ในช่วงระยะเวลาแรกเริ่มของการมีระบอบประชาธิปไตยไทยนั้น ประธานสภาฯและรองประธานสภาฯจะดำรงตำแหน่งเป็นปีๆ ไป ด้วยว่าข้อบังคับการประชุมกำหนดให้ “ประธานและรองประธานต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อเปิดสมัยประชุมสามัญทุกปี” แต่ในกรณีที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เนื่องจากพระยาพหลฯลาออกจากนายกรัฐมนตรี เมื่อกลับเข้ามาเป็น นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จึงได้ตั้งรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลใหม่นี่เองที่ไปเอาตัวประธานคนเดิมคือพระยาศรยุทธเสนี มาเป็นรัฐมนตรี ทำให้ท่านพ้นจากตำแหน่งประธานสภาฯ สภาฯจึงได้เลือกประธานสภาฯคนใหม่ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 และได้อดีตรัฐมนตรีคลัง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ มาเป็นประธานสภาฯ
ตามประวัติ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศท่านเป็นนักกฎหมาย เรียนจบโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมของไทย ได้เป็นเนติบัณฑิตไทยในปี 2448 ความที่เป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง จึงได้ทุนกระทรวงยุติธรรมไปเรียนกฎหมายต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ สำนักเกรย์อิน เรียนจบแล้วกลับเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในปี 2453 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจินดาภิรมย์ ท่านทำงานเป็นตุลาการเจริญรุ่งเรืองมาจนได้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเมื่อพ.ศ. 2471 อีก 3 ปีต่อมา ในปี 2474 ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ขณะที่มีอายุได้เพียง 36 ปีเท่านั้นเอง นับว่าเป็นเจ้าพระยาที่มีอายุน้อยมากและเป็นเจ้าพระยาคนสุดท้ายของแผ่นดินสยามด้วย เพราะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯแล้ว ไม่ได้มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์อีกเลย ดูจากประวัติแล้วนับว่าเป็นบุคคลที่เหมาะที่จะเป็นประธานสภาฯอยู่ค่อนข้างมาก ด้วยเป็นผู้ที่รอบรู้กฎหมายเป็นอย่างดี
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นครั้งแรกในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 หลังจากนั้นไม่กี่วัน เมื่อพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ พระยาพหลฯก็เอาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเจ้าพระยาศรีฯ ก็เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของพระยาพหลฯมาจนกระทั่งพระยาพหลฯลาออกจากนายกรัฐมนตรีภายหลังจากการแพ้เสียงในสภาฯ เพราะไม่ได้รับสัตยาบันสัญญาโควตาขายยางเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 เจ้าพระยาศรีฯขึ้นเป็นประธานสภาฯควบคุมดูแลการประชุมสภาฯ ผ่านมาได้อย่างเรียบร้อยประมาณ 3 เดือน จนปิดสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้นเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2477 สภาฯก็เลือกท่านให้เป็นประธานสภาฯ สืบต่อมา แม้ว่าในขณะนั้นท่านไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแต่เดินทางไปปฏิบัติงานสำคัญอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่านเป็นบุคคลที่ทางรัฐบาลส่งไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อกราบบังคมทูลฯความทางด้านรัฐบาลต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในตอนนั้นได้มีความเห็นขัดแย้งกับฝ่ายทางรัฐบาลอยู่โดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศทำหน้าที่เสมือนตัวเชื่อมนั่นเอง ทางรัฐบาลขอให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศเป็นผู้เดินทางไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เพราะ
“ผู้ที่ควรไปเฝ้า ก็ควรเลือกผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักดีและไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งควรจะเป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิในวิชาการและหลักราชการ”
ทั้งนี้ คณะผู้แทนรัฐบาลที่มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นหัวหน้าคณะ ได้เดินทางไปถึงกรุงลอนดอน ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 และได้อยู่ทำหน้าที่จนกระทั่งถึงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ เจ้าพระยาศรีฯ ได้เป็นผู้ส่งโทรเลขแจ้งรัฐบาล ท่านปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลาเกือบห้าเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดประชุมสภาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478 ทางสภาฯก็ยังได้เลือกเจ้าพระยาศรีฯให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อมา จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 รวมทั้งหมด 3 วาระ
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี