ที่จ.มหาสารคาม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายชํานาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียนฯ และนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2568 ที่ผ่าน ว่า ก็ไม่เป็นไร ว่ากันไปตามกฎหมาย ตามกติกา เราอยู่ในกติกา ก็ว่ากันตามกติกา กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น กฎหมายก็ต้องเสมอภาค และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเป็นไปตามกฎหมาย
“ต้องอยู่ที่ใครเป็นผู้รับโอน ถ้ากรมที่ดินเป็นผู้รับโอน กรมที่ดินก็ต้องถูกตั้งข้อหาตั้งแต่ต้นว่า การโอนที่มิชอบมาแต่ต้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องของวัดที่ได้รับคืนไป วัดก็ต้องคิดว่า วัดจะรับทรัพย์สินไปขายต่อ หรือวัดจะเอามาให้เช่า เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายแล้วแต่ ไม่มีปัญหา เราไม่รู้ว่าออปชั่นจะออกมาอย่างไร แต่ทางอัลไพน์รับได้ทุกสถานการณ์ เพราะเราไม่ยึดติด ทุกอย่างเราถือว่า เราได้มาโดยสุจริต เพราะไม่ได้เป็นผู้ได้มือแรก เป็นผู้ได้มือที่สอง ซึ่งบางคนก็หาว่าเราไปโกงวัดมา ซึ่งเราไม่รู้เรื่อง เราไปซื้อมาทีหลัง เราไม่ได้เป็นคนซื้อมาก่อน”
1) นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า ทักษิณอ้างว่า ซื้อมาเป็นรายที่สองโดยสุจริต ปัญหาจึงมีว่า ซื้อหรือได้มาโดยสุจริตหรือเปล่า? ซึ่งต้องพิสูจน์โดยไล่เลียงเรื่องราวตั้งแต่การบริจาคที่ดินให้วัดในปี 2512
• ในปี 2512 ยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกที่ดินสองแปลงรวมกว่า 900 ไร่ ให้วัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถัดมาสองปีในปี 2514 ก็เสียชีวิต
• กุมภาพันธ์ 2533 ปัญหาที่ดินยายเนื่อมจึงเกิดขึ้น เมื่อ นายเสนาะ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ทำหน้าที่แทน รมว.มหาดไทย ในขณะนั้น อ้างประมวลกฎหมายที่ดิน ม.84 สั่งไม่อนุญาตให้วัดได้ที่ดินบริจาคของยายเนื่อมซึ่งน่าเป็นคำสั่งมิชอบด้วยกฎหมาย
• 21 สิงหาคม 2533 มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯในฐานะผู้จัดการมรดก ได้รับโอนที่ดินยายเนื่อมมาเข้ามูลนิธิฯ แล้วในวันเดียวกันนั้นก็ขายต่อให้บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ในราคา 142 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองบริษัทมีนามสกุล “เทียนทอง” ถือหุ้นอยู่
• และแล้วในปี 2540 ครอบครัวทักษิณ ได้ซื้อหุ้นของสองบริษัทนี้ มีเสียงวิจารณ์ไปทั่วว่า เป็นที่ดินธรณีสงฆ์ ซื้อขายไม่ได้ และในปี 2544 คณะกรรมการกฤษฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีความเห็นว่า ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ต้องตกเป็นที่ดินของวัดหรือธรณีสงฆ์ และต้องโอนที่ดินให้วัดเท่านั้น ซึ่งโอนให้บุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดไม่ได้
• ช่วงที่ทักษิณ เป็นนายกฯ สมัยแรก เดือนธันวาคม 2544 กรมที่ดินได้สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ที่ครอบครัวทักษิณถือครอง ตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา และมีนาคม 2545 ผู้มีส่วนได้เสียยื่นอุทธรณ์คำสั่งแต่กรมที่ดินพิจารณาแล้วว่า การอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ส่งเรื่องถึงปลัดมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รักษาการปลัดฯเห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้นจึงสั่งเพิกถอนคำสั่งกรมที่ดิน
• เมษายน 2545 สำนักงานกฤษฎีกามีหนังสือถึงรมว.มหาดไทยสรุปว่า นายยงยุทธ มีความผิดวินัย เพราะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา จากนั้นเรื่องทิ้งไว้นานถึง 8 ส.ค. 2555 ป.ป.ช.ขอให้มหาดไทยปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทั่งเรื่องถูกลากไปถึงปี 2560 มีการฟ้องไปยังศาลอาญาทุจริต แล้วพิพากษาจำคุก 2 ปี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ โดยไม่รอลงอาญา เมื่อถึงปี 2563 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาคดีจึงถึงที่สุด
“ที่ทักษิณบอกว่าเป็นผู้ซื้อโดยสุจริตนั้น ย่อมต้องรู้อยู่แล้วว่า หลังจากไปซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์ กลุ่มการเมืองตระกูลเทียนทองก็ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยอีกอย่างช่วงกฤษฎีกาวินิจฉัย และมีคำสั่งกรมที่ดินแล้วปลัดมหาดไทยเปลี่ยนแปลงคำสั่งกรมที่ดินก็อยู่ในช่วงทักษิณ เป็นนายกฯ ดังนั้น วันนี้จะทำตัวเป็นหนูไม่รู้ไม่ได้ และยังมาทำตัวพาซื่อที่สุด บริสุทธิ์ไร้เดียงสาเมื่อเรื่องนี้มีปัญหาในช่วงเป็นนายกฯ”
จตุพรบอกว่า หากพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลและกรมที่ดินแล้ว ย่อมรู้ถึงกระบวนการที่ได้มาทั้งหมดมิชอบทั้งสิ้น เหมือนเป็นการปล้นที่ดินวัดแต่เดิมมาเป็นของบุคคลที่ไม่ใช่วัด
นายจตุพร ย้ำว่า เมื่อพิจารณาปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ตั้งแต่ปี 2512 ย่อมพบว่ามีข้อกังขาการได้มาว่า เป็นความสุจริตจริงหรือไม่ ซึ่งต้องพิสูจน์กันโดยไล่เลียงจากการบริจาคที่ดินให้วัดแล้วเปลี่ยนมือมาเป็นซื้อขายกันสองทอด โดยเฉพาะเรื่องราวตั้งแต่ปี 2533 มาถึงปี 2545 ในสมัยทักษิณเป็นนายกฯ สมัยแรก
“เพราะคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดล้วนมีผลประโยชน์เรียงกันมาตามลำดับ ทั้งการเข้าไปทำหน้าที่จนถูกตัดสินมีผลลัพธ์ตามกันมา ใช้คำว่าสุจริตไม่ได้ ยกเว้นคนโง่ถึงกลับชาติมาเกิดก็ยังโง่กันอยู่ ซึ่งเห็นกันอยู่แล้วว่าเจตนาไม่สุจริตกันมาตั้งแต่ต้น ประกอบพฤติกรรมของกลุ่มการเมืองขายที่ดินเสร็จก็โยกมาสังกัดพรรคไทยรักไทย”
2) นายถาวร เสนเนียม อดีตรมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า
“นายทักษิณไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย วัดต่างหากที่ต้องเรียกค่าเสียหาย เพราะนายทักษิณนำพื้นที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ ที่เรียกว่าลาภมิควรได้ ฉะนั้นอย่าข่มขู่คุกคาม จะบอกว่าไม่มีใครกลัวแล้ว ชีวิตของนายทักษิณไปรับสารภาพไว้ตลอด อย่างน้อย 4-5 คดีที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก และคดีนี้ก็เป็นหนึ่งในจำนวนหลายๆ คดี นายทักษิณบอกเสียหายก็ต้องไปพิสูจน์อีกหลายคดีว่าเรื่องนี้คุณเสียหายอันเกิดจากการกระทำของกรมที่ดินหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทุจริตร่วมด้วย ถือเป็นความรับผิดชอบในทางส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐรายนั้นๆ ต่างหาก” นายถาวร กล่าว
นายถาวร กล่าวอีกว่าที่ดินตกเป็นของวัดโดยอัตโนมัติ คนที่ไปเปลี่ยนทะเบียนมีเจตนาทุจริต การทำนิติกรรมเป็นโมฆะขัดต่อหลักกฎหมายและศีลธรรมอันดี ต่อให้นายทักษิณไปร้องแรกแหกกระเชอให้ตาย เรียกหมื่นล้าน สองหมื่นล้านก็ได้ แต่ต้องไปพิสูจน์ในศาล ไม่มีศาลใดสั่งจ่ายให้คุณหรอก แค่นี้ยังไม่เพียงพออีกหรือ ยังจะข่มขู่เอากับรัฐไทย
เมื่อถามว่าทางกรมที่ดินประเมินว่าจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย ประมาณ 7.7 พันล้านบาท นายถาวร กล่าวว่า ถ้าอธิบดีคนใดจ่ายก็ติดคุก เพราะอยู่ๆไม่มีอำนาจ จ่ายได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ถ้าเอาเงินหลวงไปจ่ายก็ติดคุกเองเข้าตามมาตรา 150 ถ้าจะเล่นบทมวยล้มต้มคนดู เขาเรียกร้องมาแล้วเจ้าหน้าที่รัฐนำเงินไปจ่าย ถามว่าเอาเงินจากที่ใด ถ้าตั้งงบประมาณแผ่นดินไปจ่ายเรื่องนี้ ก็ติดคุกกันทั้งสภา ถ้าผ่านกฎหมายงบประมาณ
นายถาวร กล่าวด้วยว่านายทักษิณเรียกร้อง กรมที่ดินต้องปฏิเสธ ต้องดูก่อนว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ และขัดศีลธรรมอันดีหรือไม่ เมื่อเรื่องนี้เป็นโมฆะจะเรียกร้องอะไร มันคือความสูญเปล่า ที่สำคัญสมคบกันเอาที่ดินหลวง
3) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงแนวคำวินิจฉัยการเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า แนวคำวินิจฉัยมีตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัยคือที่ดินที่ได้มาโดยมรดกต้องทำเป็นไปตามที่เจ้าของมรดกกำหนดเมื่อต้องการให้ตกแก่วัดก็ต้องตกแก่วัดซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ขอให้ไปถามจากกระทรวงมหาดไทยว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งต้องไปว่ากันอีกรอบหนึ่ง ขณะเดียวกัน ต้องตรวจสอบว่ามีการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอะไรหรือไม่ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เราต้องเสียเงินชดเชยให้กับผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ได้มาโดยสุจริต ต้องไปดูว่าคำสั่งทางปกครองออกมาและถูกยกเลิกไปนั้นชอบหรือไม่ และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนประเด็นปัญหาด้านกฎหมายมีเพียงว่าถ้าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบก็เพิกถอนเสีย และหากเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไปแล้ว และมีผลกระทบต่อบุคคลที่สุจริตก็ต้องเยียวยากันในทางกฎหมายมีเพียงแค่นั้น ส่วนในทางบริหารก็ไปว่ากัน
เมื่อถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกา เมื่อปี 2545 ที่เสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเป็นที่ดินเอกชนสามารถทำได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ทำกันบ่อยๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เป็นข่าว
สรุป : รัฐบาลลูกสาว คงหาทางออกที่ “พ่อ” ไม่ขาดทุนอยู่แล้ว แต่ถ้าพลาด ประเทศชาติขาดทุน เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นจุดจบของที่ดินอัลไพน์ อาจเป็นจุดจบของรัฐบาลนี้ด้วย!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี