เคยเขียนบทความลงแนวหน้า และเขียนเฟซบุ๊กส่วนตัวในหลายวาระว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าทำเนียบขาวครั้งนี้ เป็นผลดีกับประเทศไทยในแง่ความมั่นคง เนื่องจากว่าประธานาธิบดี ทรัมป์ ไม่ใช่คนบ้าเสรีประชาธิปไตย ทรัมป์ไม่คลั่งไคล้ไม่สนในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ปธน.ทรัมป์ เป็นพ่อค้าขวาจัด ที่มีนโยบายทำให้อเมริกาเป็นชาติยิ่งใหญ่อีกครา ด้วยวลีเด็ดที่ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ยังต้องทำตามสัญญาถาวรที่ว่า สหรัฐอเมริกากับอิสราเอลเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น เมื่อประธานาธิบดี ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งผู้บริหาร ที่ว่าด้วยการตัดเงินช่วยเหลือต่างประเทศทั่วโลก เขาจำเป็นต้องยกเว้น#อิสราเอลกับอียิปต์ ซึ่งยังคงช่วยเหลือสองประเทศนี้ต่อไป เพื่อประโยชน์ในภาคหน้าของอิสราเอลโดยตรง
ส่วนประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย อาจไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ในรูปพัฒนาประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การศึกษา และอื่นๆ อาจมีคำถามว่า ทรัมป์ตัดเงินช่วยเหลือแล้ว เป็นผลดีกับประเทศไทยอย่างไร ต้องทำความเข้าใจกับ ผู้รักประชาธิปไตย และคนไทยโลกสวยทั้งหลายว่า เงินที่รัฐบาลวอชิงตันช่วยเหลือนั้น ส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักวิชาการต่อต้านสถาบัน ตลอดถึงพรรคการเมืองเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
เงินสนับสนุนที่ภาคประชาสังคม และพรรคการเมืองได้รับจากองค์กรต่างๆ ในอเมริกาไม่ว่าจะเป็น NED (National Endowment for Democracy) หรือ CFR (Council Of ForeignRelation) ตลอดถึง มูลนิธิโอเพ่นโซไซตี้ ของ จอร์จโซรอส ส่วนใหญ่ภาคประชาสังคม และ เอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ นำมาใช้สร้างความวุ่นวายเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ลามปาม ไปคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนรวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ และศูนย์กลางของความมั่นคงในเวลาเดียวกัน
จึงไม่แปลกใจที่พอ ทรัมป์ ลงนามยกเลิกเงินช่วยเหลือต่างชาติ ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ตลอดถึง สส.ในสภาออกมาโวยวายว่า ทรัมป์ตัดเงินช่วยเหลือเดือดร้อนไปถึงชาวเมียนมา 80,000 กว่าคนที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวมานานหลายสิบปีแล้ว
สส.กัณวีร์ สืบแสง ถึงกับอภิปรายในสภาว่า “วันนี้ผมขอหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ด้านความหลากหลายความเท่าเทียม และผสมกลมกลืน ซึ่งนโยบายนี้กระทบค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งที่อยู่ในประเทศไทย จากการเปลี่ยนนโยบาย ทำให้เงินบริจาคจากต่างประเทศถูกระงับลง โดยรัฐบาลทรัมป์ ที่บริจาคให้องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศในค่ายผู้ลี้ภัยได้ถูกระงับลง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
ผลกระทบจะหนักกว่านี้ เพราะในไทยเรามี9 แห่ง เราเห็นว่า เป็นผู้ลี้ภัยสัญชาติเมียนมาก็จริง แต่ถ้าหนักกว่านี้หากการช่วยเหลือถูกตัดลง จะทำให้คนกว่า 80,000 คน ต้องออกมาข้างนอก และกระทบต่อประชาชนคนไทย
อยากให้นึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่พวกเขาต้องแบมือขอมากว่า 40 กว่าปี รอเงินบริจาคต่างๆดังนั้น ไทยเราต้องเปลี่ยนแปลง ถือโอกาสตรงนี้ ทำให้เราสามารถทำให้งานมนุษยธรรม ยืนด้วยขาตัวเองได้
ผมจึงขอให้นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงนโยบายในการดูแลผู้ลี้ภัย การดูแลค่ายผู้ลี้ภัยทั้งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 แห่ง จังหวัดตาก 3 แห่งจังหวัดราชบุรี 1 แห่ง และ ขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มาตรา 17 ให้ผู้ลี้ภัย สามารถทำงานได้และอยู่ในไทยได้ชั่วคราว
และขอหารือไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อจะประกาศกฎกระทรวงออกมาให้ผู้ลี้ภัยทำงานได้ในไทยจนกว่าจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้
ถ้าเขาทำงานได้จะทำเงินภาษีให้ไทย ร่วมพัฒนาประเทศไทย และเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง ไม่เป็นภาระ ต้องเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังให้ได้ ทำให้ไทยเรามีบทบาทที่ดีในเวทีระหว่างประเทศได้
สส.กัณวีร์ ซึ่งอดีตเคยเป็นลูกจ้างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ ผู้อพยพสหประชาชาติ หรือ UNHCR ไม่ทราบว่า แกล้งโง่ หรือ โง่จริง ที่ไม่รู้ว่า เมียนมาไม่ใช่ผู้ลี้ภัย เนื่องจากประเทศไทยมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ซึ่งหมายถึงว่า ประเทศไทยไม่ยอมรับว่า มีผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศ
ประเทศไทยไม่มีค่ายผู้อพยพไม่มีค่ายลี้ภัยมีแต่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่อยู่ในความคุ้มครองของ UHCR มาสี่สิบกว่าปีแล้ว ดังนั้น การที่ สส.กัณวีร์ #ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้ พ.ร.บ.เข้าเมืองมาตรา 17 ให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำงานได้ และ อยู่ในไทยได้ชั่วคราว นั้นทำไม่ได้ เพราะมันจะทำลายความมั่นคงภายในของไทย คนพวกนี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย เป็นได้เพียงผู้พักพิงชั่วคราวอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ UHNCR
อนุสัญญาปี ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยเป็นเอกสารทางกฎหมายที่กำหนดการทำงานขั้นพื้นฐานของ UNHCR ลงนาม และให้สัตยาบันโดย 146 รัฐภาคี อนุสัญญาดังกล่าว กำหนดความหมายของคำว่า “ผู้ลี้ภัย” สิทธิของผู้ลี้ภัย ตลอดจนพันธกรณีของรัฐภาคีในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย
“หลักการไม่ผลักดันกลับ”อันเป็นหลักการพื้นฐานได้ยืนยันสิทธิของผู้ลี้ภัยที่จะต้องไม่ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศที่พวกเขาต้องเผชิญภัยร้ายแรงต่อชีวิต หรือ อิสรภาพ หลักการดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับและปฏิบัติเป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้วในปัจจุบัน
UNHCR ทำหน้าที่เสมือน ผู้คุ้มครองของอนุสัญญา ปี ค.ศ.1951 และ “พิธีสาร ปี ค.ศ.1967 ตามอนุสัญญาฯ นั้นรัฐภาคีมีพันธกรณีในการประสานงานกับ UNHCR เพื่อประกันว่าผู้ลี้ภัยได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิที่พักพิง
ระเบียบพิสดารพันลึกของ UNHCR นี่แหละที่ทำให้ประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ต้องรับภาระให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้(อยาก)ลี้ภัยหลายล้านคน ที่อยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวหลายประเทศ ผลักดันกลับไม่ได้ มันขัดกับหลักการประหลาดของ UHNCR
ระเบียบพิสดาร อีกข้อของ UHNCR คือผู้(อยาก)ลี้ภัยไปถึงประเทศไหน ให้ถือว่าประเทศนั้นเป็นประเทศแรกรับ ที่ต้องให้ที่พักพิงชั่วคราวจนกว่า UHNCR จะหาประเทศที่สามรับเป็นผู้ลี้ภัยไปตั้งรกรากในประเทศที่สามในฐานะผู้อพยพได้ ประเทศไทย จึงต้องให้ที่พักพิงชั่วคราวมนุษย์เรือเวียดนาม นับล้านคน ในทศวรรษ 2520 อยู่นานกว่ายี่สิบก่อนที่ UHNCR จะหาประเทศที่สามได้ และมนุษย์เรือเวียดนามยังตกค้างอยู่ในประเทศไทยมีอีกหลายหมื่นคน
เรือมนุษย์เวียดนามไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยฉันใดผู้(อยาก) ลี้ภัยชาวเมียนมา 80,000 คนที่ สส.กัณวีร์ พูดถึงก็เป็นฉันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงใช้มาตรา 17 ไม่ได้ จนกว่าประเทศไทยลงนามในอนุสัญญา ค.ศ.1951 ว่าด้วยผู้ลี้ภัยและหากประเทศไทยดันไปลงนามในอนุสัญญาที่ว่าประเทศไทยก็จะพบกับหายนะ ที่เรียกว่า “Shipหาย”
เนื่องจากว่า คนภายนอกส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ภาคประชาสังคม หน่วยบรรเทา เอ็นจีโอ ตลอดถึงลูกจ้าง UHNCR พยายามเสาะแสวงหาผู้พลัดถิ่น ผู้หนีจากภัยสงครามให้มาอยู่ในการคุ้มครองของพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะตัวเลขผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นอยู่ในคุ้มครองดูแลมากเท่าไหร่ ปัจจัยที่ทั่วโลกบริจาค ให้รวมทั้งเงินช่วยเหลือจากอเมริกาก็จะมากขึ้นตามตัวเลขของผู้(อยาก)ลี้ภัย และอยากกลายเป็น ผู้พลัดถิ่นในประเทศตัวเอง
ที่สำคัญประเทศตะวันตกยึดถืออเมริกาเป็นสรณะ ดังนั้น เมื่อทรัมป์ตัดเงินช่วยเหลือเงินบริจาคจากประเทศตะวันตกก็ลดลงหรือหมดไปโดยปริยาย นักการเมือง ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ จึงออกมาโวยวาย เพราะนโยบายของทรัมป์ ทำให้รายได้หลักพวกเขาหดหายไป
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี