สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน เราห่างหายกันไปนานจากการอัปเดตความคืบหน้าการยกระดับธรรมาภิบาลในภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จากบทความตอนที่แล้วเรื่อง “การยกระดับธรรมาภิบาลในภาคสื่อมวลชน : เครือข่ายสื่อต้านโกง” มีการเล่าถึงโครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาลและภาคีเครือข่ายร่วมกันขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลในภาคสื่อมวลชน ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้เกิดระบบนิเวศการต่อต้านคอร์รัปชันที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาล ภายใต้งานร้อยพลังสร้างสังคมดีมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” ร่วมกับงานสื่อสารสังคมสนับสนุนภาคี มูลนิธิเพื่อ“คนไทย” คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนา “โครงการสนับสนุนการทำงานสื่อสืบสวนประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน” ซึ่งมีเป้าหมายในการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายสื่อมวลชนที่สามารถทำงานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
คณะทำงานโครงการสนับสนุนการทำงานสื่อสืบสวนฯ ได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาปัญหา/อุปสรรคการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนประเด็นทุจริตคอร์รัปชันของสื่อมวลชน ระยะที่ 2 การจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชันโดยจะมีการเชิญชวนภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนเข้ามาร่วมพูดคุยเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน และระยะที่ 3 การสรุปผลการดำเนินงานโครงการ และการสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมเพื่อทำการสื่อสารให้เกิดการรับรู้สู่สังคมในวงกว้าง
ความคืบหน้าโครงการในระยะที่ 2 คณะทำงานฯ มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ปัญหา และความท้าทายในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งขยายผลความร่วมมือ เพื่อยกระดับศักยภาพการทำงานของสื่อสืบสวนสอบสวน รวมถึงพัฒนาแนวทางและสร้างกลไกความร่วมมือที่ยั่งยืนในการนำเสนอข่าวต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเชิญตัวแทนองค์กรสื่อ บรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการ และนักข่าวด้านสื่อสืบสวนสอบสวนเข้าร่วมกว่า 20 คน
ไฮไลต์สำคัญของการประชุมนี้แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ปลุกกำลังใจการทำข่าวสืบสวนสอบสวน โดย Keynote Speakers ทางโครงการได้รับเกียรติจาก คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” เป็น Keynote Speaker ในหัวข้อ “ความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศการต่อต้านคอร์รัปชัน” ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน และความสำคัญของภาคสื่อมวลชนที่มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน นอกจากนั้นยังมีการอภิปรายในหัวข้อ “ความสำคัญของการทำข่าวสืบสวนสอบสวน” โดยคุณปรางทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซียและนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ซึ่งยกตัวอย่าง กรณี “ปานามา เปเปอร์ส” เป็นการเปิดเผยข้อมูลเครือข่ายการฟอกเงินและซ่อนทรัพย์สินผ่านบริษัทนอกอาณาเขต ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยนี้เป็นผลของความร่วมมือระดับโลกของเครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวน (ICIJ) กรณีดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำความสำคัญการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชน
กิจกรรมที่ 2 เปิดเวที! เผยผลวิจัยสื่อ ความท้าทายการทำงานสืบสวนสอบสวน โดย รศ.รุจน์ โกมลบุตร และรศ. ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับความท้าทายในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนประเด็นคอร์รัปชัน พบว่า ความท้าทาย 5 ประการที่สื่อต้องเผชิญ ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ยากลำบาก ขาดการสนับสนุนในการทำข่าว การถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอ การถูกคุกคาม/ข่มขู่จากผู้มีอำนาจ และการขาดเครือข่ายพันธมิตรสื่อมวลชน และนำเสนอสรุปผลการสัมภาษณ์นักข่าวพบอุปสรรคการทำข่าวสืบสวนสอบสวนประเด็นคอร์รัปชัน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและความปลอดภัย การถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมาย SLAPP การถูกคุกคาม/ข่มขู่จากผู้มีอำนาจ และด้านการเข้าถึงข้อมูล ความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลเอกสารของภาครัฐ และความเชี่ยวชาญในการใช้ระบบเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ
จากการสัมภาษณ์นักข่าวยังพบว่า นักข่าวมีความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนประเด็นคอร์รัปชัน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายสำนักข่าวควรกำหนดนโยบายสนับสนุนการทำข่าวสืบสวนสอบสวนและการช่วยเหลือเมื่อนักข่าวถูกฟ้องร้องจากการนำเสนอข่าว ด้านทรัพยากรทั้งเงินทุนและเวลาในการทำข่าวที่เพียงพอ เนื่องจากการทำข่าวประเด็นนี้ต้องใช้เวลานานและมีงบประมาณสูง และด้านเครือข่ายสื่อมวลชนโดยต้องการให้มีพันธมิตรระหว่างสำนักข่าวเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำเสนอข่าวพร้อมกัน รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการติดตามข่าว ร่วมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
กิจกรรมสุดท้าย การระดมความคิดเพื่อขับเคลื่อนเชิงประเด็นข่าวสืบสวนสอบสวน โดยกลุ่มนักข่าวที่เข้าร่วมการประชุมร่วมกันโหวตประเด็นการคอร์รัปชันที่สนใจนำมาขับเคลื่อน
งานร่วมกัน ซึ่งประเด็นที่ได้รับการโหวตสูงสุด 3 ประเด็น ได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การทุจริตทางการเมืองและการคอร์รัปชันในหน่วยงานราชการ และเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้ง 3 ประเด็นถูกนำมาร่วมกันแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อจัดทำแผนการขับเคลื่อนงานร่วมกัน และมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนให้คำแนะนำการทำแผนการทำงานร่วมกัน เช่น ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ KRAC Corruption คุณพิพัฒน์ พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช. คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และคุณสุภอรรถ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ภายหลังเมื่อมีการจัดทำแผนงานเรียบร้อย นักข่าวที่เข้าร่วมได้นำเสนอแผนการทำงานแต่ละกลุ่ม พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางและรูปแบบการทำงานร่วมกันหลังจากจบการประชุมในครั้งนี้
จึงนำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชันผ่านแพลตฟอร์มไลน์ เพื่อเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประเด็นคอร์รัปชัน การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลในภาคสื่อมวลชนที่จะร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ผู้เขียนหวังว่ากลุ่มภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชันจะมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง นำเสนอข่าวคอร์รัปชันให้ประชาชนได้ร่วมติดตาม และขอเชิญชวนทุกท่านติดตามการทำงานของเครือข่ายในการขับเคลื่อนสังคมโปร่งใสและร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในทุกภาคส่วน
พัชรี ตรีพรม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี