“เรารู้ว่าตอนนี้เราอยู่ในสังคมสูงอายุแล้ว ในขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าจะมีการขาดแคลนแรงงานในการทำงานในตลาดแรงงานทั่วไป แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่เราพูดถึงกลมๆ แต่ไม่รู้ว่าจำนวนที่เราต้องการอยู่ที่เท่าไร ก็คือกลุ่มที่เป็นคนดูแลผู้สูงอายุ อย่างที่เรารู้ว่าคนที่ดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ใกล้ชิด เป็นลูกหลาน แต่แน่นอนเราอยู่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากร โครงสร้างครอบครัวด้วย
ฉะนั้นคนที่จะหนักมากๆ ก็จะเป็นคนที่อยู่ตรงกลางที่จะต้องช่วยดูแล ซึ่งตรงนี้เองก็เลยมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป บางคนก็ตัดสินใจร่วมว่าจะจ้างคนดูแลที่เป็นลูกจ้างมาร่วมสนับสนุนโดยเฉพาะ หรือบางคนก็อาจจ้างมาเพื่อมาช่วยสนับสนุนการดูแลของลูกหลานเองด้วย ซึ่งอันนี้เอง ความหนัก-เบาของร่างกาย มันก็มีผลต่อความต้องการผู้ดูแลแตกต่างกันไป”
รศ.ดร.รัตติยา ภูลออ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยาย (ออนไลน์) ในหัวข้อ “การคาดประมาณความต้องการผู้ดูแลและแรงงานสำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของไทยถึงปี 2580” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ ฉายภาพความสำคัญของ “งานดูแลผู้สูงอายุ” ที่นับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
สำหรับงานดูแลผู้สูงอายุ หรือในภาษาอังกฤษคือ “Caregiver” มีทั้งแบบไม่เป็นทางการ (Informal) เช่น ลูก หลาน เพื่อนบ้าน คนในชุมชน และแบบเป็นทางการ (Formal) คือคนที่ทำงานนี้โดยเฉพาะและได้รับเงินค่าจ้าง ขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และในส่วนของนโยบาย เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13(ปี 2566-2570) แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3(ปี 2566-2580) เป็นต้น
ในส่วนของ Caregiver ที่มีลักษณะเป็นงานและมีการจ่ายค่าจ้างเพื่อให้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล คนในชุมชนที่รับจ้างดูแลผู้สูงอายุทั้งประจำและเป็นครั้งคราว รวมถึงลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งนอกจากจะต้องดูแลความสะอาดของบ้านนายจ้างแล้วหลายครั้งยังต้องช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้านของนายจ้างด้วย ทั้งนี้ “ในอนาคตการจะจ้างคนดูแลผู้สูงอายุน่าจะหาแรงงานได้ยากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ก็มีทางเลือกในงานอื่นๆ อยู่”และต้องยอมรับว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นงานที่ทั้งหนักและมีแรงกดดันทางจิตวิทยาอยู่พอสมควร
ดังนั้นแล้ว “แรงงานข้ามชาติก็อาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการมาสนับสนุนงานดูแลผู้สูงอายุ” แต่ก็มีความท้าทายอยู่ว่า การจ้างชาวต่างชาติมาดูแลผู้สูงอายุยังไม่ค่อยถูกยอมรับมากนัก ขณะที่เมื่อดูในแง่กฎหมาย ประเภทของงานที่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย (เมียนมา ลาวและกัมพูชา) อันเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มหลักในประเทศไทย จะมีเพียง 2 อาชีพ คือลูกจ้างทำงานบ้านกับกรรมกร จึงไม่มีความชัดเจน
กล่าวคือ ในตอนแรกจ้างแรงงานข้ามชาติเพื่อมาดูแลบ้าน แต่ด้วยความจำเป็นก็ต้องให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่ง “ทักษะการดูแลผู้สูงอายุ” ก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในเชิงการดูแลสุขภาพ และหากเห็นว่ามีความจำเป็นก็จะต้องทำเรื่องของอาชีพนี้ให้ชัดเจน เพื่อกำหนดคุณสมบัติให้ชัดว่า แรงงานที่จ้างมานอกจากทำงานบ้านแล้วยังต้องดูแลผู้สูงอายุด้วยควรจะมีทักษะอะไรบ้าง รวมถึงคาดการณ์จำนวนแรงงานดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการด้วยในเชิงนโยบาย
ประการต่อมา “ความจำเป็นของผู้สูงอายุในการมีผู้ดูแล”ซึ่งอาจดูจาก 5 ส่วน คือ 1.การรับประทาน 2.การอาบน้ำ 3.การแต่งตัว4.การใช้ห้องน้ำ และ 5.การเคลื่อนย้ายระหว่างเตียงกับพื้นที่อื่นๆแบ่งระดับได้ตั้งแต่ “การพึ่งพิงแบบต่ำถึงแบบสูง” ขึ้นอยู่กับว่าผู้สูงอายุคนนั้นสามารถทำ 5 อย่างดังกล่าวได้ด้วยตนเองมาก-น้อยเพียงใด “ไม่ใช่ทุกคนที่เมื่ออายุมากขึ้นแล้วจำเป็นต้องมีผู้ดูแล” โดยขึ้นอยู่กับ “สภาพร่างกาย” ของแต่ละคน เช่น ในบางกรณี คนอายุเพิ่ง 60 ต้นๆ กลับต้องการคนดูแลมากกว่าคนอายุ 80 ปลายๆ เนื่องจากคนหลังนั้นมีสุขภาพดีกว่าคนแรก
“ประเด็นอันหนึ่งที่สำคัญมากๆ เวลาเราคุยในมุมของผู้ดูแลนอกเหนือจากจำนวนที่ไม่พอ ค่าจ้างต่อหัวที่ค่อนข้างสูงมันทำให้บ้านเรือนที่ยากจนเข้าถึงตรงนี้ได้ยาก ตอนที่ไปสัมภาษณ์เองก็เห็นเลยว่าบางคนอายุมากๆ รายได้ครัวเรือนต่ำ ก็จะบอกว่า “บางทีไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว” เพราะรู้สึกว่าตัวเองอยู่แล้วเป็นภาระ ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะละเลยได้ ตรงนี้มันจะมีนโยบายที่สอดคล้องใกล้เคียงกันต้องหารือกันเอง เช่น การลาของลูกหลาน เป็นต้น” รศ.ดร.รัตติยา ระบุ
สำหรับการประมาณการความต้องการแรงงานในงานดูแลผู้สูงอายุ ในกลุ่มที่จำเป็นต้องมีผู้ดูแล ซึ่งพบว่า ในปี 2564 มีผู้สูงอายุราว 2 หมื่นคน ที่มีการจ้างผู้ดูแล แต่ในปี 2580 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นอีกร้อยละ 70 หรือหากคำนึงถึงความเหมาะสมด้านสิทธิแรงงาน (เช่น การจ้างคน 1 คน ดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง เป็นงานที่หนักเกินไป) ก็อาจเพิ่มขึ้นอีกถึง 4 เท่าเพื่อให้เหมาะสม นอกจากนั้น หากนับรวมตัวแปรเรื่องการเป็นผู้สูงอายุอยู่คนเดียว เข้าถึงบริการการดูแลจากชุมชนได้น้อย และเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จำเป็น ในปี 2580 ความต้องการอาจเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่า
รศ.ดร.รัตติยา สรุปผลการศึกษานี้ว่า ความชัดเจนเรื่องการมีคนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลแรงงานในงานดูแลผู้สูงอายุ หากมีนโยบายที่ชัดเจนจะช่วยให้วางแผนได้ทั้งการพัฒนาทักษะของแรงงาน การมองจำนวนแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการ และการปรับปรุงสิทธิแรงงาน รวมไปถึงการส่งเสริมการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดูแล (Care Facilities) หรือทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)
ตลอดจนการยอมรับในศักยภาพของลูกจ้างทำงานบ้าน เพราะหลายครัวเรือนก็ใช้ลูกจ้างทำงานบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยกันว่าเหมาะสมหรือไม่!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี