หมายเหตุ : บทความนี้เดิมชื่อ “สังคมสูงวัย การพัฒนา 8 ประการเพื่อสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติ” เขียนโดยศ. (เกียรติคุณ) นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้รับการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับพื้นที่ของฉบับหนังสือพิมพ์
สังคมสูงวัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนตื่นตัวหรือตกอกตกใจ เพราะทุกคนมีพ่อแม่ที่แก่เฒ่า และตนเองก็จะกลายเป็นผู้สูงวัยในไม่ช้า เพราะฉะนั้นเรื่องสังคมสูงวัยจะทำให้คนทุกคนในสังคมทั้งประเทศหันมาให้ความสนใจและเกิดความมุ่งมั่นร่วมกัน ที่จะทำอะไรที่ดีที่สุดสำหรับสังคมสูงวัย คนไทยไม่เคยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ต่างคนต่างไปคนละทาง จึงไม่มีพลังที่จะสร้างสังคมน่าอยู่ แต่คราวนี้เรื่องสังคมสูงวัยจะทำให้คนไทยทั้งหมดมีความมุ่งมั่นร่วมกัน และสามารถสร้างสังคมที่น่าอยู่ที่สุด ซึ่งจะมีคุณภาพสูงกว่าสังคมเก่าทุกยุคทุกสมัย
ซึ่งการพัฒนาสังคมสูงวัยให้เกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์มี 8 ประการ ดังต่อไปนี้ 1.นโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน โดยให้นิสิต-นักศึกษาและนักเรียนชั้นมัธยมปลายเป็นอาสาสมัครไปดูแลผู้สูงอายุ : ในสังคมตัวใครตัวมันแบบปัจจุบัน และการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสุดๆ จะมีผู้สูงวัยถูกทอดทิ้งอยู่ตามบ้านต่างๆ จำนวนมาก เพราะลูกหลานไม่สามารถอยู่ดูแลได้ จำเป็นต้องไปทำมาหากินไกลบ้าน
นิสิต-นักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งหมดมีประมาณ 2 ล้านคนและนักเรียนมัธยมปลายมีอีกหลายล้านคน ควรเป็นอาสาสมัครไปดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน จะทำให้สามารถดูแลได้ทุกคนทันที นิสิตนักศึกษาและนักเรียนจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ดีกว่าไปนั่งท่องวิชาต่างๆ มากมายและจำอะไรไม่ค่อยได้ สิ่งนี้เป็นวิธีการปฏิบัติประการแรกที่ควรทำทันที ทำได้ไม่ยาก และเป็นสิ่งสำคัญของงานจิตอาสา ผู้สูงวัยที่เคยถูกทอดทิ้งอยู่ตามบ้านในซอกในมุมต่างๆ ทั่วประเทศ จะรู้สึกดีขึ้นทันทีที่มีอาสาสมัครมาเยี่ยมเยียนดูแลถึงบ้านทุกวัน
2.ผู้สูงวัยจะมีความสุขที่สุด ถ้าอยู่ในครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง : ครอบครัวอบอุ่น หมายถึง พ่อแม่ลูก ปู่ย่า ตายายอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ประชาชนต้องมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สัมมาชีพ หมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ การไม่เบียดเบียนตนเองอย่างหนึ่ง คือไม่ทำให้ตัวเองเจ็บป่วย ไม่ทอดทิ้งบิดามารดา หมายความว่าการงานที่ทำควรอยู่ใกล้บ้านหรือกลับบ้านได้ทุกวัน ไม่ใช่ทิ้งไปรับจ้างทำงานไกลๆ หรือในต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง
ทำให้ครอบครัวแตกแยกไปคนละทางสองทาง ครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเป็นปัจจัยให้ผู้สูงอายุมีความสุขที่สุด สังคมเช่นนี้อยู่ในชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็งหมายถึง มนุษย์ไม่ควรอยู่แบบตัวใครตัวมันและต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ร้อยแปดด้วยตนเอง แต่ควรอยู่เป็นชุมชนเล็กๆ หรือเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดประมาณ 500 - 1,000 คน ที่ทุกคนรู้จักกัน ใกล้ชิดดูแลซึ่งกันและกัน และมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม สุขภาพการศึกษา ประชาธิปไตย
3.การมีศูนย์พยาบาลชุมชน : ในแต่ละชุมชนที่มีประชากรประมาณ 1,000 คน มีศูนย์พยาบาลที่มีกำลังคน 3 คน คือพยาบาลวิชาชีพ 1 คน และผู้ช่วยพยาบาล 2 คน กำลังพยาบาล 3 คนจะสามารถดูแลคน 1,000 คน ได้อย่างใกล้ชิด มีข้อมูลของทุกคนอยู่ในคอมพิวเตอร์ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต เป็นต้น ทำให้สามารถดูแลรักษาโรคที่พบบ่อย รวมทั้งควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูงของทุกคน
พยาบาลสามารถติดต่อปรึกษาศูนย์การแพทย์ถ้าจำเป็น หรือพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลและรับกลับ เป็นบริการใกล้บ้านใกล้ใจที่คนไทยทุกคนได้รับการบริบาลอย่างใกล้ชิดประดุจญาติ ระบบนี้จะทำให้คนในชุมชนไปโรงพยาบาลลดน้อยลงมาก การใช้จ่ายเพื่อสุขภาพทั้งหมดจะลดลง การรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ราคาแพงมาก เพราะฉะนั้น สปสช. อยู่ในฐานะที่จะจ่ายเงินเดือนให้พยาบาลทุกคนที่ทำงานในหน่วยพยาบาลชุมชน และสามารถมีวิธีจัดการเรื่องการเงินของการดูแลสุขภาพชุมชนได้หลายอย่าง
4.ควรมีศูนย์การแพทย์แผนไทยอย่างน้อย 1 แห่งต่อ 1 ตำบล : โดยให้บริการ 3 อย่าง คือ การนวดแผนไทย การประคบด้วยสมุนไพร และการขายยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริงการนวดกับผู้สูงวัยหรือแม้ไม่สูงวัยเป็นการทำให้สุขภาพดี มีความสุข เกิดสุขภาวะ เกิดการผ่อนคลาย คลายเครียด และการที่มีหมอนวดซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกับผู้สูงอายุมาให้บริการ โดยมีกายสัมผัสและคุยกันกระหนุงกระหนิงไปเรื่อยๆ แทนที่การรีบร้อนอย่างในโรงพยาบาล จะทำให้ผู้สูงวัยมีความสุขอย่างยิ่ง
การนวดแผนไทยจึงควรทำให้ดีที่สุดและมีจำนวนมาก โดยทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ถ้าทำดีๆ คนในเมืองหรือแม้แต่คนต่างประเทศก็อยากมารับบริการ จึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้ 5.ศูนย์ชีวันตาภิบาล :ชีวันตาภิบาลมาจากคำว่าชีวะ+อันตะ+อภิบาล ชีวะหมายถึง ชีวิต อันตะแปลว่า ส่วนสุด (terminal) ชีวันตาภิบาลจึงหมายถึง การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ทำให้การตายมีคุณภาพสูงสุด หรือที่เรียกว่า ตายดี วัดทุกวัดควรมีศูนย์ชีวันตาภิบาล ซึ่ง
พระกับชุมชนร่วมกันทำ
ในโรงพยาบาลต่างๆ ควรมีศูนย์ชีวันตาภิบาลซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาล มีตัวอย่างศูนย์ชีวันตาภิบาลที่โรงพยาบาลของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน เขาทำทุกอย่างที่ทำให้ผู้กำลังจะจากไปมีความสุข เช่น เรื่องดนตรี เรื่องศาสนธรรมต่างๆ เรื่องชีวันตาภิบาลจึงเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทำให้ได้ดีจะเป็นความสุขของผู้ที่กำลังจะจากไป รวมทั้งเป็นการพัฒนาจิตใจหรือจิตวิญญาณของผู้ดูแลด้วย และเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่
6.ศูนย์การแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้สูงวัยหรือเวชศาสตร์สูงวัย : ควรมีศูนย์วิชาการที่รอบรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยทั้งที่โรงพยาบาลใหญ่และโรงพยาบาลชุมชนที่สนใจ อาจรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเวชศาสตร์สูงวัย เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำหรือดูแลผู้ป่วยสูงวัยด้วยความรู้ความชำนาญสูงสุด 7.การฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ :ผู้สูงอายุทำอะไรได้น้อยลงๆ จนกระทั่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องการพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ควรมีอาชีพผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยงผู้สูงวัย โดยได้รับการอบรมอย่างดี ประมาณ 6 เดือน หรือจะน้อยกว่าก็ได้
จึงควรมีการจัดหลักสูตรการอบรมผู้ดูแลผู้สูงวัยให้กระจายทั่วประเทศ และจะเป็นอาชีพหนึ่งซึ่งจะสร้างงานให้คนจำนวนมาก และ เป็นงานที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ และ 8.สมัชชาสังคมสูงวัย :การพัฒนาเพื่อสุขภาวะของสังคมสูงวัยเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานมากมาย ควรจัดให้มีการประชุมสมัชชาสังคมสูงวัยแห่งชาติปีละ 1 ครั้ง เพื่อนำข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้ที่ได้มาในแต่ละปีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอด ส่งเสริม และจัดทำข้อเสนอนโยบายใหม่ๆ ต่อไปอาจมีสมัชชาสังคมสูงวัยระดับโลกก็ได้ เพราะสังคมสูงวัยกำลังเกิดขึ้นกับทุกประเทศ!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี