“เมืองไทย เมืองพุทธ”
“วัดไทยคือหัวใจของชุมชน”
“พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”
หลายๆ คนที่ได้อ่านน่าจะคุ้นชินกับชุดคำเหล่านี้ เพราะคนไทยกับศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาช้านานตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ศาสนาพุทธกับการมีอยู่ของวัดและพระสงฆ์เองก็มีบทบาทสำคัญที่เป็นศูนย์กลางดำรงชีวิตของคนไทยเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนาที่เผยแพร่หลักธรรมคำสอน การศึกษาให้กับคนในชุมชน หรือแม้กระทั่งการบริหารชุมชนร่วมกันกับวัด ถึงแม้ว่ายุคสมัยนี้เปลี่ยนไปจนบทบาทของวัดอาจจะเหลือแค่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเผยแพร่คำสอนของศาสนา แต่สัดส่วนชาวพุทธต่อศาสนาอื่นๆ มากกว่าร้อยละ 90 ของคนทั้งประเทศ ซึ่งไม่เกินจริง ถ้าจะบอกว่าเมืองไทย คือเมืองพุทธ
ศาสนาพุทธที่เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในอดีต แล้วย้อนกลับมาปัจจุบันนี้มีสิ่งที่น่าสนใจ คือทุกคนคงจะเห็นข่าวโกงต่างๆ ในวัดที่เกิดขึ้นโดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรงมามีส่วนร่วม เช่น ข่าวเจ้าอาวาสวัดดังแห่งหนึ่งยักยอกทรัพย์เงินบริจาคของวัดเป็นจำนวนหลายล้านเพื่อเอาไปช่วยสีกา พระโกงเงินสร้างตึกของวัดเป็นจำนวนหลักร้อยล้าน เพื่อเอาไปใช้หนี้พนันของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เคยเป็นข่าวดังและคนในประเทศไทยก็ให้ความสนใจ แล้วผมยังเชื่ออีกว่ายังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นในวัดอื่นๆ แต่ยังไม่ถูกนำเสนอออกมาเป็นข่าว แน่นอนว่าพฤติกรรมเหล่านี้สร้างความเสียหายหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการก่อสร้างที่ชาวบ้านมีความตั้งใจอนุโมทนาบุญในการบริจาค ความเชื่อมั่นที่มีต่อวัดรวมถึงการทำลายภาพลักษณ์ของศาสนาพุทธในประเทศไทย ปัญหาเหล่านี้มีปัจจัยที่คล้ายคลึงกันนั้นล้วนมาจาก “เงินบริจาค” ที่มาจากแรง “ศรัทธา” ของชาวบ้านบริจาคด้วยวิธีต่างๆ ในกรณีตัวอย่างมีทั้งการลักลอบขโมยเงินบริจาคจากตู้วัด การที่พระสงฆ์โอนเงินสร้างตึกเข้าบัญชีตัวเองแทนที่จะเป็นบัญชีวัด เป็นต้น ในแต่ละเคสข่าวที่เจอจำนวนเงินที่ถูกโกงนั้นเยอะมากเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักร้อยล้านได้เลย ไม่ได้บอกว่า พระสงฆ์มีเงินในบัญชีธนาคารส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องผิด เพราะว่าสมัยนี้ก็พระสงฆ์เองก็ถูกเชิญไปรับกิจนิมนต์ตามสถานที่ต่างๆ ตามที่ญาติโยมขอมา ซึ่งก็จะมีเงินบริจาคให้พระสงฆ์อยู่แล้วซึ่งก็ได้มีการปรับวิธีการปฏิบัติตรงให้สอดคล้องกับยุคสมัย อย่างไรก็ตามพระสงฆ์ก็ไม่ควรจับเงินโดยตรงก็ต้องมีไวยาวัจกรดูแลอีกทีเพราะว่าจะเป็นการละเมิดพระวินัยที่เรียกว่า “นิสสัคคิยปาจิตตีย์” เพราะอาจทำให้เกิดความยึดติดหรือเบี่ยงเบนจากการดำรงชีวิตแบบสมถะอย่างที่พระสงฆ์ควรจะเป็น
ว่าด้วยเรื่องแต้มบุญบาปประเด็นนี้น่าสนใจมาก ผมเคยเจอหนังสือสวดมนต์เล่มหนึ่งที่ในเล่มนั้นก็จะมีบทสวดต่างๆ ที่ใช้ประกอบพิธีในวัดตามปกติ สิ่งที่แตกต่าง คือ มีบทที่เขียนระบุพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดบุญและบาปโดยมีการระบุจำนวนแต้มบุญบาปไว้ว่าทำสิ่งนี้แล้วจะได้แต้มบุญบาปเท่าไหร่ เช่น เก็บขยะไปทิ้งได้ 3 บุญ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้ 200 บาป เป็นต้น ซึ่งในเล่มจริงๆ มีระบุพฤติกรรมไว้ละเอียดมาก ถ้าใครเคยได้อ่านบ้างก็มาแชร์กันได้นะครับ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” มันก็ควรจะเป็นแบบนี้ก็ถูกแล้วครับ แต่ทว่าสิ่งที่อยากชวนคิด คือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำอะไรบางอย่างเพื่อหวังได้บุญโดยไม่สนอะไรเลย เช่น เราปล่อยปลาที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เพื่อหวังเอาบุญแต่ทว่าปลาเหล่านั้นไปทำลายระบบนิเวศส่งผลต่อผลให้สัตว์น้ำตัวอื่นเดือดร้อนแบบนี้เราจะได้บุญหรือไม่ หรือการที่เวลาเราเข้าวัดมักจะมีการจับสัตว์มาขังเพื่อให้ชาวบ้านมาทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา ทั้งที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ในบ้านของมันอยู่ดีๆ แต่ต้องถูกจับมาขายเพื่อแลกให้กับคนที่มาทำบุญ คิดอีกทีแล้วดูเหมือนมันเป็นการหาผลประโยชน์โดยหวังพึ่งศรัทธาของคนหรือไม่
แก่นแท้ของศาสนาพุทธมีเพียงแค่เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ ผ่านหลักคำสอนต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทิ้งไว้ให้ปฏิบัติตาม ถ้าบอกตามความจริงคงเป็นไปได้ยากในยุคนี้ที่จะละกิเลสต่างๆ เพื่อให้บรรลุตามแก่นแท้ของศาสนา เนื่องจากทุกคนต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ซึ่งมีทฤษฎีจิตวิทยาสนับสนุนอยู่ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีโลโกเทอราพี (Logotherapy) ของแฟรงเคิล ที่มีใจความสำคัญว่า “คนที่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สามารถเผชิญความทุกข์ยากได้ดีกว่า” จริงๆ ทุกวันนี้ฟัง Podcast เกี่ยวกับการประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ก็ต้อง Podcast ที่ต้องมีเป้าหมายเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจให้ไปถึงเป้าหมายเช่นกัน เพราะฉะนั้นการที่คนนับถือศาสนาพุทธยึดติดเรื่องบุญบาปก็ไม่ใช่เรื่องผิดใหญ่โตอะไรเพียงแต่ว่า สิ่งนี้นั้นกลายมาเป็นช่องโหว่ที่ถูกนำมาใช้หาผลประโยชน์ต่างๆ ตามกรณีที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น ซึ่งขอออกตัวก่อนว่าการที่มีคนตั้งใจทำบุญไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ แค่ว่าอาจจะดูเพิ่มเติมว่าแรงบุญที่เราส่งไปมันเป็นยังไงต่อ อย่างกรณีโกงเงินค่าก่อสร้างตึกใหม่ในวัดที่ถูกจับได้เพราะโครงการที่ทำอยู่ถูกหยุดลงกะทันหันเป็นเดือน จนชาวบ้านสังเกตได้แล้วก็สืบกันจนรู้ความจริง
ในบทความนี้ไม่ได้โจมตีหรือกล่าวโทษพระสงฆ์หรือศาสนา เพียงหยิบตัวอย่างการโกงใกล้ตัวที่มีข่าวเกิดขึ้นบ่อยมากและมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก รวมถึงเสียภาพลักษณ์ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นต่อศาสนาเช่นกัน ซึ่งจะบอกว่าเรื่องที่ดีเกี่ยวกับศาสนาก็มีให้เล่าอยู่อีกมากมายแต่เพียงแค่ว่าศรัทธาหรือความตั้งใจดีของคนนั้นถูกนำมาใช้เพื่อหาผลประโยชน์ต่อนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าระเบียบการบริหารกิจกรรมในวัดควรเปิดโอกาสให้มีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและติดตามการดำเนินกิจกรรมภายในวัดด้วย เพื่อให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีการดำเนินงานที่โปร่งใส ชาวบ้านสามารถเข้ามาติดตามได้ แล้วผมคิดว่า สิ่งนี้จะเป็นกลไกที่ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการโกงเงินวัด และเมื่อไม่มีช่องโหว่ให้โกง ก็จะไม่มีใครที่จะมาหาผลประโยชน์จากส่วนนี้ได้ เราชาวพุทธจะทำบุญกันอย่างสบายใจและส่งความตั้งใจที่ทำบุญไปนั้นเกิดผลบุญจริงๆ
ฐากร สีใสภูวเดช
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี