วันนี้ ที่ประชุมรัฐสภาก็จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคส้ม
1. เป้าหมายจริงๆ คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วให้มี ส.ส.ร.มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
แต่ใช้กลวิธีว่า ขอแก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
โดยเจตนาที่แสดงออกก่อนนี้ ก็ชัดเจนว่า มุ่งที่เรื่องผลประโยชน์ของนักการเมืองเป็นสำคัญ
ประชาชนไม่มีใครจะเป็นจะตายถ้าใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันต่อไป
พวกที่กระเหี้ยนกระหือรือ ก็เห็นมีแต่นักการเมืองที่มีชนักติดหลัง หรือต้องการถูกตรวจสอบน้อยลง หรือต้องการปลดล็อกให้พรรคพวกที่ถูกลงโทษก่อนหน้านี้ให้สามารถกลับมาเล่นการเมืองได้ อยากปล่อยผี เปิดฝาโลง
2. จะอ้างว่า นโยบายรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
กลับไปดูถ้อยแถลงของนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ต่อรัฐสภา ระบุว่า
“รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน”
แต่ที่จะทำนี้ พูดกันตรงๆ คือ มีเจตนาจะให้มี ส.ส.ร. มาเขียนใหม่ทั้งฉบับ
ทำไมไม่ถามประชามติเสียก่อน ก็ไหนบอกว่า โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย
แต่กลับจะใช้วิธีสุมหัวกัน “แก้ เพื่อฉีก”
ใช้ออกแนวใช้เล่ห์เหลี่ยมการเมือง กะเอาพวกมากลากไป แอบแฝงผลประโยชน์การเมืองของพวกตัว
ทั้งๆ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยชี้ชัดว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่ใคร แล้วควรจะต้องถามประชาชนเสียก่อนเป็นเบื้องต้นอย่างไร
3. พรรคร่วมรัฐบาลจะร่วมเสี่ยงไปกับพรรคแดงและพรรคส้ม ว่าอาจล้มล้างการปกครอง จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือฉีกรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีการนอกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือไม่?
จะต้องให้มีความรอบคอบ และสง่างาม ตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาก็ต้องทำประชามติตั้งแต่แรก ก่อนจะมาเริ่มรับหลักการวาระหนึ่ง
หรือจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เพื่อความชัดเจน
4. สว.ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง จะต้องเป็นเสาหลักในการรักษาหลักการที่ถูกต้อง ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
นายชาญวิศว์ บรรจงการ สว. มองว่า “กระบวนการทั้งหมดที่พวกเขาทำ ก็เหมือนกับเป็นเกมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ต้องถามประชาชนก่อน แต่คุณมาเสนอร่างแก้ไขแบบนี้ ก็เหมือนเป็นศรีธนญชัย คือมาใช้วิธีเสนอแก้รายมาตรา อีกทั้งไม่ได้เป็นการทำประโยชน์ให้กับประชาชนอยู่ดีมีสุขขึ้นมาเลย มีแต่ตอบสนองนักการเมืองบางพวกบางฝ่ายเท่านั้นเอง เช่น สุดท้ายจะไปยกเลิกมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แบบนี้ผมไม่เอาด้วย”
5. รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร ให้มุมมองที่น่าสนใจ ระบุว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้เพิ่มเติมแก้ไขหมวด 15 คือหมวดที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ไขหมวด 15 จะต้องจัดให้มีการทำประชามติเสียก่อน”
“..คิดอยู่แล้วว่า ปี 2568 พรรคประชาชนคงจะต้องเร่งเครื่องผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดให้ได้
โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ถูกรับรองโดยกระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย กระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม
เป็นการพูดเอาเองอ้างเอาเองแต่ฝ่ายเดียว
เพราะกฎหมายการออกเสียงประชามติ มีการกำหนดช่วงเวลาที่ห้ามการชี้นำไปในทางใดทางหนึ่ง หากมีการรณรงค์ไม่ให้รับ หรือให้รับ ในช่วงเวลาที่ห้าม ก็ต้องถือว่าผิดกฎหมาย ไม่ว่าฝ่ายไหนทำก็ต้องผิดทั้งสิ้น แล้วจะหาว่าไม่เป็นธรรมได้อย่างไร
ส่วนการไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ก็น่าจะมีเพียงบทเฉพาะกาลเท่านั้น ที่สว.ให้มาจากการสรรหา ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง และให้มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ขณะนี้บทเฉพาะกาลหมดสภาพไปแล้ว จะมีที่จะอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยได้ก็เพียงเรื่องที่ออกแบบไว้ไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้โดยง่าย และไม่เปิดโอกาสให้ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ซึ่งจะว่าตามจริงก็ไม่เห็นว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ควรทำได้ง่ายๆ อยู่แล้ว เพียงแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอาจไม่ถูกใจพรรคก้าวไกล/ประชาชน เท่านั้น
การให้มี ส.ส.ร.โดยให้มาจากการเลือกตั้งหมด ฟังดูดี แต่พรรคประชาชนก็คงจะคัดเลือกคนของตัวเองส่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.และคงมั่นใจว่าจะไดัรับเลือกตั้งจำนวนมากพอที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการได้ หากมีการเลือกตั้งได้จริง ก็คอยดูรายชื่อผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เช่น คุณธนาธร คุณกรรณิการ์ อ.ปิยบุตร หรือกระทั่งคุณพิธาก็แล้วกัน ว่าจะได้เข้ามาเป็นส.ส.ร.หรือไม่ เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ใครจะวิจารณ์อย่างไรก็สามารถอ้างได้ว่า ผู้ร่างทุกคนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นี่คือจุดอันตรายต่อสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหมวด 1 เกี่ยวกับชาติ และหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หรือไม่ หากมีคนของพรรคประชาชนได้รับเลือกเข้าไปมากพอ ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า ต้องมีแน่
วันนี้ เห็นข่าวว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาได้บรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหมวด ๑๕ มาตรา ๒๕๖ ของคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ เข้าสู่วาระการประชุมสภาฯแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยเอาด้วย แต่ที่พรรคเพื่อไทยสนใจมากที่สุดน่าจะเป็นประเด็นจริยธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการปูนบำเหน็จให้คน โดยการแต่งตั้งให้คนคนนั้นเป็นรัฐมนตรี
เสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อทักท้วงที่ออกมาในขณะนี้ คือ เป็นการตัดอำนาจสว.และขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับว่าไปเปิดช่องให้สามารถแกัไขหมวด ๑ หมวด ๒ ได้ และที่สำคัญคือการแก้ไขมาตรา ๒๕๖ (๘) ไปตัดเงื่อนไขที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด ๑ หมวด ๒ จะต้องออกเสียงประชามติเสียก่อนออกไป
เรามาลองดูรัฐธรรมนูญหมวด ๑๕ มาตรา ๒๕๖ กันว่าบัญญัติไว้อย่างไร
หมวด ๑๕
มาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้
มาตรา ๒๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้) ...........
(๒) ...........
(๓) ...........
(๔) ...........
(๕) ............
(๖) ............
(๗) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (๖) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา ๘๑ มาบังคับใช้โดยอนุโลม
(๘) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (๗) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
อ่านมาตรา ๒๕๖ (๘) แล้วจะเห็นว่ามีการระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ หมวด ๒ และหมวด ๑๕ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน ซึ่งหมวด ๑๕ ก็คือหมวดที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักกฎหมายอย่างผมตีความว่า การจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมวด ๑๕ ซึ่งเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะกระทำได้ก็ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน
ถ้าเป็นเช่นนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ ซึ่งอยู่ในหมวด ๑๕ ของคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ซึ่งกำลังจะได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหากไม่มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน
สรุป คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ ต้องเป็นตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหมวด ๑๕ มาตรา ๒๕๕ และมาตรา ๒๕๖ เท่านั้น
และย้ำอีกครั้งว่า ตามมาตรา ๒๕๖(๘) การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด ๑๕ จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน ซึ่งหมายความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด ๑๕ มาตราใดก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้”
4. การจะแก้เพื่อฉีก โดยไม่ทำประชามติเสียก่อน ทั้งๆ ที่ ตัวเองก็มาจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมานั้น
ก็อาจจะถูกประณามว่าเป็นพฤติกรรมเนรคุณต่อรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญ คือ เสียงของ สส.พรรคร่วมจะเอาด้วยหรือไม่? และเสียงของ สว.จะถึงเกณฑ์ตามเงื่อนไข หรือไม่?
การมีพรรคส้มเป็นแนวร่วม ทำให้ปลดล็อกเงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีเสียง สส.ฝ่ายค้านสนับสนุนไปได้แล้ว
แต่ในการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวาระแรก หรือขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียงสนับสนุนของ สว.ไม่น้อยว่า 1 ใน 3 หรือ 67 คนด้วย
สว.สีส้ม สีแดง คงจะสนับสนุนภารกิจรวบรัดแก้เพื่อฉีก แม้เสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญ แต่จะถึง 67 เสียง หรือไม่?
สว.สีน้ำเงิน จะยืนหยัดรักษาหลักการที่ถูกต้อง ว่าจะต้องทำประชามติก่อน ได้แค่ไหน
ประเมินแล้ว โอกาสผ่าน มีไม่มาก
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี