บรรดานักการเมือง และคอการเมืองต่างก็มีอุดมการณ์แตกต่างกันไปเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งความแตกต่างนั้นมักจะนำไปสู่การขัดแย้ง เผชิญหน้า และบางครั้งบางคราวก็บานปลายถึงขั้นใช้กำลังต่อกันและกัน ฉะนั้นสังคมหนึ่งใดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาจุดร่วมเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือนัยหนึ่งมีอุดมการณ์ร่วมกันเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นหรือก้าวแรกของการนำมาซึ่งเสถียรภาพ และการร่วมมือร่วมใจในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง หรือการพัฒนาของประเทศชาติ
สังคมไทยในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยก็ได้เห็น และได้ประสบกับการหลั่งไหลเข้ามาของอุดมการณ์และระบบความเชื่อถือต่างๆ จากต่างประเทศ จนเกิดการจัดตั้งกลุ่ม จะเป็นพรรคการเมืองหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันขึ้นมา โดยใช้ชื่อต่างๆ นานา เช่น เสรีนิยม สังคมนิยม ชาตินิยม ศาสนานิยม อนุรักษ์นิยม เผด็จการนิยม เป็นต้น
ในทางเศรษฐกิจการค้าก็มีระบบทุนนิยมที่กอปรไปด้วยกลุ่มเจ้าของกับกลุ่มพนักงานลูกจ้าง หรือนัยหนึ่งเป็นเศรษฐกิจหรือธุรกิจที่เอกชนเป็นแกนนำ(Private Sector) และแล้วก็มีระบบทุนนิยมที่ฝ่ายรัฐในนามของสังคมเป็นนายทุน เป็นเจ้าของกิจการ และบริหารกิจการทั้งหมด (State-led Capitalism) เช่น สหภาพโซเวียตในอดีตและปัจจุบันในคิวบา และเกาหลีเหนือ นอกจากนั้นก็มีระบบผสมผสานระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เช่นที่ จีน และเวียดนาม ที่ภาครัฐมีรัฐวิสาหกิจ แต่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทำมาค้าขายได้ เป็นระบบผสมผสาน ทั้งนี้รูปแบบต่างๆ ดังกล่าวก็จะอยู่ในกรอบของระบอบการเมืองการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) และแบบลัทธิอำนาจนิยม (Authoritarianism) ก็ได้
สหรัฐอเมริกาเป็นเสรีประชาธิปไตยทั้งทางด้านการเมืองการปกครองและทั้งทางด้านการทำมาหากิน คือความเป็นประชาธิปไตยวิ่งควบคู่กันไปแบบเศรษฐกิจทุนนิยม โดยสหรัฐฯ นั้นไม่มีและไม่นิยมรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภาครัฐทำตัวเป็นกลางอยู่ระหว่างเอกชนผู้ผลิตผู้บริการ กับประชาชนพลเมืองผู้บริโภค ส่วนที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีความเป็นเสรีประชาธิปไตย มีธุรกิจเอกชนเป็นแกนนำเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงรัฐวิสาหกิจไว้บ้าง โดยภาครัฐก็รับหน้าที่ควบคุมกฎเกณฑ์กติกาเพื่อสอดส่องดูแลความยุติธรรม และความสมดุลระหว่างเจ้าของกิจการกับประชาชนผู้บริโภคโดยทั่วไป
ส่วนในกรณีของจีนและเวียดนาม แม้ว่าจะเป็นระบบผสมผสานดังกล่าว แต่ก็มีความเป็นพิเศษ คือความเป็นไปทั้งหมดขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองพรรคเดียว ที่มีอำนาจเหนือทั้งภาคเอกชนและภาครัฐวิสาหกิจ
และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ระบบระบอบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ดังกล่าว ต่างลงตัวแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยเราก็ยังมีความไม่แน่นอน และไม่ค่อยมีเสถียรภาพ และทิศทางที่แน่ชัด จำเป็นที่สังคมไทยเราจะต้องหาข้อยุติร่วมกัน ในการนี้ก็ใคร่ขอเสนอและเชิญชวนมาร่วมคิดร่วมหาข้อยุติกันด้วยเป้าหมายแนวทางดังนี้
1. ในอุดมการณ์ทางการเมือง สังคมไทยน่าจะเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นนักเสรีนิยม ที่ยึดหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และมีส่วนร่วมในการเป็นไปของสังคม เช่น การเลือกผู้แทนราษฎร การชุมนุมและเข้าชื่อเรียกร้องเรื่องหนึ่งเรื่องใด เป็นต้น โดยปราศจากความกลัว หรือการถูกกดขี่จากกลุ่มอำนาจมืด หรือสว่างหนึ่งใด โดยฝ่ายสื่อและกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรืออำนาจใดๆ และการเลือกตั้งเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมือง และทั้งนี้ทั้งนั้น
ทุกอย่างอยู่ภายใต้หลักกฎหมายที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
2. ในทางเศรษฐกิจก็ยึดในเรื่องระบบทุนนิยม คือให้ภาคธุรกิจเอกชนเป็นแกนและตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเคารพกฎเกณฑ์กติกาของบ้านเมือง แล้วก็กำกับดูแลตัวเองให้มากที่สุด โดยภาครัฐเป็นผู้ควบคุมกติกาและรับผิดชอบผ่านกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องไม่มีกิจการหรือรัฐวิสาหกิจที่ทำการแข่งขันกับทางภาคเอกชน และหากจะต้องมีรัฐวิสาหกิจ ก็ควรจะเป็นไปในทิศทางของการบริการสังคมหรือสาธารณะ เช่น การขนส่งมวลชน เรื่องประปา เรื่องไฟฟ้า และเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นต้น หรือนัยหนึ่งรับผิดชอบในเรื่องการบริการสาธารณะที่ภาคเอกชนไม่สนใจ หรือไม่อยากรับผิดชอบ เพราะไม่มีกำไร หรือการลงทุนไม่คุ้มค่า เป็นต้น
โดยสรุปในการนี้ก็ใคร่เสนอให้สังคมไทยเป็นนักเสรีนิยม (A Liberal) ผสมกับการเป็นนักสังคมนิยม (A Socialist) ควบคู่กันไป ซึ่งในกรณีแรก ก็คือการมีชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพต่างๆ และมีหน้าที่ต่อสังคม เช่น การเสียภาษี เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็เป็นนักสังคมนิยมในแง่ที่ว่า มีความประสงค์ที่จะให้ภาครัฐรับผิดชอบในเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย การสัญจรไปมา การบริการสาธารณูปโภคต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรยุติการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการเครื่องดื่มมึนเมา กิจการยาสูบ การพนันขันต่อทุกรูปแบบ โดยปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องการแข่งขันของภาคเอกชนที่ภาครัฐมีหน้าที่กำกับดูแลเสริมสร้างความปลอดภัยของสังคมและผู้บริโภค เป็นต้น
ก็ขอฝากเป็นข้อคิดเห็นเพื่อเราจะได้มาร่วมกันเป็นนักเสรีนิยม และนักสังคมนิยม เพื่อพัฒนาชาติไทยให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี