เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาเป็นประธาน นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถามนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร้อ้อย ที่ถูกอุตสาหกรรมจังหวัดสั่งปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี เนื่องจากโรงงานฝ่าฝืนรับซื้ออ้อยที่ถูกเผา
นายธีระชัย กล่าวว่า ภายหลังจากสั่งปิดโรงงาน ทำให้ชาวไร่อ้อยเดือดร้อนอย่างมาก แม้จะมีการผ่อนคลายอ้อยที่ถูกเผาทยอยเข้าโรงงานแล้ว แต่ชาวไร่อ้อยที่ยังเดือดร้อนอยู่ เพราะการสั่งปิดโรงงานทำให้ทั้งอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ไม่สามารถนำเข้าโรงงานได้ ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะปกติอ้อยจะเข้าหีบไม่ต่ำกว่าวันละ
3 หมื่นตัน รายได้ประมาณ 50 กว่าล้านบาทต่อวัน ถ้าคิดเป็นตัน ตันละ 1,400 บาท การปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรฯ ทั้งที่ยังมีอ้อยเหลืออยู่ แต่การแก้ปัญหาในจังหวัด
ก็มี ไม่ทราบว่า รมว.อุตสาหกรรม ทราบหรือไม่ว่าอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เป็นผู้ออกคำสั่งปิดอย่างกะทันหัน โดยพลการ มีการกล่าวกันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเลือกปฏิบัติ เพราะข้าราชการเป็นผู้ลงนามปิดโรงงาน จึงอยากทราบว่ารมว.อุตสาหกรรม สั่งด้วยวาจา หรือสั่งปลัดกระทรวง แล้วปลัดสั่งอีกที ทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยออกคำสั่งตามอำเภอใจ ลุแก่อำนาจ เป็นการเลือกปฏิบัติ
เป็นกระทู้ถามสดที่น่าสนใจ ห่วงใยชาวบ้าน และต้องการความจริง นี่คือ กลไกสภา ที่ถูกใช้งานอย่างสร้างสรรค์ และรัฐมนตรีก็ให้เกียรติสภา มาตอบกระทู้ถามสดด้วยตนเอง
1) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า การปิดโรงงานไทยอุดรฯเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยกันลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาหลักระดับประเทศ การลดฝุ่น PM2.5 ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมืองหรือรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ในส่วนของอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวที่อยู่ในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทราย วันนี้ตัวเลขการเผาอ้อยต่ำที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ เราตั้งเกณฑ์ 25% เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 เหลือเพียงกว่า 11% เท่านั้น เพราะเกิดจากการที่เราช่วยกัน จากที่ผ่านมา 5-6 ปีที่แล้วเผาอ้อยกัน 50-60% และปีที่แล้วเหลือ 30% พวกเราทั้งโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรจะได้พูดอย่างภูมิใจว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เกิดมาจากการเผาอ้อย อย่างไรก็ตาม บางทีการตัดสินใจไม่ได้ตัดสินใจได้ง่าย แต่เราต้องช่วยกัน และการที่จะแก้ปัญหาบางทีก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย
2) นายเอกนัฏกล่าวต่ออีกว่า เรื่องการลดการเผาอ้อยไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญเราได้สื่อสารและประกาศทุกปี ขอความร่วมมือลดการเผา ไม่ให้เกินวันละ 25% และขอให้โรงงานไม่รับอ้อยเผาเกินวันละ 25% และการเผาทุกวันนี้เป็นการลักลอบเผา ซึ่งผิดกฎหมายสิ่งแวดลอม แต่ตนก็เข้าใจว่า การเผาไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ ซึ่งทั้งหมดในการแก้ปัญหา ยืนยันว่าไม่ได้ใช้ความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่เรากำลังออกแบบระบบใหม่ที่ใช้มูลค่าทางการเกษตรเป็นแรงจูงใจ ส่งเสริมให้เกษตกรไปตัดใบอ้อย ส่งโรงงาน เพื่อผลิตไฟฟ้าขาย ถ้าระบบนี้ออกมาสมบูรณ์แบบ ตนมั่นใจว่า จากนี้ไปจะไม่มีใครเผาใบอ้อย ถ้าใครมาลักลอบเผา หรือเกิดเหตุขึ้นก็ต้องช่วยกันไม่ให้เผา เพราะใบอ้อยมีมูลค่า นำไปผลิตไฟฟ้าต่อไป โดยไม่ต้องเสียเงินชดเชยเกือบหมื่นล้านบาทไปชดเชยอ้อยสดตันละ 120 บาท ซึ่งการช่วยเหลือทั้งอ้อยสดและตัวใบ ตนได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปตั้งแต่เดือน พ.ย.2567 แล้ว แต่ครม.ยังไม่มีมติ
“ผมยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติแน่นอน และตั้งแต่ผมทำหน้าที่รมว.อุตสาหกรรม ไม่ใช่นั่งเฉยๆในห้องแอร์ แต่ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและจัดระบบใหม่ในภาคอุตสาหกรรม ปัญหากากอุตสาหกรรม สินค้าด้อยคุณภาพนำเข้าประเทศ ผมสั่งปิดและจับ ดำเนินคดีเด็ดขาดทั้งนี้ มีวางค่าตัวไว้ว่า มีเงิน 200-300 ล้านบาท เพื่อย้ายรัฐมนตรี ผมไม่กลัวเพราะผมมีหน้าที่ที่ต้องการรักษาประโยชน์ของส่วนรวม” นายเอกนัฏ กล่าว
3) รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ตั้งแต่เราได้ออกคำสั่งไป และมีการพูดคุย ตนต้องพูดตรงไปตรงมาว่า โรงงานให้ความร่วมมือดี ปัจจุบันรับอ้อยสด 100% ด้วยซ้ำ แต่ก่อนวันที่อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปตรวจโรงงาน ก็ต้องพูดตรงไปตรงมาว่า โรงงานไทยอุดรฯ รับอ้อยเผาปริมาณสูงสุดของประเทศประมาณ 4 แสนตัน กว่า 40% ส่วนโรงงานอื่นๆ ก็มีการรับอ้อยเผาก่อน 25% จากที่เราสื่อสารไป ก็มีการกดตัวเลขต่อวันลดลงหมด และการที่อุตสาหกรรมจังหวัด สั่งปิดโรงงานเพื่อลดการปล่อย PM2.5 ไม่ได้มีเจตนาให้กระทบกับชีวิตหรือรายได้ของเกษตรกร
สำหรับมาตรการในปีนี้ ชัดเจนตั้งแต่ ต.ค.2567เราได้แจ้งในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ขอความร่วมมือโรงงานและเกษตรกรงดการเผา เผาไม่เกินวันละ 25% และให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผาไม่เกิน 25% ทั้งนี้มีมติ ครม.ที่ส่งมาถึงตน ขอให้กระทรวงเพิ่มมาตรการงดรับอ้อยเผาโดยสิ้นเชิง ซึ่งปัญหาการไม่รับซื้ออ้อยเผาที่ จ.อุดรธานี ตนได้ช่วยแก้ปัญหาและทราบว่ามีการเคลียร์อ้อยที่ค้างการรับซื้อทั้งหมดแล้ว ส่วนที่พบว่ามีอ้อยเน่านั้นจะมีมาตรการเยียวยาต่อไป4) เป็นการตอบคำถามที่ชัดเจน จริงใจไม่ให้ร้ายใคร ไม่โยนบาปให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เห็นคนถามเป็นศัตรู จึงเป็นท่าทีที่รัฐมนตรีทุกคนควรถือเป็น “เยี่ยงอย่าง” และใช้กลไกนี้ของสภาอย่างสร้างสรรค์เหมือนกรณีนี้ตลอดไป
5) และถ้าย้อนไปตรวจสอบดู จะพบว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ปฏิรูปอุตสาหกรรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 โดยได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานที่ใช้พลังงานชีวมวล ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เนื่องจากจะทำให้ชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของใบและยอดอ้อย ทำให้ลดการเผาใบและยอดอ้อยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
6) เห็นวิธี “บริหาร” และ “จัดการ” ของรัฐมนตรีเอกนัฏกันไหมครับ ว่าเต็มไปด้วยความรอบคอบ คิดถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 แต่ก็คิดถึงโรงงาน คิดถึงเกษตรกร ควบคู่กันไปด้วย ก่อนจะหาวิธีบรรเทาและแก้ไขปัญหา โดยไม่เพิ่มปัญหาให้แก่ส่วนหนึ่งส่วนใดและที่น่าดีใจ คือ นโยบายของรัฐมนตรีได้รับการขับเคลื่อนจากข้าราชการอย่างเข้าใจ ทำให้มาตรการนี้ ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
7) และถ้าถอยไปอีก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 จะพบว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้ “ทีมตรวจการสุดซอย” ลงพื้นที่ตรวจโรงงานที่ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems) หรือ ระบบ CEMS กว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกกฎหมายคุมเข้มให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทต้องติดตั้งระบบ CEMS และรายงานข้อมูลการระบายมลพิษหลังการบำบัดแบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดเวลา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ประกอบกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบกำหนดวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2567/68 ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยโรงงานน้ำตาลเป็นโรงงานที่เข้าข่ายต้องติดตั้งระบบ CEMS จึงเป็นที่มาของการเปิดปฏิบัติการส่งทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่สุ่มตรวจเข้มโรงงานน้ำตาลที่มีสถิติรับอ้อยเผาไฟสะสมสูงตั้งแต่วันที่เปิดหีบเป็นต้นมา
ด้าน ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ทีมตรวจการสุดซอย” ของกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี ได้บูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานของบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาล ทีเอ็น จำกัด ภายหลังจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบจากโรงงานปล่อยควันดำและมีกลิ่นเหม็นจากการรั่วไหลของน้ำโมลาส ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีได้สั่งการให้บริษัททำการปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ดังนี้ 1) ให้ปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ และทำการตรวจสอบคุณภาพอากาศปลายปล่องที่ระบายออกให้มีค่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และ 2) ให้เร่งซ่อมแซมถังเก็บน้ำโมลาสและทำการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ
บริษัทฯ ขอขยายระยะเวลาในการปรับปรุงแก้ไขโรงงานเรื่อยมา จนในวันที่เข้าตรวจสอบ (25 ธ.ค.2567)บริษัทฯ ไม่สามารถแสดงผลการตรวจวัดค่าปริมาณสารเจือปนในอากาศได้ อีกทั้งปล่องระบายของระบบบำบัดมลพิษอากาศของโรงงานมีการเจาะจุดตรวจวัดที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ และพบว่าปล่องไม่มีบันไดสำหรับขึ้นไปดำเนินการตรวจวัดค่าปริมาณสารเจือปนในอากาศได้ พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีโดยไม่มีเหตุอันสมควร และอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานได้ และจากข้อมูลการผลิตอ้อยและน้ำตาลไทยของโรงงาน ปี 2567/2568 ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2567ของสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าโรงงานน้ำตาลแห่งนี้มีการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบสูงที่สุดกว่า 73.74% ของปริมาณอ้อยทั้งหมดที่รับเข้าหีบ
“เพื่อดูแลชาวบ้านโดยรอบโรงงานและคืนอากาศบริสุทธ์ให้ประชาชน และการกำกับดูแลโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้มาตรการเด็ดขาด สั่งการให้บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาล ทีเอ็น จำกัด จังหวัดลพบุรี หยุดประกอบกิจการโรงงานในทันที และให้ปรับปรุงจุดตรวจวัดของปล่องระบายของระบบบำบัดมลพิษอากาศ พร้อมทั้งดำเนินการตรวจวัดวิเคราะห์ค่ามลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ภายในวันที่ 31 มกราคม 2568 ย้ำ!!! บริษัทฯ ต้องปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จึงจะอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการต่อไปได้”
สรุป : ด้วยการรู้จักบริหารอำนาจที่มีด้วยความจริงจังตั้งใจของรัฐมนตรี ด้วยความเฉียบขาดของ “ทีมตรวจการสุดซอย” ประสิทธิภาพอันหมายถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจึงเกิดขึ้น
ดีใจไหม ที่เราได้รัฐมนตรีดีๆ มาทำงานตรงนี้เป็นรัฐมนตรีที่มี “ค่าหัว” ถ้าเป็น “รัฐมนตรีโจร” ป่านนี้ “ตบทรัพย์” เรียก “ค่าหัวคิว” จากโรงงานพวกนี้ และโรงงานอื่นๆ รวยเละไปแล้ว !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี