ชัดเจนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เป็นที่หมายปองของฝ่ายการเมือง
เพราะนี่คือขุมอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่หากกดปุ่มสั่งซ้ายขวาได้ ก็จะเข้าถึงแหล่งเงินมหาศาล ทั้งจากทุนสำรองฯ และการบริหารอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ
และไม่ใช่แค่ตำแหน่งประธานกรรมการเท่านั้น ยังมีตำแหน่งสำคัญ คือผู้ว่าการแบงก์ชาติด้วย
1.ผู้ว่าการ ธปท. (รองประธานบอร์ด) ทำหน้าที่ประธานไปก่อน
หลังจากที่นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานบอร์ด ธปท. ครบวาระในการดำรงตำแหน่ง และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานฯต่อไปได้อีก
ถึงวันนี้ ครบ 120 วันแล้ว ยังไม่มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่เพราะยังสรรหาไม่สำเร็จ
คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาข้อหารือของ ธปท. ว่า คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงว่า ภายหลังวันที่ 9 ม.ค.2568 นาย ป. (นายปรเมธี) ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท.ซึ่งดำรงตำแหน่งจนครบวาระ ต้องพ้นจากตำแหน่งและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ด้วยเหตุที่ล่วงพ้นระยะเวลา 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ครบตามมาตรา 19 วรรคสาม ประกอบมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ และยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการฯขึ้นใหม่ กับยังคงมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น คณะกรรมการ ธปท. ย่อมประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 19 วรรคสี่ประกอบมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. สามารถเป็นประธานในที่ประชุม และออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียงเป็นเสียงชี้ขาดในกรณีที่การวินิจฉัยของที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากัน รวมทั้งเป็นผู้ลงนามในเอกสาร เช่น รายงานประจำปีของคณะกรรมการ ธปท.ได้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ที่มีเจตนารมณ์ที่จะให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท.เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อำนาจในการลงนามในเอกสารของผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการ ธปท. นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีว่าเป็นการลงนามในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. หรือเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานกรรมการฯ โดยเฉพาะ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือมติของคณะกรรมการ ธปท. ที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างไร หากเป็นกรณีที่ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการ ธปท. ก็ย่อมมีมติให้ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ลงนามในเอกสารนั้นได้
2.ขณะนี้ คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.
หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.
3. แนวบรรทัดฐานการวินิจฉัยกรณีนายกิตติรัตน์
ไม่ใช่ว่า มีตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ แล้วเข้าลักษณะต้องห้ามเลยโดยทันที
แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ชัดว่า ดูที่มาของการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง มีเหตุผลหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือไม่
นอกจากนี้ ยังต้องดูข้อเท็จจริงว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ มิได้มีหน้าที่และอำนาจเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญด้วย
ดังเช่นการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและแต่งตั้งให้นายกิตติรัตน์เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 316/2566 ซึ่งนโยบายการแก้ไขหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองเพื่อไทยใช้ในการหาเสียง ตลอดจนเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงต่อรัฐสภาด้วย
ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เพราะได้รับการแต่งตั้งมาโดยเหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมืองและมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองและของรัฐบาล
ด้วยเหตุดังกล่าว นายกิตติรัตน์จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 18 (4) ประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฯ
4.รายงานข่าวระบุว่า รายชื่อที่ถูกเสนอเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ขณะนี้มีสองรายชื่อ ได้แก่
1.นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตเลขาสภาพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีคมนาคม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลลุงตู่
และ 2.ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งสองรายชื่อนี้ น่าสนใจมาก
นับว่ามีคุณสมบัติ ความเหมาะสม น่าเชื่อถือ ไม่มีประวัติด่างพร้อยทั้งคู่
แทบจะเรียกว่า ใครก็ได้
ถ้าได้คนใดคนหนึ่งจาก 2 ท่านนี้ มาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ถือว่า แบงก์ชาติยังรักษาสถานะความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง พรรคการเมืองได้ต่อไป
5.ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คนปัจจุบัน จะครบวาระวันที่ 30 กันยายน 2568
เกิดกระแสข่าว รายชื่อที่น่าจับตา ว่าจะเป็นแคนดิเดตผู้ว่าการแบงก์ชาติคนต่อไป ดังนี้
(1) นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธปท. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน
คนนี้ ถือเป็นคนใน ธปท.เอง จบปริญาตรีเศรษฐศาสตร์จาก Harvard และจบระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือ MIT เข้ามาเติบโตในสายงานธปท.อย่างรวดเร็ว จนดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ และเคยเป็นบอร์ดกนง.ด้วย
มีจุดแข็งตรงที่เป็นคนในแบงก์ชาติเอง
(2) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์
คนนี้ ทำงานสายการคลัง จบปริญญาเอกด้านเศรฐศาสตร์จากแคลร์มอนต์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากอิลลินอยส์
เคยดำรงตำแหน่ง อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป เป็น Senior Advisor ของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง และเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีสรรพสามิต และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์
มีจุดแข็งที่ประสบการณ์ ความรู้ เคยผ่านงานดูแลกลไกเศรษฐกิจประเทศ และไม่มีประวัติด่างพร้อย
(3) น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ (เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง)
คนนี้ จบปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์จาก MIT จบปริญาตรี ปริญญาตรีคณิตศาสตร์ จาก Harvard เคยทำงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยเป็นหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ความเสี่ยง เป็นผู้บริหารงานธนาคารไทยพาณิชย์ และจากนั้นอออกไปก่อตั้ง บริษัท อบาคัส ดิจิทัล
สุดท้าย น่าสนใจว่า ตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ จะเป็นใคร?
อันที่จริง ดร.เศรษฐพุฒิ ก็ยังสามารถเป็นได้อีกสมัย
แต่ฝ่ายการเมืองรัฐบาลปัจจุบัน คงไม่สนับสนุน เพราะสั่งไม่ได้
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า ใครเข้ามาเป็นผู้ว่าการ ธปท. นั่นจะเป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนความน่าเชื่อถือของการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเสมือนกระแสเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย ว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นมืออาชีพ หรือเป็นการยึดกุมของฝ่ายการเมือง นำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ในเมื่อระบบการเงินเป็นเหมือนกระแสโลหิตของระบบเศรษฐกิจ ลองคิดดูถ้าคนติดเชื้อในกระแสโลหิตเสียแล้ว สภาพจะเป็นอย่างไร
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี