แวดวงการเมืองและเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะทางภาคธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ) ต่างก็มีความเห็นพ้องต้องกันมาเป็นเวลานานนับ 10 ปี เกี่ยวกับความล้าสมัยของสังคมไทยเรา ซึ่งทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน และการนับหน้าถือตาก็ถดถอยตกต่ำลงมาตลอด ในขณะที่รัฐบาลไทยหลายๆ ชุดที่ผ่านมา และโดยเฉพาะชุดปัจจุบันกลับมักจะใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเชิงประชานิยม ซึ่งเป็นการบริหารจัดการแบบผิวเผิน เช้าชามเย็นชาม เพียงเพื่อให้สามารถรอดอยู่ไปได้วันหนึ่งๆ โดยมิได้คิดอ่านที่จะแก้ไขเชิงโครงสร้าง หรือบริหารราชการให้มีสาระเนื้อหาที่จะส่งเสริมและเสริมสร้างการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและทันสมัย
การจะฝากความหวังไว้กับภาคการเมืองก็ดูจะยากลำบาก และหนทางค่อนข้างจะมืดมน เพราะฉะนั้นภาระหน้าที่ก็จำเป็นที่จะต้องตกอยู่กับฝ่ายข้าราชการประจำ ฝ่ายธุรกิจเอกชน ฝ่ายสหภาพแรงงาน และองค์กรภาคเกษตร เป็นสำคัญ หรือนัยหนึ่งก็คือสังคมไทยต้องร่วมกันคิดอ่าน และร่วมกันรับผิดชอบเพื่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง โดยไม่มัวรอหรือไปฝากความหวังไว้กับฝ่ายการเมืองอีกต่อไป
แต่ก่อนจะดำเนินการนำความทันสมัยกลับมาสู่ประเทศ หรือสังคมไทย ทุกหมู่เหล่าดังกล่าวก็ต้องมีความตระหนักรู้และมีความเห็นพ้องต้องกันเสียก่อน เกี่ยวกับประเด็นปัญหาหรือความไม่ทันสมัยของสังคมไทยเราว่าเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องน่าห่วงกังวล และจะปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ไม่ได้
โดยเรื่องที่เป็นที่โจษจันกันอย่างกว้างขวางก็มีอาทิ
1.การจมปลักกับสถานะประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) ซึ่งมีความหมายว่า ประเทศไทยไม่มีองค์ความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง โดยในขณะเดียวกันค่าแรงของไทยโดยเฉลี่ยก็สูงกว่าค่าแรงของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หลายประเทศ ทำให้ไทยตกอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถแข่งขันทั้งในตลาดบนและตลาดล่างได้ ทั้งนี้เพราะไทยเราขาดการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาเพื่อมีความเป็นตัวของ
ตัวเอง
2.แรงงานไทย หรือกำลังพลของไทยขาดทักษะในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นภาษาโลก และจำเป็นต่อการทำมาค้าขาย
3.ความอ่อนด้อยในการเข้าถึงและการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ในการทำงานต่างๆ จัดได้ว่าบุคลากรของไทยยังไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคเอเชียใต้
4.นอกจากนั้นเป้าหมายของการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงาน ของบริษัทภาคเอกชน ศูนย์กลางของสำนักงานองค์กรระหว่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางของการศึกษาค้นคว้าวิจัยระหว่างประเทศ ก็ยังเป็นเพียงแค่เป้าหมายลอยๆ เพราะไทยเรายังขาดบุคลากรที่จะรองรับภารกิจต่างๆ
ดังกล่าว และที่สำคัญกฎหมาย กฎกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ นานา ก็ดูจะสลับซับซ้อน ซึ่งสวนทางกับการเปิดประเทศให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ที่ดูจะสะดวกขึ้น ไม่ว่าด้วยการยกเลิกค่าตรวจลงตราและขั้นตอนของการเข้าเมือง แต่เมื่อชาวต่างชาติได้เข้ามาอยู่ในประเทศแล้ว กลับต้องเผชิญกับความไม่สะดวก และขั้นตอนทางกฎระเบียบอย่างไม่ลดละ ยังไม่รวมถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการอำนวยความสะดวกนอกระบบกฎเกณฑ์
5.ฝ่ายรัฐบาลไทยได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ขาดความพร้อม เพราะมิได้มีการเตรียมการอย่างจริงจังในเรื่องการเตรียมบุคลากร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขณะที่ทางภาครัฐได้มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้บ้างแล้ว แต่ก็มีข้อสังเกตว่าทางภาคเอกชนมิได้แสดงท่าทีอย่างไร ว่าเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความพร้อมหรือไม่ อีกทั้งทางภาคเอกชนโดยเฉพาะทางฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิตก็ยังมิได้แสดงท่าทีออกมาว่า อยากจะเก็บรักษาอุตสาหกรรมดั้งเดิมไว้หรือไม่อย่างไร และอยากจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางใด และฉะนั้นต้องการความร่วมมือจากภาครัฐอย่างใด
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะมีความโยงใยกับการที่ฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นสมัครให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์กรความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและพัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมการต่างๆ นานาให้เป็นไปตามความต้องการ โดยเฉพาะทางด้านมาตรฐานของ OECD ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลระดับสูง ที่ประเทศไทยเราจะต้องปรับปรุงปรับเปลี่ยนทั้งทางภาคกฎหมาย การบริการของภาครัฐ การจัดเตรียมบุคลากรให้เหมาะสม
ในการนี้หน่วยงานหลักๆ ของไทย เช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานส่งเสริมการลงทุน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาแรงงาน ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย กองทุนพัฒนาต่างๆ ไปจนถึงฝ่ายสหภาพแรงงาน ก็ต้องร่วมประชุมหารือกันอย่างลึกซึ้งกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อให้รู้ซึ่งความเป็นตัวตนของประเทศไทย ว่าด้วยความล้าหลัง และแนวทางที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างความทันสมัย ความมีมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นสากล
และเมื่อถึงจุดหนึ่งหน่วยงานและองค์กรเอกชนต่างๆ ดังกล่าว ก็จะได้ร่วมกันหาข้อยุติ จัดทำแผนปฏิบัติการ และให้ความรู้ความเข้าใจต่อภาคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองทั้งหลาย เพื่อรับไปเป็นนโยบายเพื่อนำพาประเทศต่อไป
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี