การเสียกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรสยามครั้งที่ ๒ ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ นั้น เป็นการเสียอิสรภาพของชาติที่มีการสูญเสียและสูญสิ้นอย่างมากมาย ปราสาท ราชวัง วัดวาอาราม บ้านเรือนของผู้คน ได้ถูกเผาและทำลายจนย่อยยับ
พระเจ้าตากซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้เข้ามาช่วยราชการในกรุงศรีอยุธยา ถึงแม้จะได้ทำการต่อสู้กับพม่าอย่างเข้มแข็ง แต่ก็เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะต้องพ่ายแพ้เป็นแน่ จึงตัดสินใจนำทหาร ประมาณ ๕๐๐ นาย พร้อมม้าศึกจำนวนหนึ่งหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไปรวบรวมไพร่พล และกลับมากู้ชาติคืนให้จงได้
พระองค์พร้อมไพร่พลได้ตีฝ่ากองกำลังของทัพพม่า โดยมุ่งไปสู่หัวเมืองภาคตะวันออก จนในที่สุดได้ตัดสินใจที่จะยึดเมืองจันทบูร เพื่อเป็นฐานที่ตั้งรวบรวมไพร่พลกลับมากอบกู้อิสรภาพให้จงได้ ซึ่งพระองค์ก็กระทำได้สำเร็จ ได้ตั้งอู่ต่อเรือที่จะใช้ในการรบ รวมทั้งยึดเรือสำเภาจีนที่มาค้าขายอยู่ในบริเวณนั้นบางส่วน ได้เรือรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๐๐ ลำ
พระองค์ได้ยกกำลังทางเรือจนมาถึงกรุงธนบุรี และล่องขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นที่พม่าให้สุกี้พระนายกองรักษาค่ายไว้จนแตก สุกี้ตายในที่รบ และถือว่าทัพของพระเจ้าตากได้มีชัยชนะต่อทัพของพม่า ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง ๗ เดือนหลังจากการเสียกรุง จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันกอบกู้เอกราชไทย
พระเจ้าตากได้พบว่ากรุงศรีอยุธยาถูกทำลายเสียหายเกินกว่าที่จะบูรณะกลับคืนมาได้ จึงตัดสินพระทัยเคลื่อนทัพกลับลงมาที่กรุงธนบุรี ตั้งราชธานีแห่งใหม่ขึ้นที่นี่ และได้กระทำพิธีปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ต่อมาได้มีการถวายพระราชสมัญญานามว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย
ในช่วงเวลานั้น ชาติไทยมีความยากจน ขัดสน ข้าวยากหมากแพง แต่ก็ยังต้องเตรียมพร้อมในการที่จะต้องต่อสู้กับทัพของพม่า รวมทั้งอาจจะมีการรุกรานจากเขมรด้วย ซึ่งในการรบนั้นเสบียงกรังถือเป็นของที่สำคัญยิ่ง และเสบียงของกองทัพที่สำคัญที่สุดในยุคนั้นคือข้าว ทำให้พระองค์ต้องระดมสรรพกำลังทั้งหลายมาทำนา เพื่อจะเก็บข้าวไว้เป็นเสบียงและเลี้ยงดูประชาชน แม้กระทั่งเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งถือว่าเป็นแม่ทัพคนสำคัญ ก็ยังต้องมาคุมทำนาในพื้นที่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ซึ่งเป็นทะเลตมที่กว้างขวางและเคยเป็นพื้นที่ป้องกันข้าศึกด้วย จนกระทั่งบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกรุงธนบุรีเริ่มมีการค้าขายกับต่างชาติ จึงทำให้ฐานะของบ้านเมืองดีขึ้น
ในรัชสมัยต่อมา ซึ่งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์นั้น อาณาจักรรัตนโกสินทร์ที่มีกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงยังคงเป็นเป้าหมายของพม่าในการที่เอาเป็นเมืองขึ้นให้จงได้จึงเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่เรียกว่าสงคราม ๙ ทัพ โดยสงครามครั้งนี้พม่าได้ยกทัพมาจากหลายทิศทาง ตั้งแต่ทิศเหนือที่ยกเข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เพื่อมาสมทบกับทัพที่มาจากด่านแม่ละเมาแม่สอด ทิศตะวันตกยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เป็นทัพหลวงของพระเจ้าปดุง ที่มีกำลังพลมากที่สุดถึง ๕๐,๐๐๐ นาย โดยมีทัพที่เข้ามาทางเมืองราชบุรีเข้ามาร่วมด้วย และทิศใต้ได้ยกเข้ามาตีเมืองนครศรีธรรมราช เมืองระนอง เพื่อจะขึ้นมารวมกับทัพหลวง รวมทั้งหมด ๙ ทัพนั้นมีกำลังพลมากกว่า ๑๔๐,๐๐๐ นาย ส่วนทัพของไทยนั้นรวบรวมกำลังพลได้เพียงแค่ ๗๐,๐๐๐ นาย
น้อยกว่าทัพของพม่าถึง ๒ เท่า
จากการที่มีกำลังรบน้อยกว่า ทัพไทยโดยสมเด็จพระอนุชาธิราช พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งได้รับคำสั่งให้ยกไปทางเมืองกาญจน์เพื่อตั้งรับทัพใหญ่ของพม่า จึงต้องใช้วิธีการรบโดยแบ่งทัพออกเป็นกองกำลังย่อย และยกเข้าตีตัดการลำเลียงเสบียงของกองทัพพม่า เพื่อให้กองทัพนั้นขาดเสบียงอาหาร การกระทำดังกล่าวหลายครั้ง ทำให้ทัพพม่าขาดแคลนเสบียงลงไปเรื่อยๆ และจากการถูกซุ่มโจมตีอยู่ตลอดเวลาจึงคิดว่ากองทัพไทยมีกำลังมากกว่า จนในที่สุดทัพของพม่าจึงเริ่มถอยร่นเนื่องจากขาดเสบียงอาหาร พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าผู้นำทัพสั่งให้ถอยทัพกลับในที่สุด
ในขณะที่ทัพพม่าทางด้านใต้ก็ถูกทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกไปโจมตีจนพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับทางเหนือ พญากาวิละเจ้าเมืองลำปางก็สามารถป้องกันทัพพม่าที่มาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือได้สำเร็จ ส่วนทัพพม่าที่เข้ามาทางด่านแม่ละเมา ถึงแม้จะสามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อ ทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วย จนในที่สุดทัพไทพก็เป็นฝ่ายมีชัยชนะเด็ดขาดในศึกสงคราม ๙ ทัพครั้งนี้ และหลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มารุกรานไทยอีกเลย
เสบียงอาหารจึงถือว่าเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการรบ ไม่ว่าการรบนั้นจะเป็นฝ่ายตั้งรับ ซึ่งหากตั้งรับอยู่ในที่และเสบียงหมด ก็ต้องพ่ายแพ้ เหมือนอย่างที่กรุงศรีอยุธยาต้องเสียอิสรภาพเพราะถูกทัพของพม่าล้อมอยู่นาน จนเสบียงหมด ทหารทั้งหลายไม่พร้อมที่จะต่อสู้อีกต่อไป หรือถ้าหากเป็นฝ่ายรุกคือยกทัพมารบจากดินแดนอื่นหากเป็นทัพที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เสบียงจำนวนมาก หากถูกตี ตัดการลำเลียงเสบียงอยู่ตลอดเวลาก็จะขาดแคลนเสบียงดังเช่นทัพของพระเจ้าปดุงที่ต้องพ่ายแพ้ในสงคราม ๙ ทัพ
ในอดีตจึงถือว่าเสบียงซึ่งหมายถึงอาหารที่เตรียมไว้ในระหว่างการสู้รบจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการที่จะเอาชนะศัตรูได้ แต่ปัจจุบันมียุทธปัจจัยอีกหลายอย่างซึ่งอาจจะมีบทบาทในการรบ แม้แต่น้ำมันหรือไฟฟ้าก็น่าจะนับรวม อยู่ในยุทธปัจจัยได้ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปัญหาชายแดนระหว่างประเทศไทย และพม่าในขณะนี้
การที่ประเทศพม่าได้เปิดทางให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งได้เข้าไปดำเนินกิจการบางอย่างที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าจะผิดกฎหมาย เช่นการเปิดบ่อนกาสิโน หรือการตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีพฤติกรรม หลอกลวงประชาชนที่อาจจะไม่มีความรู้หรือหลงกลให้โอนเงินเข้าไปยังบัญชีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยคาดว่ามีคนไทยที่ถูกหลอกโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไป แล้วนับล้านราย เสียเงินไปแล้วหลายร้อยล้านบาท
เนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้จะมีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทย โดยอาศัย ทั้งน้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า และอื่นๆ เพื่อให้ดำเนินกิจการได้ เมื่อมีคนไทยประสบปัญหาถูกหลอกลวงจำนวนมาก จึงเกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ มีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัดกระแสไฟฟ้าข้ามประเทศที่ รัฐบาลพม่าสั่งซื้อไปใช้ในบริเวณดังกล่าวเอง หรือที่บริษัทข้ามชาติและไม่ข้ามชาติที่รัฐบาล
พม่ามีใบรับรองให้สั่งซื้อได้โดยตรง แต่ได้เผื่อแผ่ไปให้พวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลายได้ใช้ รวมทั้งการตัดระบบการสื่อสารทางอินเตอร์เนตด้วยซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้กิจการของแก๊งเหล่านี้เริ่มประสบปัญหา
แต่ถึงอย่างไรก็เชื่อได้ว่าแก๊งเหล่านี้ต้องหาวิธีการที่จะหลอกคนไทยต่อไปจนได้ โดยเฉพาะหากข้าราชการไทยบางกลุ่มยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องไม่ลืมว่าการตัดกระแสไฟนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ และประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับแก๊งดังกล่าว และเรื่องที่ต้องระมัดระวังในลักษณะของมนุษยธรรม ก็คือโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยอยู่นั้นต้องได้รับผลกระทบในการรักษาผู้ป่วย ที่อาจจะต้องเสียชีวิตโดยที่ไม่สมควรก็เป็นได้ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างแน่นอน
ขณะนี้เริ่มมีปฏิกิริยาโต้ตอบจากทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านแล้วเช่นกัน จะมากหรือน้อยเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของการค้าขายชายแดน ส่วนผลกระทบด้านมนุษยธรรมนั้น ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องประสาน ชี้แจง และทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านให้ดีที่สุดด้วย อย่าให้การที่คนไทยถูกหลอกจนสูญเสียเงิน ซึ่งไม่ทำให้เพียงแต่ไทยต้องขาดรายได้จากการขายไฟฟ้า แต่ยังถูกประณามโดยอารยประเทศในเรื่องของการขาดจริยธรรมและมนุษยธรรมด้วย
การแก้ปัญหาต่างๆ นั้น โดยเฉพาะสิ่งที่อาจเกิดผลกระทบและความเสียหาย อย่างมาก จะต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงลงไปในระดับรากหญ้า ที่เรียกกันว่า root cause analysis ว่ามาจากสาเหตุอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ไม่ว่าจะเรื่องของคน สิ่งของ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นดังเช่นกรณีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงคนไทยอยู่ในขณะนี้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้น เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหาอย่างแท้จริงหรือไม่ คนในรัฐบาลน่าจะฉลาดพอที่จะทำเรื่องอย่างนี้ได้ และทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี