พาดหัววันนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาติอาเซียนที่ไกลออกไปมองปัญหาวิกฤตการเมืองในเมียนมา แบบตาบอดคลำช้าง เนื่องจากเสพสื่อ และเชื่อปฏิบัติการข่าวของฝรั่งตะวันตกที่ทำโฆษณาชวนเชื่อ โหมปั่นกระแสว่ารัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้ร้ายและจวนล่มสลายแล้ว
ความเชื่อของชาติอาเซียนที่อยู่ไกลออกไป ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนปี 2025 มีความเข้าใจต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีชายแดนติดกับเมียนมา อาทิ จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว และ ประเทศไทย ที่เชื่อว่ารัฐบาลทหารเมียนมายังคุมสถานการณ์ภายในประเทศไว้ได้ หรือมีเสถียรภาพที่สามารถจัดการให้มีการเลือกตั้ง
ประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมารู้ว่า ฝ่ายต่อต้านโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ และ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ไม่มีวันเอาชนะกองทัพเมียนมาได้มีทางเดียวที่พรรคเอ็นแอลดี และ ออง ซาน ซู จี ซึ่งมีผู้สนับสนุนล้นหลามในประเทศเมียนมาชนะได้จากการเลือกตั้งเรียกได้ว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ชนะแบบแลนด์สไลด์เมื่อนั้น
แต่น่าเสียดายที่ออง ซาน ซู จี หลงเชื่อการปลุกระดมยุยงส่งเสริมจากมหาอำนาจตะวันตก ที่หลอกว่า สามารถต่อต้านการยึดอำนาจได้ เมื่อได้รับการหนุนหลังจากตะวันตกกองกำลังปืนแก๊ปของ เอ็นแอลดี จึงต่อสู้กับกองทัพมีศักยภาพสูง โดยวิธีก่อการร้าย ที่ไม่มีวันเอาชนะกองทัพเมียนมาได้
เมื่อตระหนักถึงภาวการณ์นี้ จีนซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลในเมียนมา ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า ตลอดถึงยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงรู้ว่าปล่อยไว้อย่างนี้
รังแต่สร้างความเสียหายแก่ทุกฝ่าย จีนจึงพยายามให้ยุติการสู้รบในเมียนมา และ แก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้ง
ปักกิ่งจึงเป็นแกนนำ ในความพยายามผลักดันให้เมียนมาเลือกตั้ง ตั้งแต่กลางปี 2567 จะเห็นได้ว่า หลังจากฝ่ายต่อต้านเสร็จสิ้นการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ในปฏิบัติการ 2017 จีนเรียกร้องให้ยุติการสู้รบทางเหนือรัฐฉานใกล้ชายแดนจีน-เมียนมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาจนวันนี้ไม่มีเสียงปืนทางเหนือรัฐฉาน และเมื่อจีนมั่นใจว่าคุมสถานการณ์ได้จึงผลักดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาเตรียมการเลือกตั้ง โดยที่จีนให้การสนับสนุนทุกอย่างตั้งแต่กำลังคน เครื่องมือทันสมัย และปัจจัยต่างๆ
วันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเมียนมา อาทิ จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว และประเทศไทย ได้ประชุมปรึกษาหารือนอกกรอบอาเซียนในกรุงเทพฯ ตัน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา สรุปให้ที่ประชุมฟังถึงความคืบหน้าเตรียมการเลือกตั้งในปี 2025 ซึ่งประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมาก็สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง และจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์
วันที่ 20 ธันวาคม ดร.วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ มาประชุมนอกรอบอาเซียนในกรุงเทพฯเช่นกัน วันนั้น ดร.วิเวียน โพสต์เฟซบุ๊กว่า“สี่ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในเมียนมายังเลวร้าย การปราบพลเรือนยังมีต่อไป ผมเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อพลเรือนทันที ผมเรียกร้องให้ปล่อยออง ซาน ซู จี ทันที” นั้นเป็นการแสดงท่าทีของชาติอาเซียนที่อยู่ไกลออกไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 มาเลเซียในฐานะประธานหมุนเวียนอาเซียน เป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกในเกาะลังกาวี ที่ นายโมฮาเหม็ด ฮาซันรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียแถลงว่า ..“อาเซียนให้ความสำคัญกับยุติความรุนแรงมากกว่าการเลือกตั้ง” และกล่าวว่ามาเลเซียแต่งตั้งทูตพิเศษกิจการเมียนมาในความพยายามขับเคลื่อนแผนการสันติภาพของอาเซียน ที่ไม่คืบหน้ามาสามปีในประเทศมีสงครามวุ่นวาย
ที่ประชุมลังกาวี มีมติว่าให้รัฐบาลทหารเมียนมาฟื้นฟูสันติภาพ และไม่ควรจัดให้มีการเลือกตั้ง ที่อาจทำให้ความแตกแยกรุนแรงบานปลาย” โมฮาเหม็ด กล่าวด้วยว่า
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ลังกาวีประเทศสมาชิกอาเซียนหารือกันอย่างใกล้ชิดท่ามกลางความเสี่ยงสูงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ต่อคำถามว่า อาเซียนรู้ไหม เมียนมาเตรียมการเลือกตั้งในปีนี้ โมฮาเหม็ด กล่าวว่า “อาเซียนตระหนักเรื่องนี้ ในขณะที่สมาชิกเชื่อว่า การเลือกตั้งต้องครอบคลุมทุกฝ่าย ไม่สามารถเลือกตั้งฝ่ายเดียวได้ มันต้องรวมทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย”เขากล่าวและเสริมว่า “ความสำคัญสูงสุด คือ หยุดความรุนแรง และฟื้นฟูสันติภาพในเมียนมา”
เมื่อถามว่า อันวาร์ อิบราฮิม พูดเมื่อปี 2023 ว่า “แทนที่ปล่อยให้ถ่วงความก้าวหน้า เราควรขับเมียนมาออกจากอาเซียน ผมคิดว่าเมียนมาคงไม่โกรธ มันเป็นการดีที่สุดหากเรามีฉันทามติอย่างจริงจังส่งสารยังรัฐบาลทหารเมียนมา..”โมฮาเหม็ดกล่าวเน้นอย่างหนักแน่นว่า นั้นเป็นเรื่องเก่า อาเซียน “ไม่มีความประสงค์” ขับเมียนมาออกจากการเป็นสมาชิก อาเซียนยึดมั่นในการเจรจามีปฏิสัมพันธ์อย่างสันติกับผู้นำเมียนมา”
จากที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เคยเสนอให้ขับเมียนมาออกจากอาเซียน และการแถลงว่า รัฐบาลทหารเมียนมาควรให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูสันติภาพมากกว่าเลือกตั้ง แสดงว่ามาเลเซีย เห็นต่างกับจีนโดยสิ้นเชิงในประเด็นวิกฤตการเมืองเมียนมา และดูเหมือนว่ามาเลเซีย ท้าทายความพยายามของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ผลักดันให้มีการเลือกตั้งปี 2025
พิเคราะห์จากความเป็นจริงจะพบว่า จีนมีอิทธิพลบารมีสูงมากในเมียนมา ที่สามารถกำหนดได้ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้าน และ รัฐบาลทหารเมียนมา จีนสามารถสั่งให้กลุ่มชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้าน รบและหยุดรบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็น โกก้างตะอ่าง พะโอ และ กองทัพว้า อันมหึมา
ปฏิบัติการ 2017 คือภาพลวงตาที่ตะวันตกทึกทักเอาว่ากองกำลังผสมโกก้าง ตะอ่าง และ อาระกัน ทำสงครามครั้งใหญ่ยึดเมืองทางเหนือรัฐฉานได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงปฏิบัติการ 2017 เป็นแผนการที่จีนใช้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือกวาดล้างแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติในเมืองเล่าห์ก่าย ที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่ชีวิต และทรัพย์สินคนจีนในแผ่นดินใหญ่
จะเห็นได้ว่า หลังจากปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติได้ไม่นาน จีนสั่งให้ยุติสงครามใกล้ชายแดนจีน และสั่งคืนเมืองที่ยึดได้ให้แนวร่วมเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ดื้อรั้นขัดขืน ถูกกดดันจนแตกกระสานซ่านเซ็น กองทัพตะอ่างประกาศหยุดยิงอาระกันย้ายไปรบสมรภูมิใหม่ในรัฐยะไข่ ผู้บัญชาการทหารโกก้างกับรองบัญชาการทหารว้า ถูกจับไปรักษาสุขภาพร่างกายในยูนนานมณฑลภาคใต้ของจีน ตั้งแต่นั้นมากองกำลังผสมประชาธิปไตยแห่งเมียนมาประกาศหยุดยิง และพร้อมเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา
ส่วนกองทัพอาระกันซึ่งก่อตั้งที่มหาชัยเมืองใหม่ในปี 2553 และไปพึ่งพาเศรษฐกิจชาติพันธุ์คะฉิ่น ทางเหนือรัฐฉานใกล้ชายแดนจีน ที่คะฉิ่นฝึกอาวุธให้ และกองทัพอาระกันตัดสินใจร่วมรบกับโกก้าง และตะอ่างในปฏิบัติการ 2017 เมื่อได้รับอาวุธ และปัจจัยพอมีกินมีใช้ก็ย้ายไปสู้รบแบบจรยุทธ์ในรัฐยะไข่
วันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีรายงานว่าจีนส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคประมาณ 500 คนไปติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยให้ท่าเรือเจ้าผิ่วในรัฐยะไข่ และ จีนเตรียมส่งกองกำลังติดอาวุธชุดใหญ่ มาคุ้มครองท่าเรือของจีนแทนทหารเมียนมา ในวันเดียวกันนั้น กองทัพอาระกันออกแถลงการณ์ว่า พร้อมเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ได้หวังเอาชนะจากกำลังอาวุธ และสัญญาว่าจะให้การคุ้มครองการลงทุนของต่างชาติ
สรุปว่า จีนควบคุมสถานการณ์ทางเหนือ และตะวันตกของเมียนมาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนภาคกลางใน 7 ภูมิภาคในเมืองใหญ่ อาทิ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ตะนาวศรี อิระวดีและอื่นๆ รัฐบาลทหารเมียนมาควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ มีการก่อกวนประปรายพอให้ได้เป็นข่าว
ด้านภาคตะวันออกเมียนมาใกล้ชายแดนไทยปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ คือกองกำลังกะเหรี่ยงทุกฝ่ายคุ้มครองรักษาความปลอดภัยให้อาชญากรรมข้ามชาติในชเว โกะโก อย่างไรก็ตามจีนขยับร่วมมือกับไทยบ้างแล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม กองกำลังผสมจีน-ไทย ช่วยเหลือนายแบบจีน และเหยื่อค้ามนุษย์ออกมาได้หลายคน และจับผู้ต้องหาค้ามนุษย์ 12 คน
กระทรวงมั่นคงสาธารณรัฐจีน แถลงเมื่อวันที่ 17 ว่าจะปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติอย่างเด็ดขาด หากจีนขอความร่วมมือจากประเทศไทยได้ เฟสต่อไปอาจใช้กองทัพอากาศเมียนมาถล่มเมียวดีที่ “ชเวโกะโก”
จึงทำนายล่วงหน้าว่า เมียนมาด้วยการร่วมมือจากจีนแผ่นดินใหญ่ สามารถจัดเลือกตั้งได้ในปี 2025
ส่วนมาเลเซียประธานหมุนเวียนอาเซียน ประเด็นวิกฤตการเมืองเมียนมา หากเป็นคณะลิเกก็พูดได้ว่า วงแตกตั้งแต่ออกแขกแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะขาดความเข้าใจถึงบริบทสังคม การเมือง และความมั่งคั่งของเมียนมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นอาถรรพณ์ที่ดันแต่งตั้งอดีตนักโทษคอร์รัปชั่น และจำเลยคดีอาญามาตรา 112 เป็นที่ปรึกษา
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี