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่มีที่พึ่ง ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญที่สุดของศูนย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คือเป็นที่พึ่งให้ประชาชน ซึ่งมีบริการทางกฎหมายสำหรับประชาชน ๓ ด้าน
๑) การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย แก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งการขอคำปรึกษาด้วยตนเองที่ศูนย์นิติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่ง ทั้งทางโทรศัพท์และช่องทางออนไลน์
๒) การช่วยเหลือประชาชนด้านอรรถคดีโดยในกรณีที่เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นแล้วทางศูนย์ฯ จะจัดทนายความเข้าช่วยเหลือว่าความให้โดยไม่คิดค่าจ้างทนายความแต่การพิจารณาให้ความช่วยเหลือมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๒.๑) เป็นผู้มีฐานะยากจนไม่สามารถว่าจ้างทนายความเข้าต่อสู้คดีในชั้นศาลได้
(๒.๒) เป็นผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท
(๒.๓) ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
(๒.๔) ไม่เป็นคดีเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว เว้นแต่คดีที่เกี่ยวกับการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู
(๒.๕) รูปคดีทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงมีทางที่จะให้ความช่วยเหลือได้
๓) การเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายมีทั้งการอบรมกฎหมายระยะสั้นให้แก่ประชาชน การจัดทำหนังสือกฎหมายเผยแพร่ จัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ ตามสถานการณ์
ตลอดระยะเวลากว่าสี่สิบหกปีที่ผ่านมา ศูนย์นิติศาสตร์ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและให้ความช่วยเหลือทางคดี รวมถึงการช่วยร่างเอกสารทางกฎหมาย เช่น พินัยกรรม สัญญากู้ยืมเงิน หรือหนังสือบอกกล่าวทวงถามซึ่งปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่
- กฎหมายที่ดิน เช่น สิทธิครอบครอง และภาระจำยอม
- กฎหมายมรดก เช่น การเขียนพินัยกรรม การตั้งผู้จัดการมรดก หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการมรดก การแบ่งทรัพย์มรดก
- กฎหมายสัญญา เช่น สัญญากู้ยืมเงิน การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด สัญญาค้ำประกัน
- กฎหมายอาญา เช่น การถูกฉ้อโกง การถูกบุกรุกที่ดิน
- กฎหมายอื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.๒๕๓๕
ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มีการจัดตั้งคลินิกกฎหมายเพื่อให้บริการด้านกฎหมายให้แก่ประชาชนเช่นเดียวกับที่ธรรมศาสตร์ เช่น ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มีคลินิกกฎหมาย ๒ คลินิก คือ คลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่พาณิชย์ (Law Clinic for Tech & Spin-off) โดยทำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาแก่ Start-up และ SME ส่วนอีกคลินิกหนึ่งเป็นคลินิกที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายธุรกิจ ขณะที่ ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มุ่งเน้นไปที่ปัญหาสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีคลินิกกฎหมายเพื่อคนไร้สัญชาติ เพราะพื้นที่ภาคเหนือจะมีปัญหานี้ค่อนข้างมาก
นอกจากนั้นยังมีคลินิกกฎหมายของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพายัพ และอีกหลายมหาวิทยาลัยที่นอกจากการให้คำปรึกษาทางกฎหมายทั่วไปแล้ว คลินิกกฎหมายของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีจุดเน้นไปยังปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี