ในช่วงการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 47 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. คำว่า “บ้านใหญ่”ได้ถูกนำมาใช้เพื่อทำนายและวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กันอย่างมาก ต่อมาอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊ก (Facebook) เรื่อง “บ้านใหญ่” คืออะไร? เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยจัดหลักเกณฑ์ในการเป็น “บ้านใหญ่” ไว้สามประการ คือ
1. การสร้างฐานทางการเมืองและทำงานทางการเมืองแบบ “แบ่งสัมปทานอำนาจรัฐ”
2. การถ่ายโอนอำนาจการเมืองผ่านการสืบทอดทางสายโลหิต
3. การสวามิภักดิ์อำนาจนิยมที่อยู่เหนือกว่าตนเอง
รายละเอียดของสามเรื่องนี้ สามารถหาอ่านได้จากเฟซบุ๊กของอาจาย์ปิยบุตรหรือในคอลัมน์ เส้นใต้บรรทัด ของ คุณจิตกร บุษบา (แนวหน้า ฉบับวันพุธที่ 5 ก.พ. 2568)
แต่สำหรับคอลัมน์ปรีชา’ทัศน์วันนี้ อยากจะขอเสริมเพิ่มเติมเนื้อหาข้อแรก ในประเด็นเรื่องการสร้างฐานทางการเมืองของบ้านใหญ่ เพราะทำให้นึกย้อนหลังไปถึงพัฒนาการของบ้านใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ห้าสิบกว่าปีก่อน สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในช่วงปี 2512-2514
อันเริ่มขึ้นจาก....การเลือกตั้งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 เมื่อพรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้าพรรคชนะการเลือกตั้ง (76 คน) เป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง แม้จะได้จำนวน สส. ในจังหวัดพระนครทั้งหมด 15 คน แต่เมื่อรวมทั้งประเทศแล้วก็ได้เพียง 57 คน
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2511 มีบทบัญญัติที่ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นบรรดาคณะรัฐมนตรีของจอมพลถนอมจึงเต็มไปด้วยชนชั้นนำและข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะจากฝ่ายทหาร
การห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นรัฐมนตรีได้สะสมความไม่พอใจและก่อความคุกรุ่นขึ้นในพรรคสหประชาไทยจนนำไปสู่การสร้างแรงกดดันต่างๆ ให้กับรัฐบาล เมื่อ สส.พรรคสหประชาไทยพยายามเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อแลกกับการยกมือสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด รัฐบาลจอมพลถนอมจึงต้องเสนอผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับ สส.ของพรรคอยู่เป็นระยะๆ
เริ่มจาก การจัดสรรงบประมาณให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครัฐบาล หรือกล่าวอีกในนัยหนึ่งก็คือ จัดสรรให้ สส. มี“งบพัฒนาจังหวัด” คนละ 300,000 บาท ในปีงบประมาณ 2513
อย่างไรก็ดี งบพัฒนาจังหวัด หรือที่เรียกกันว่า “งบ สส.” ในเวลาต่อมานั้น ได้ถูกจัดสรรให้เฉพาะ สส.ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นหาก สส. อิสระ (รธน. 2511 มีบทบัญญัติอนุญาตให้ สส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง) จะได้รับงบดังกล่าวนี้ ก็ต่อเมื่อต้องมีการอภิปรายสนับสนุนรัฐบาล รวมไปถึงต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทั้งในและนอกสภาอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ในเวลาไม่นานนัก สส. อิสระต่างก็ถูกมนตราของงบพัฒนาจังหวัดดูดเข้าไปสู่คอกสหประชาไทยเป็นจำนวนมาก อันทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมเสียงสนับสนุนในสภาไปได้ระยะเวลาหนึ่ง
แต่ก็เพียงไม่นาน เพราะผลประโยชน์และความโลภนั้นไม่ปรานีใคร ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ สส. พรรคสหประชาไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล กับ ฝ่ายบริหารที่มีหัวหน้าพรรคสหประชาไทยเป็นนายกรัฐมนตรีได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในการพิจารณากฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2514 อันเป็นความขัดแย้งในเรื่องงบพัฒนาจังหวัด โดย สส. พรรคสหประชาไทยกลุ่มหนึ่งต้องการแปรงบประมาณเพิ่มเพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดตนเอง ซึ่งจะทำให้ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
การเจรจาต่อรองผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารส่งผลให้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2514 กว่าจะผ่านสภาออกมาใช้ได้นั้น ต้องล่าช้าไปกว่ากำหนด เพราะคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรพยายามใช้อำนาจในการตัดงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆ แล้วนำส่วนที่ถูกตัดนี้ไปจัดสรรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ด้วยการผันงบประมาณลงไปสู่เขตเลือกตั้งและฐานที่มั่นทางการเมืองของตนเอง จนในที่สุดรัฐบาลจอมพลถนอมก็ต้องยินยอมเพิ่มงบพัฒนาจังหวัดขึ้นเป็นคนละ 1,000,000 บาทในงบประมาณปี 2514
ความขัดแย้งเรื่องงบประมาณดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงการพิจารณากฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2515 ด้วยสาเหตุเดิม...เมื่อ สส. พรรคสหประชาไทยต้องการเพิ่มงบประมาณพัฒนาจังหวัด เพื่อนำไปพัฒนาจังหวัดและเป็นการหาเสียงไปในตัว โดยมีข้อต่อรองว่า หากรัฐบาลไม่สนับสนุน ก็จะไม่สนับสนุนให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2515 ผ่านสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อเป็นเช่นนั้น...รัฐบาลจอมพลถนอมเห็นว่ามีทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอยู่สองทาง คือ การยุบสภาฯหรือ ไม่ก็ต้องยึดอำนาจ....วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมตัดสินเลือกวิธีที่สองด้วยการปฏิวัติยึดอำนาจตนเอง ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2511 หันไปใช้การปกครองระบอบเผด็จการที่ตัวเองมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยได้มีการจัดตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้น เพื่อใช้อำนาจแทนรัฐบาลและรัฐสภา โดยมีจอมพลถนอม เป็นประธานและมีกรรมการสภาบริหารคณะปฏิวัติอีก 15 คน
ภายหลังการทำรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2514 งบพัฒนาจังหวัด หรือ งบ สส.ก็หายไปจากกระบวนการจัดทำงบประมาณของไทยไปถึงแปดปี ก่อนที่จะฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในปี 2523.....(ยังมีต่อ)
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี