ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในปีนี้ ถูกระบุว่าเป็นปัญหาวิกฤตของสังคมไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ได้ถูกระบุว่าติดอันดับเมืองที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 หนักมากจนติดอันดับ 8 ของโลก โดยกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ ได้อันดับ 1 ของเมืองที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 มากที่สุดในโลก
ถามว่าทำไมกรุงเทพฯ จึงมีฝุ่นพิษ PM2.5 มากจนติดอันดับโลก ตอบว่า เพราะกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรติดขัดมาก แต่หากจะถามต่อไปว่า เมื่อดูปัญหาจราจร
ติดขัดในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย หรือปัญหาจราจรในกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่ามีปัญหาไม่น่าจะน้อยกว่ากรุงเทพฯ แล้วทำไมกรุงจาการ์ตา และกรุงโตเกียวไม่ติดอันดับเมืองที่มีปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ติดอันดับโลก
เมื่อฟังจากปากคำของปลัดกรุงเทพฯ วันทนีย์ วัฒนะ บอกว่าต้นกำเนิดของฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เมื่อปลัดกรุงเทพฯ บอกเช่นนี้ก็จึงมีคำถามจากชาวกรุงเทพฯ ว่าเมื่อรู้ต้นเหตุแล้ว ทำไมยังปล่อยให้เกิดปัญหาได้ทุกปี
ทางการพยายามบอกกล่าวให้ประชาชนรู้ว่าฝุ่นพิษ PM2.5 คือปัญหาใหญ่ที่เป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพของระบบทางเดินหายใจของคนทุกคน โดยเฉพาะเด็กและคนสูงอายุ แต่ถามว่า เมื่อทางการของไทยรู้ถึงพิษภัยของมันแล้ว ทำไมจึงไม่สามารถแก้หรือกำจัดปัญหาได้
สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารกรุงเทพฯ พยายามบอกชาวกรุงเทพฯ คือ ขอให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่คำถามคือมันจะไปลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาล (ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ออกนโยบายรถยนต์คันแรกแล้วที่มากกว่านั้นคือ ทางการไม่เคยเอาจริงเอาจังกับปัญหาควันดำ ควันขาว ที่ถูกปล่อยจากรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถเมล์ของ ขสมก.
น่าสมเพชที่รัฐบาลพยายามสร้างนโยบายรถยนต์คันแรก แต่กทม. บอกว่าให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ถามว่ารัฐบาลกับกทม. พูดภาษาเดียวกันหรือไม่ หรือว่าอยู่กันคนละโลก เมื่ออยู่กันคนละโลก ก็จึงพูดกันคนละเรื่องแล้วสื่อสารกันไปคนละทิศละทาง จนในที่สุดพูดกันไม่รู้เรื่อง
ครั้นกลับไปฟังคำอ้างของโฆษก กทม. (เอกวรัญญู อัมระปาล) ในช่วง 5 กุมภาพันธ์ 2567 (ซึ่งก็เป็นยุคเดียวกับผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนปัจจุบัน คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ก็ได้ยินคำว่าต้นเหตุของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากการเผาป่าจากประเทศรอบๆ ประเทศไทย
เมื่อนำคำพูดของโฆษกกรุงเทพฯ มาเปรียบเทียบกับคำพูดของปลัดกรุงเทพฯ จึงทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วต้นเหตุของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ โฆษกกรุงเทพฯ กับปลัดกรุงเทพฯ พูดต้นตอปัญหา PM2.5 ไปคนละทิศละทาง เมื่อแต่ละคนเข้าใจต้นตอของปัญหาคนละเรื่อง ก็จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ได้
ในขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหา PM2.5 ได้แต่ประชาชนต้องเผชิญกับฝุ่นพิษต่อไปทุกวัน เพราะฉะนั้น ประชาชนก็ต้องพยายามดูแลป้องกันไม่ให้ฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกายของตนเองให้ได้ ส่วนจะป้องกันอย่างไร ก็ต้องศึกษาหาความรู้กันต่อไป เพราะบางคนสวมหน้ากากอนามัยแบบ surgical mask เท่านั้น แต่ทางการแพทย์บอกว่าหน้ากากชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันหรือดัก PM2.5 ได้แต่หากจะใช้ mask ที่ป้องกัน PM2.5 ได้ผล ก็ต้องเป็นหน้ากากชนิด N95 แต่ชาวบ้านก็บอกว่าหน้ากาก N95 มีราคาแพง ไม่สามารถหาซื้อเพื่อใช้ได้ทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ PM2.5 คือต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บที่จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และส่งผลกระทบไปถึงสมอง หัวใจ ปอด ดวงตา จมูก ปาก และผิวหนัง
และหลายคนที่ศึกษาเรื่อง PM2.5 ก็ต้องทราบแล้วว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 คือฝุ่นละอองมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และด้วยขนาดที่เล็กมากเช่นนี้ จึงสามารถหลุดรอดการกรองของขนจมูก แล้วผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ แล้วเข้าไปยังถุงลมฝอยแล้วยังสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปถึงหลอดเลือดฝอย แล้วเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงทำให้เกิดโรคต่างๆ ในหลายระบบต่างๆ ของร่างกายของคนและสัตว์
ส่วนสาเหตุทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 คือ
การเผาต่างๆ ในระบบเปิด เช่น ไฟป่า การเผาขยะ การเผาเพื่อทำการเกษตรในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย และเผาวัชพืช
ควันที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และฝุ่นจากการก่อสร้าง
การขนส่งและคมนาคม เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาให้ทำงานอย่างดี รวมถึงควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากอากาศยาน
การผลิตไฟฟ้า เช่น การเผาเชื้อเพลิงปิโตรเลียม และถ่านหิน
จากกิจวัตรต่างๆ ของมนุษย์ เช่น สูบบุหรี่ จุดธูปเทียน เผากระดาษไหว้เจ้า และจากการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร
ขอย้ำว่าเพราะอนุภาคที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นละอองพิษ PM2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด และบางอนุภาคยังเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไหลเวียนไปทั่วร่างกาย จึงก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย
การสัมผัส PM2.5 ในระยะสั้น จะก่อให้เกิดปัญหา
ทางเดินหายใจอักเสบ หายใจลำบาก แสบจมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก ถุงลมแฟบ สมรรถภาพปอดลดลง ภูมิแพ้และหืดกำเริบ
ทำลายภูมิคุ้มกัน เกิดการติดเชื้อในปอด และทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่, หลอดลมอักเสบ,หูอักเสบ
ส่งผลให้พัฒนาการในเด็กล่าช้า
ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้มีบุตรยาก
การสัมผัส PM2.5 ในระยะยาว ก่อให้เกิดปัญหา
โรคมะเร็งปอด
การอักเสบของเส้นเลือด อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
โรคทางผิวหนังหรือ ตาอักเสบ
ผิวมีจุดด่างดำและรอยย่น ดูแก่กว่าวัย
กลุ่มคนที่เสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษ
เด็ก อาจกล่าวได้ว่ายิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ฝุ่นพิษในอากาศที่สามารถเข้าสู่ระทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่ายจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่างๆ หรือทำให้เกิดโรคร้ายแรงในที่สุด
หญิงมีครรภ์ นอกจากภัยร้ายส่งผลต่อตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูดฝุ่นละอองโดยตรงแล้ว ทารกในครรภ์ยังเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน มีการศึกษาพบว่ามลพิษในอากาศมีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงแท้งบุตร และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้
ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะเริ่มเสื่อมถอย ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง หากต้องเผชิญกับฝุ่นละออง อาจมี
แนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหอบหืด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่นพิษให้มากที่สุด
ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่างๆ การสูดฝุ่นผงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงส่งผลให้โรคกำเริบ อาจถึงกับชีวิตได้
การป้องกัน PM2.5
ต้องติดตามรายงานสภาพอากาศและระดับPM2.5 อย่างสม่ำเสมอ
ภายในบ้านหรืออาคารควรใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้
สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องออกจากบ้านหรืออาคาร
สวมแว่นกันลม กันฝุ่น สวมเสื้อแขนยาวมิดชิด
ลดเวลาการอยู่นอกบ้าน/อาคาร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ PM 5 สูง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชราผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง
หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง
และต้องสวมหน้ากากให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM2.5 ต้องใส่ให้ถูกวิธีและกระชับกับใบหน้าของผู้สวมใส่ด้วย
ขอบคุณ ข้อมูลด้านการป้องกัน PM2.5จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่นกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี