สัปดาห์ที่แล้วเขียนถึง…การใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล ด้วยการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้รอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราวของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา อันนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ ซึ่งถือเป็นการทำรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕....
ภายหลังนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกนอกประเทศไปฝรั่งเศส ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขุนนางเก่าของพระยามโนปรณ์นิติธาดากับกลุ่มคณะราษฎรสายพระยาพหลพลพยุหเสนามีแนวโน้มแสดงให้เห็นว่ากลุ่มพระยามโนปกรณ์ฯ กำลังจะมีอิทธิพลเหนือกลุ่มคณะราษฎร ดังนั้นจึงทำให้พระยาพหลฯตัดสินใจเป็นหัวหน้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ออกแถลงการณ์ถึงสาเหตุของการทำรัฐประหารไว้๒ ประการ คือ
ประการแรก คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินทำไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารจึงต้องดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
ประการที่สอง การทำรัฐประหารครั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย
ในวันเดียวกัน พระยาพหลฯ มีหนังสือกราบทูล รัชกาลที่ ๗ ที่ประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล เรื่องการยึดอำนาจให้ทรงทราบว่ามีความประสงค์ที่จะเปิดสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็ทรงอนุญาต และต่อมามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ โดยมีคำปรารภของพระราชบัญญัตินี้ว่า.......
“โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า โดยที่คณะรัฐมนตรี มีมหาอำมาตย์โทพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายคำปรึกษาให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ และรับสนองพระบรมราชโองการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยมิได้อาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญประการใด ซึ่งทำให้เสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ....”
นั้นเป็นครั้งแรกของการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉลในวันประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ยังมีรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่เข้าข่ายเป็น Fake Law คือ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี ๒๔๙๐ หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม” รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลพวงมาจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีและมีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูงมากฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และนำรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี ๒๔๙๐ ออกมาใช้เป็นการชั่วคราว ซึ่งหลวงกาจสงคราม (พ.อ.กาจกาจสงคราม) หนึ่งในคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างและเตรียมซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำ ได้เป็นผู้นำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามเพื่อประกาศใช้ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
ความมัวหมองได้เกิดขึ้นกับ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี ๒๔๙๐ เมื่อ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เป็นผู้ลงนามแต่ผู้เดียว โดยพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกท่าน ไม่ได้ร่วมลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ การลงนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น สภาได้มีมติไว้ว่าการลงนามในหนังสือราชการ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องลงนามทั้ง ๒ ท่าน
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ลงตำแหน่งว่า “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ.....
ถ้ายังจำกันได้....ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ จอมพล ป. ได้อยู่ในสถานะต้องโทษอาชญากรสงครามและถูกควบคุมตัวอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพราะในช่วงสงคราม จอมพล ป.นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้นำไทยเข้าเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งท้ายที่สุดเป็นฝ่ายที่แพ้สงคราม โดยวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๘ จอมพล ป. ได้ถูกให้ออกจากประจำการและถูกจับกุมตัวในฐานะอดีตผู้นำรัฐบาลที่นำพาประเทศเข้าสู่มหาสงคราม
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจอมพล ป. แต่มิใช่ว่าด้วยเหตุผล จอมพล ป. ไม่ได้กระทำความผิด แต่เพราะจำเลยได้กระทำการก่อนพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๘ ดังนั้นจึงไม่สามารถลงโทษจอมพล ป. ตาม พ.ร.บ.อาชญากรสงครามได้อันเป็นไปตามหลักกฎหมายมีผลบังคับย้อนหลังไม่ได้หรือ nulla poena sine lege ในภาษาละติน หรือ “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ”
ภายหลังการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และกลุ่มทหารนอกราชการที่นิยม จอมพล ป. ยึดอำนาจสำเร็จ
ก็ได้เชิญจอมพล ป. ให้มาเป็นหัวหน้าคณะ โดยใช้ชื่อว่า คณะทหารแห่งชาติ และเนื่องจากคณะผู้นำรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการดังนั้นเพื่อการหลีกเลี่ยงมิให้กระทบกระเทือนต่อนายทหารประจำการ จึงได้สถาปนา กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ขึ้นมาใหม่ และแต่งตั้งให้จอมพล ป. ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย อันเป็นตำแหน่งที่ จอมพล ป. ใช้ในการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามใน รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี ๒๔๙๐ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เข้าข่ายเป็น Fake Law อีกหนึ่งฉบับในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ
ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี