ประเทศไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมจนถึงขั้นส่งออกไปขายต่างประเทศได้ และในกรอบอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ (การประกอบและผลิตชิ้นส่วน) ถือเป็นแกนหลักอันหนึ่ง โดยมีการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ของโลกจากประเทศชั้นนำ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน
แต่มาบัดนี้ ประชาคมโลกได้วิตกกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) และเห็นพ้องต้องกันว่า สาเหตุสำคัญอันหนึ่งคือ การใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการขับเคลื่อนยานยนต์ ซึ่งในการนี้ ประชาคมโลกมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องกำหนดให้ลดการใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ต้องปรับตัวกันอย่างเร่งด่วน
เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงระยะแรก นั่นคือการหันไปผลิตยานยนต์แบบไฮบริด ผสมผสานการใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิงสันดาปกับระบบไฟฟ้า โดยแนวโน้มต่อไปก็คือ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าล้วน (Electric Vehicle – EV) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มบริษัทเทสลา เป็นตัวริเริ่มนำพา แต่ในระยะหลัง จีนนั้นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว จนผลิตได้มากที่สุด มีราคาถูก สามารถครองตลาดโลกได้ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต้องเร่งพละกำลังในการไล่ตาม แม้กระทั่ง
นอร์เวย์ที่เดิมมิได้เป็นประเทศผลิตยานยนต์ ก็ยังต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือสถานีบริการไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ EV กันอย่างกว้างขวาง
สำหรับประเทศไทยเรานั้นยังไม่เห็นการหารือกันอย่างแน่ชัด จริงจัง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตต่างๆ ว่า จะทำอย่างไรกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปเดิม ที่เป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมส่งออกไทย ในขณะที่ผลกระทบในเชิงลบก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การผลิต การจำหน่ายภายในประเทศ และการส่งออกได้ลดลงเป็นลำดับ ขณะที่การนำเข้ายานยนต์ EV โดยเฉพาะจากจีนก็ได้ขยายยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยแต้มต่อ คือการลดภาษีต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้ยานยนต์ EV มากขึ้น เพื่อไปด้วยกับกระแสการลดปัญหาสภาวะโลกร้อน
ในการที่ฝ่ายไทยจะตัดสินใจเลือกแนวทางไหนให้แน่ชัด ก็มีปัจจัยที่จะต้องคำนึงหลายประการ
คือ
1.ช่างไทยแม้จะมีฝีไม้ลายมือ สามารถเรียนรู้ ปรับตัวได้ง่าย และรวดเร็วเป็นที่ประจักษ์ก็จริง แต่เทคโนโลยีรถยนต์ EV กับรถยนต์สันดาปนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง เรียกว่าแทบจะต้องเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมด การจะถ่ายโอนอย่างรวดเร็วนั้น เป็นไปไม่ได้เลยหากขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
2.โรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ มีประสบการณ์ มีขีดความสามารถ แม้จะอยู่ในวิสัยที่จะปรับตัวจากการผลิตชิ้นส่วนเพื่อรถสันดาปเดิม ไปเป็นชิ้นส่วนรถ EV นั้น
จำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องมีการเจรจาการถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐ กับนักลงทุนต่างชาติให้ชัดเจน นอกจากนั้น ถ้ายังคิดจะหากินกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์กันต่อไป เราจะต้องเตรียมทรัพยากรแรงงานของเราให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอื่นๆ ที่กำลังจะมาในอนาคตหลังจากรถยนต์ EV ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น รถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากพลังแสงอาทิตย์ พลังงานปรมาณู ซึ่งแม้จะอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ค้นคว้า และพัฒนาอีกสักพัก แต่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
3.ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่จะใช้เชื้อเพลิงประเภทใดในอนาคต ไทยก็ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิเกิลลิเธียม และโคบอลท์ อีกทั้งไทยก็ต้องพึ่งพาองค์ความรู้จากต่างประเทศ ในการนี้ พูดได้ว่าไทยเราไม่มีความได้เปรียบใดๆ ทั้งในเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติ และเทคโนโลยีต่างๆ เว้นแต่เพียงในเรื่องพลังงานชีวภาพ (Bio-fuel) ที่เราพอมีพื้นฐานที่จะต่อยอดได้บ้าง ดังนั้น พลังงานชีวภาพจึงน่าจะเป็นทางออกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เพราะเรามีทรัพยากรของเราเอง คือพืชต่างๆ หลากหลายชนิด และสามารถผลิตได้อย่างมากมายมหาศาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงประสบความสำเร็จในโครงการวิจัย และทดลองใช้ประโยชน์จากพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน ให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว และฉะนั้นถ้าไทยคิดจะพึ่งตนเองและคงอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ ก็ต้องมุ่งไปในทิศทางของชีวภาพเป็นสำคัญ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวางเพื่อหาข้อยุติ
4.อีกมุมมองหนึ่งก็คือ ประเทศไทยอาจจะต้องเลิกดึงดันในการทุ่มไปกับการทำอุตสาหกรรมยานยนต์ และหันเหตนเองไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ (Circular) แทน
ในการนี้ก็หวังว่าสภาอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีสำนักงานส่งเสริมการลงทุนอยู่ในสังกัด และสถาบันวิชาการทางด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ จะร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน ด้วยความกระตือรือร้นเอาจริงเอาจัง มิเช่นนั้น เราจะกลายเป็นประเทศที่มีแต่อุตสาหกรรมที่กำลังถูกละทิ้ง และไม่มีอนาคต ไม่สามารถสู้กับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงในอนาคต
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี